Content by

ชาว กทม. เลือก “คนที่ใช่” กันอย่างไร?

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547 , 2551 , 2552 และ 2556 คือ 4 ครั้งล่าสุดที่ชาว กทม. ออกมาใช้สิทธิเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นผู้ว่าฯ “คนที่ใช่” ของตนเอง

แล้วสถิติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งล่าสุด สะท้อนอะไรให้เห็นบ้าง ?

เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 4 ครั้งล่าสุด เรื่องที่มักจะถูกพูดถึงกันเป็นส่วนมาก คือผลการเลือกตั้งซึ่งผู้สมัครจาก “พรรคประชาธิปัตย์” อันได้แก่ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” และ “หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร” เป็นผู้ได้รับชัยชนะไปคนละ 2 สมัย แต่แท้จริงแล้ว ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งล่าสุดนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ทั้งที่มาจากตัวสถิติชุดนี้เอง หรือเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลชุดอื่น ๆ

  • ความตื่นตัวชาว กทม. ที่ใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ ให้ตนเอง : จากข้อมูลพบว่า พ.ศ. 2552 คือการเลือกตั้งครั้งที่คน กทม. ออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กันน้อยที่สุด ขณะที่พ.ศ. 2556 คือการเลือกตั้งครั้งที่คน กทม. ออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กันมากที่สุด และเมื่อพิจารณาลงไปเป็นรายเขต พบว่า “เขตทวีวัฒนา” และ “เขตสะพานสูง” คือเขตที่มีปริมาณคนออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ มากที่สุด ติด Top 5 ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกครั้ง ขณะที่ “เขตคลองเตย” , “เขตดุสิต” และ “เขตราชเทวี” คือเขตที่มีปริมาณคนออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ น้อยที่สุด ติด Bottom 5 ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกครั้ง

กระแส “ความรู้สึกต่อการเมือง” และ “อคติต่อกลุ่มการเมือง” ในช่วงเวลานั้น ๆ สามารถส่งผลให้ปริมาณชาว กทม. ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงได้

  • ชัยชนะของผู้ว่าฯ ประจำพื้นที่แต่ละเขตใน กทม. : จากข้อมูลพบว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งล่าสุด ผู้สมัครจาก “พรรคประชาธิปัตย์” ล้วนได้ผลคะแนนเสียงรวมทั้งพื้นที่ กทม. เป็นอันดับที่หนึ่งมาตลอด และเมื่อพิจารณาลงไปในพื้นที่รายเขต พบว่ามีถึง “40 เขต” จากจำนวนทั้งหมด 50 เขต ที่ผู้สมัครจากพรรคนี้สามารถถือครองชัยชนะอันดับที่หนึ่งในเขตนั้น ๆ มาได้ 4 สมัยติดต่อกัน โดยมีเพียง 10 เขตเท่านั้น ที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ผลัดกันแพ้-ชนะ กับคู่แข่งคนสำคัญที่ได้ผลคะแนนเสียงรวมทั้งพื้นที่ กทม. เป็นอันดับที่สอง ซึ่งเป็นผู้สมัครที่มาจากหรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคและกลุ่มการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร

“กรุงเทพฯ ตอนบน” คือพื้นที่หนึ่งเดียวใน กทม. ที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถถือครองชัยชนะอันดับที่หนึ่ง 4 สมัยติด ในเขตต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นได้แม้แต่เขตเดียว

  • ผู้ว่าฯ & ส.ก. ที่ใช่ ในแต่ละเขตของ กทม. : ปกติแล้วสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีหน้าที่หลักในการควบคุม และตรวจสอบการบริหารราชการกรุงเทพมหานครของฝ่ายบริหาร อันมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าคณะฯ แต่เมื่อนำผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งล่าสุด ที่เป็นรายเขต ไปเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ก. แต่ละเขตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พบว่าหลายครั้งชาว กทม. แต่ละเขต มักเลือกผู้ว่าฯ และ ส.ก. ที่อยู่ในพรรคหรือสายการเมืองกลุ่มเดียวกันเป็นส่วนมาก โดยมีถึง “42 เขต” จากจำนวนทั้งหมด 50 เขต ที่พบความเชื่อมโยงลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า เมื่อเป็นตัวแทนที่มาจากกลุ่มเดียวกัน การควบคุม และตรวจสอบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาว กทม. จะสามารถทำได้เต็มที่หรือไม่ ?

“พรรคประชาธิปัตย์” ประสบความสำเร็จในการส่งคนของตนเองขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ และ ส.ก. แต่ละพื้นที่ในช่วงเวลาเดียวกันได้มากที่สุด สะท้อนถึงความนิยมที่เหนียวแน่นในพื้นที่ กทม. ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 อย่างชัดเจน

  • ผู้ว่าฯ & ส.ส. ที่ใช่ ในแต่ละเขตของ กทม. : เมื่อนำผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 ครั้งล่าสุด ที่เป็นรายเขต ไปเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละเขตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พบว่าชาว กทม. ค่อนข้างตัดสินใจเลือกผู้แทนในรัฐสภา และผู้ว่า ฯ ของตนเองที่มาจากพรรคหรือสายการเมืองกลุ่มเดียวกัน โดยมีถึง “46 เขต” จากจำนวนทั้งหมด 50 เขต ที่พบความเชื่อมโยงลักษณะดังกล่าว

“ย่าน CBD” คือพื้นที่ใน กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถครองความนิยมทั้งการเมืองระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ ได้เป็นอย่างมากในช่วงเวลาก่อนการเกิดรัฐประหาร 2557

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังใกล้จะมาถึง ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สถิติที่น่าสนใจ หรือข้อมูลที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะเกิดขึ้นมาในประเด็นใดบ้าง ?

อ้างอิงข้อมูลจาก