Content by

คนที่ใช่ในอดีต ผู้ว่าฯ ต้องเป็นหรือขายอะไร ?

เลือกตั้งผู้ว่า ฯ 10 ครั้ง กทม. มีผู้ว่าฯ 7 คน ต่างการศึกษา ต่างประสบการณ์ทำงาน ต่างสังกัดการเมือง บางคนเป็นได้สมัยเดียว บางคนได้เป็นสองสมัย

แล้วเลือกตั้งแต่ละครั้ง คนที่ได้รับเลือก ทำไมจึงถูกเลือก ? อะไรคือปัจจัยเกี่ยวข้องทำให้คน ๆ นั้นกลายเป็น “คนที่ใช่ (ในอดีต)” ของชาว กทม.

ย้อนอดีตการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้งที่ผ่านมา มีผู้สมัครเพียง 2 คนเท่านั้น ที่ลงสมัครผู้ว่าฯ แบบไม่สังกัดพรรคการเมือง แล้วได้รับเลือกตั้ง นั่นคือ จำลอง ศรีเมือง (สมัยที่ 1) ซึ่งลงสมัครในนาม “กลุ่มรวมพลัง” (ภายหลังพัฒนาเป็น “พรรคพลังธรรม”) และพิจิตต รัตตกุล ซึ่งลงสมัครในนาม “กลุ่มมดงาน” (มีพรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุน) สะท้อนให้เห็นระดับหนึ่งว่า “การเมือง” มีความข้องเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่า ฯ ไม่ว่าจะในทางตรง (ผู้สมัครเลือกลงสมัครแบบสังกัดพรรค) หรือในทางอ้อม (ผู้สมัครเลือกลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค แต่นำไปสู่การเชื่อมโยงทางการเมืองบางประการ)

พรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากที่สุด คือ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งชนะการเลือกตั้งได้ถึง 5 ครั้ง มีผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคตนเองถึง 3 คน โดย 2 คนล่าสุด ครองตำแหน่ง 2 สมัยซ้อนทั้งคู่

ขอบคุณข้อมูลผลการเลือกตั้งจาก The Standard

เมื่อลองมองต่อไป จะเห็นถึงปัจจัยร่วมกันบางอย่างของคุณสมบัติพื้นฐานในการได้รับเลือกเป็น “คนที่ใช่” ของชาว กทม. นั่นคือ “เป็นเพศชาย + มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป + มักต้องเคยมีประสบการณ์ในงานทางด้านเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน”

บรรดาผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีเพียง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” คนเดียวเท่านั้น ที่ก่อนเป็นผู้ว่าฯ สมัยแรก ไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญ หรือประสบการรณ์ทำงานสายการเมืองอย่างชัดเจนมาก่อน

ซึ่งโดยปกติ ปัจจัย (ไม่รวมเรื่องนโยบาย) ที่จะทำให้เหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าฯ สามารถกลายเป็น “คนที่ใช่” ของชาว กทม. ได้ ก็มีโดยหลัก 2 เรื่อง ได้แก่ “ตัวบุคคล และพรรคการเมือง” ซึ่งการที่ผู้สมัครบางคนมีหรือสร้างคาแรคเตอร์เฉพาะตัว เช่น ความสมถะ ความซื่อสัตย์สุตริต ความมีประสบการณ์ทำงาน ก็สามารถส่งผลให้ชาว กทม. ประทับใจได้ หรือการที่ผู้สมัครบางคนมีปัจจัยเรื่องพรรคการเมืองซึ่งสามารถชูจุดขายของพรรค เพื่อช่วงชิงความนิยมมาได้ช่วงเวลานั้น ก็สามารถส่งผลให้คนเลือกผู้สมัครเพราะสังกัดพรรคการเมืองได้เช่นกัน

ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด พรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้น โดยชัยชนะของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คน มาจากการชนะคู่แข่งจากการเมืองขั้วตรงข้าม อันได้แก่ พรรคและกลุ่มการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร

สโลแกนหรือนโยบายของผู้สมัคร คืออีกหนึ่งปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือก “คนที่ใช่” ของชาว กทม. เช่นเดียวกัน โดย “พิจิตต รัตตกุล” ถือเป็นผู้ว่าฯ คนแรกจากการเลือกตั้ง ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนโยบายซึ่งสร้างความประทับใจต่อชาว กทม. จนทำให้ตนเองได้รับเลือกในที่สุด

นโยบายแก้ปัญหา “การจราจร” “สิ่งแวดล้อม” และ “การศึกษา” คือ 3 เรื่องหลักที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า ฯ กทม. ทุกครั้ง แต่ท้ายที่สุด ปัญหา 3 เรื่องนี้ ก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

จากการรวบรวมนโยบายเด่นที่ผู้สมัครแต่ละคนใช้ในการหาเสียงแต่ละครั้ง สามารถเก็บข้อมูลได้ดังนี้

พิจิตต รัตตกุล : เสนอนโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ ได้แก่

1) ผลักดันรถไฟฟ้าใต้ดิน

2) ทำรถรางเลียบคลอง

3) ขยะเก็บให้หมด เผาให้เกลี้ยง

4) ปลูกต้นไม้ให้ กทม. เขียวขจี

5) โพลีคลินิค ทั่ว กทม.

6) ไฟแสงจันทร์ทั่วทุกซอย

7) ตั้งศูนย์อาสาประชากู้ภัย บริหาร 24 ชม.

8) สภาประชาคมของชุมชน

9) ปรับระบบการบริหาร โดยกระจายอำนาจ

สมัคร สุนทรเวช : เสนอนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ได้แก่

1) ดูแลปรับปรุงถนนหนทาง

2) รณรงค์ให้คนเฉลี่ยใช้ถนน และให้ใช้ทางด่วนมากขึ้น

3) เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เป็นที่พักผ่อน

4) แก้ปัญหาอากาศเป็นพิษ ติดเครื่องฟอกอากาศท่อไอเสียรถยนต์

5) แก้ปัญหาขยะตกค้าง เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บขยะ

6) พัฒนาระบบการศึกษาของ กทม.

7) พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนแออัด

8) สร้างสนามกีฬา ที่ออกกำลังกาย

9) ดูแลสวัสดิการข้าราชการ และลูกจ้าง

10) บำบัด และรักษาผู้ติดยาเสพติด

อภิรักษ์ โกษะโยธิน (สมัยที่ 1) : เสนอนโยบายเด่น 18 ข้อ ได้แก่

1) จัดระบบขนส่งสำหรับนักเรียนใน กทม.

2) พัฒนาคุณภาพการบริการรถ ขสมก. รถตู้ เรือ และระบบขนส่งมวลชนแนวใหม่ให้เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน

3) ติดตั้งระบบป้ายบอกทางอัจฉริยะตามทางลอด สะพานข้าม เพื่อแก้ปัญหารถติด

4) เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาที่รกร้างว่างเปล่า ปลูกต้นไม้ และสร้างเป็นสวนสาธารณะ

5) พัฒนาระบบคัดแยกขยะ และการนำกลับมาใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

6) เข้มงวดตรวจสอบ และลงโทษเจ้าของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน

7) ฟื้นฟูความสะอาดของแม่น้ำคูคลอง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมภายใน 24 ชั่วโมง

8) พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์

9) ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของ กทม.

10) จัดตั้งศูนย์เยาวชนกีฬา กทม.

11) ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างทั่วทั้งถนน ตรอก ซอย และเส้นทางเดิน

12) ปรับบทบาทของเจ้าหน้าที่เทศกิจ และอาสาสมัครใหม่ ดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง

13) จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และให้คำปรึกษาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 24 ชั่วโมง

14) ความร่วมมือระหว่าง กทม. และเอกชน ส่งเสริมการฝึกอาชีพพัฒนาเถ้าแก่รุ่นใหม่

15) พัฒนาหาบเร่แผงลอยให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชน และพัฒนาตลาดนัดใน กทม.ให้ครอบคลุม

16) ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจใหม่ของกรุงเทพฯ

17) พัฒนาขีดความสามารถในด้านการแข่งขันของกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ด้านศิลปะวัฒนธรรม การลงทุน

18) จัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อภิรักษ์ โกษะโยธิน (สมัยที่ 2) : เสนอนโยบายเด่น 22 ข้อ ได้แก่

1) วางแผนพัฒนาและวางผังการใช้ที่ดิน เปิดเส้นทางนำร่อง BRT

2) ปรับปรุงพื้นผิวจราจรบนถนน ซ่อมและสร้างสะพานข้ามคลอง

3) ขยายระบบขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทาง ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางจักรยาน และทางเดินเท้า

4) ฟื้นฟูสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา และคลอง

5) รณรงค์ลดภาวะโลกร้อน

6) ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยการนำสายไฟลงใต้ดิน

7) ศูนย์เยาวชน

8) โรงเรียนสองภาษานำร่อง

9) หน่วยพยาบาล กทม. เคลื่อนที่

10) เครือข่ายดูแลสุขภาพร่วมกับภาครัฐ

11) ศูนย์บริการสาธารณสุขได้มาตรฐาน

12) ศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นหน่วยแรกรับ

13) โรงพยาบาลเป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง

14) หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน

15) ส่งเสริมให้มีชมรมผู้สูงอาย

16) สมุดคู่มือสุขภาพสำหรับผู้สูงอาย

17) ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

18) เบี้ยยังชีพผู้สูงอาย

19) สถาบันพัฒนาการอาชีพ

20) ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัว

21) สร้างเสน่ห์ให้กรุงเทพฯ

22) ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน Bangkok One

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (สมัยที่ 1) : เสนอนโยบายเด่น 28 ข้อ ได้แก่

1) โครงข่ายรถไฟฟ้า BTS ครอบคลุม

2) เชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำ ทางจักรยาน รวมถึง shuttle bus

3) เร่งเปิดเส้นทาง BRT

4) ฟุตบาทเรียบ ถนนสวย

5) อาสาสมัครจราจรอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

6) ถังขยะพอเพียงในทุกพื้นที่

7) ธนาคาร Recycle แปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

8) ลดมลพิษด้วยระบบการเดินทางขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงทั่วถึงทุกพื้นที่

9) ระบบระบายน้ำที่ใช้การได้ทั่วถึง

10) ฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา

11) ส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

12) เด็ก กทม. เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ

13) เสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

14) จัดตั้งหอศิลป์ บ้านหนังสือ ห้องสมุด และโรงเรียนดนตรี

15) เล่นเน็ตได้ทุกพื้นที่จาก Wi-Fi สู่ WiMAX

16) เพิ่มพื้นที่ให้เยาวชนสนุกอย่างสร้างสรรค์

17) ลานกีฬาใกล้บ้าน และศูนย์กีฬาครบวงจร

18) บริการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีทุกครัวเรือน

19) พัฒนาศูนย์สาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานการรักษาโรงพยาบาลสังกัด กทม. ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง

20) หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน

21) ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์คนเมือง

22) กองทุนเบี้ยยังชีพ และเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

23) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ

24) ติดตั้งไฟฟ้าสว่างเพิ่ม และติดตั้งกล้องวงจรปิด

25) เครือข่ายดูแลความปลอดภัย ด้วยวินมอเตอร์ไซค์ และ รปภ.เอกชน

26) ขยายความสัมพันธ์กับมหานครทั่วโลก เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว

27) ตลาดนัดอาชีพ เพิ่มพื้นที่ตลาดสินค้า home made และ hand made

28) พัฒนาย่านการค้าและย่านธุรกิจ

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (สมัยที่ 2) : เสนอนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ได้แก่

1) ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS และ BRT

2) เพิ่มบริการเก็บขยะไม่ให้ตกค้างในชุมชน

3) ฟรี Hi-Speed Wi-Fi 4 MB 5,000 จุด

4) อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กเล็ก ปรับตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือน

5) ติดตั้งกล้องCCTV และไฟส่องสว่างเพิ่ม

6) จัดตั้งอาสาสมัครชุมชน เพื่อเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด

7) โรงรับจำนำกทม. ดอกเบี้ย 1 สลึง 5,000 บาทแรก

8) เพิ่มทักษะอาชีพ พร้อมสอนภาษาอังกฤษ จีน มาลายู

9) เพิ่มจุดบริการ งานทะเบียนราษฎรในห้างสรรพสินค้า

10) เพิ่มแท็กซี่เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ

ท้ายที่สุดแล้ว ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งต่อไป คุณสมบัติพื้นฐานบางอย่าง คาแรคเตอร์ สังกัดพรรคการเมือง รวมถึงสโลแกนและนโยบายของผู้สมัครทุกคน สามารถมีผลต่อการเป็น “คนที่ใช่” ของชาว กทม. ได้ทั้งสิ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก