Content by

“24 มิถุนา” จำได้มั้ย เคยถูกใช้เป็นวันชาติ?!

สำรวจวันชาติประเทศราชาธิปไตย วันชาติไทยเปลี่ยนไปตามขนบจริงหรือไม่?

รู้มั้ยว่า.. วันชาติไทยถูก ‘เปลี่ยน’ เพราะเหตุผลที่ว่า “เราต้องเปลี่ยนตามประเทศอื่น เพราะเป็นขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 🤴🏻

Timeline สรุปการเปลี่ยนแปลงวันชาติ

วันที่ 24 มิถุนายนปีนี้ นอกจากจะเป็นวันครบรอบ 91 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยหรือสยามเดิม จากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่นำโดยกลุ่มคณะราษฎร วันนี้ก็ยังเคยถูกเฉลิมฉลองเป็นวันชาติไทยอีกด้วย! ก่อนที่วันชาติไทยจะถูกเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตามความเห็นที่ว่า

เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป
โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย” 

แล้วมันจริงมั้ยนะที่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเขาใช้วันชาติเป็นวันพระราชสมภพกัน​? 🤔

24 มิถุนายน 2482 ปฐมฤกษ์วันชาติไทย 

ถ้าปีนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ยังเป็นวันชาติอยู่ เราจะได้เฉลิมฉลองวันชาติไทยครบ “84 ปี”

หลังจากประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว 6 ปี รัฐบาลพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2481
ระบุถึงเรื่องวันชาติว่า 

“ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ว่า การปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือน ดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น”

ทำให้วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม (ตำแหน่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น) ประเทศของเราได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยเป็นครั้งแรก! และยังได้เป็นวันสำคัญในการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญไปกว่านั้น ประเทศได้ถูกเปลี่ยนชื่อ ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’ จนถึงปัจจุบัน ตามกระบวนการการสร้างชาตินิยม จากประกาศรัฐนิยมในรัฐบาลสมัยหลวงพิบูลสงคราม 

3 ปีแห่งความรื่นเริงในการเฉลิมฉลองวันชาติ

3 ปีแรกของการเฉลิมฉลองวันชาติไทย พ.ศ. 2482 – 2484 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการดื่มด่ำความสุขในการเฉลิมฉลองวันชาติ  บรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในพระนครเป็นไปอย่างคึกครื้นและสนุกสนาน มีทั้งการเดินสวนสนาม จุดพลุ และมหรสพต่าง ๆ มากมาย และยังได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2483 

แต่แล้วช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองก็ได้ผ่านพ้นไป ปัจจัยภายนอกอย่างสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเฉลิมฉลองวันชาติ การจัดงานไม่คึกครื้นเหมือนเช่นเคย ซ้ำยังดูจะซบเซามากลงไปกว่าเดิม จนเวลาได้ผ่านพ้นไปจนสิ้นสุดสงครามในปี พ.ศ. 2488 การเฉลิมฉลองวันชาติไทยในปีถัด ๆ มาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

วันชาติไทยที่ถูกเปลี่ยน

ความเลือนลางของความเป็นชาติโดยคณะราษฎร ที่ถูกพยายามทำให้ลืม

คนไทยได้รู้จักวันที่ 24 มิถุนายน ในนามของวันชาติมานานถึง 21 ปี จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ท้ายที่สุดคณะรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ​์ได้มีความเห็นว่า การกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน “มีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ” และให้ถือเอา “วันพระราชสมภพ” (5 ธันวาคม) เป็นวันชาติไทยแทน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.​ 2503 และยังได้ยกเลิกวันหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน

เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย” 

เหตุผลที่ถูกระบุไว้เป็นหลักฐานทางราชการมีเพียงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่ามีเหตุผลอื่นใดซ่อนอยู่ใน
“ข้อไม่เหมาะสมหลายประการ” ตามความเห็นของคณะรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์

เปลี่ยนวันชาติไทยตามประเพณีจริงหรอ?

ชวนสำรวจวันชาติอื่น ๆ ของประเทศราชาธิปไตย ประเทศไหนใช้วันอะไรบ้าง!

ชาติแต่ละชาติ ล้วนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป การมีวันชาติถือเป็นเครื่องมือในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันของคนในชาติ ให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถือเป็นการระลึกถึงประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติ ที่ผ่านเหตุการณ์การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันชาติที่ถูกกำหนดในแต่ละประเทศก็มีเหตุผลที่หลากหลาย บ้างก็เป็นวันพระราชสมภพของกษัตริย์ บ้างก็เป็นวันประกาศอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม หรือเหตุผลอื่น ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และวันชาติยังเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนได้ว่าชาตินั้นให้ความสำคัญกับอะไร 

แล้วจริงหรือไม่ที่ ‘ขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ จะต้องใช้วันพระราชสมภพของพระกษัตริย์เป็นวันชาติ หรือจริง ๆ แล้วมีปัจจัยหรือเหตุผลไหน ที่จะสามารถถูกยึดถือเป็นความสำคัญที่จะนำมาระลึกถึงเป็นวันชาติกันได้บ้างนะ? 🤔 

สำรวจวันชาติประเทศราชาธิปไตย
ประเทศไหน กำหนดวันชาติจากอะไรบ้าง 🌏

วันชาติประเทศเหล่านี้สัมพันธ์กับระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจริงมั้ย?

ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยในปัจจุบัน และในอดีต (ช่วงก่อนรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ประกาศเปลี่ยนวันชาติ)

จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า 43 ประเทศที่ปัจจุบัน และ 8 ประเทศในอดีต มีการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น สามารถแบ่งการใช้วันชาติได้ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1) วันที่ยึดโยงกับสถาบัน (ในฐานะประมุขของรัฐ) เช่น ไทย เนเธอร์แลนด์ 
2) วันประกาศเอกราช/วันปลดแอก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย 
3) วันปฏิวัติ/ตั้งชาติใหม่/รวมชาติ เช่น ซาอุดิอาระเบีย
4) เหตุผลอื่น ๆ เช่น สเปน ใช้วันชาติเป็นวันที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา
5) ไม่มีวันชาติอย่างเป็นทางการ ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก (ที่ยกวันเฉลิมฉลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญให้เทียบเท่าวันชาติแทน)
รวมถึงประเทศที่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันชาติในขณะนั้น

หากนำมาประกอบกับเหตุผลของจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้น ก็ฟังดูมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย แต่หากจะบอกว่าคำพูดที่ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนเพราะ ‘ขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ก็อาจจะไม่ถูกไปซะทีเดียว ประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตยในขณะนั้นและได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เคยใช้วันชาติที่ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์เลย เช่น อัฟกานิสถาน ลิเบีย กรีซ หรือแม้กระทั่งประเทศการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันอย่างสเปน ใช้วันชาติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยเช่นเดียวกัน

ซึ่งในประเทศไทยก็ถูกใช้มาแล้วทั้ง 2 วัน ทั้งวันที่ยึดโยงกับสถาบัน (5 ธันวาคม) และวันที่มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างวันปฏิวัติสยาม (24 มิถุนายน) การที่เราจะบอกว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะขนบประเพณีนี้จึงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นมากสักเท่าไหร่นัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยนั้น ความสัมพันธ์ของประมุขและรัฐ ถือว่ามีความเข้มแข็งอยู่ไม่น้อย แต่อยู่ที่ว่าประเทศเหล่านี้จะให้ ‘ความสำคัญ’ กับสิ่งใดมากกว่ากัน

แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเป็นข้อสังเกตได้ในเหตุผลของการเปลี่ยนวันชาติของไทยนั้น หลาย ๆ การศึกษาได้บอกว่า อาจเป็นเพราะการที่จอมพลสลฤษดิ์ได้พยายามเพิ่มความชอบธรรมในการรัฐประหารให้กับตนเอง และพยายามเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันในขณะนั้น จึงทำให้หลักฐานการต่อสู้ของคณะราษฎร ค่อย ๆ ถูกลบล้างไป เหลือไว้เพียงแค่ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึก…

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.the101.world/thai-national-day-24th-june/
https://prachatai.com/journal/2021/12/96249
https://www.brandthink.me/content/thailand-4
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000116002
https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2013/02/26/a-surprising-map-of-the-worlds-national-holidays-only-two-countries-have-no-national-day/
https://timesofindia.indiatimes.com/india/Learning-with-the-Times-7-nations-still-under-absolute-monarchy/articleshow/3692953.cms?from=mdr&from=mdr
ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 สิงหาคม 2481
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/1322.PDF