Content by

“กรุงเทพธนาคม” ปัญหาทับถมของ กทม. ?

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใกล้เข้ามาทุกขณะ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ นอกจากจะต้องเตรียมทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาว กทม. ต้องไม่ลืมแก้ไขปัญหาทับถมยาวนานหลายเรื่องด้วย

ซึ่ง “กรุงเทพธนาคม” อาจเป็นหนึ่งในปัญหานั้น ที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถมองข้ามได้

“กรุงเทพธนาคม” คืออะไร ? ชื่อนี้เกี่ยวข้องกับ กทม. อย่างไร ?

“บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” คือ “วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร” เริ่มต้นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า “บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด” มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ภายหลังได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท และเทศบาลนครกรุงเทพเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เมื่อมีการก่อตั้งกรุงเทพมหานครก็ได้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นจากเทศบาลนครกรุงเทพมาเป็นของกรุงเทพมหานคร จนสุดท้ายได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการและการจัดการงานสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

“กรุงเทพธนาคม” มีความเกี่ยวข้องกับ “กรุงเทพมหานคร” หลายเรื่อง ทั้งแหล่งเงินทุนที่มาจากรายได้ซึ่ง กทม. ว่าจ้างให้ทำโครงการ ที่มีกว่า 20 โครงการ ด้วยวงเงินรวมกว่า 14,000 ล้านบาท (อ่านต่อได้ที่ https://www.isranews.org/content-page/item/6656–23-14-.html) รวมถึงมาจากเงินอุดหนุนจาก กทม. เมื่อผู้ว่าฯ กทม. เห็นสมควร โดยความเห็นชอบของสภา กทม. การถือหุ้นของกทม. ในกรุงเทพธนาคม ถึงจำนวน 49,994,000 บาท คิดเป็น 99.98 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รวมถึงที่มาของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ กทม.

“กรุงเทพธนาคม” ทำโครงการให้ กทม. หลายอย่าง ตามมาด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง

โครงการที่กรุงเทพธนาคมจัดทำตามการว่าจ้าง และมอบหมายของ กทม. มีจำนวนหลายโครงการ ซึ่งหลาย ๆ โครงการตามมาด้วยปัญหาทั้งในเชิงประเด็นความไม่มีประสิทธิภาพ และความไม่โปร่งใส อย่างเช่น การให้สัมปทานรถไฟฟ้าแก่ BTS เจ้าเดียวยาวนานถึง 30 ปี (อ่านต่อได้ที่ https://themomentum.co/bts-skytrain-concession/) การติดหนี้ BTS เป็นจำนวนเงินกว่า 30,000 ล้านบาท (อ่านต่อได้ที่ https://workpointtoday.com/bts-sky-train-bangkok/) รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ที่ไม่มีคนใช้ (อ่านต่อได้ที่ https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3099644) จักรยานสาธาณะ ที่ไม่มีคนปั่น (อ่านต่อได้ที่ https://marketeeronline.co/archives/20071) เตาเผาขยะที่ส่งกลิ่นเหม็น + เอื้อประโยชน์เอกชน (อ่านต่อได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/politics/991019 , https://www.isranews.org/isranews-news/59386-isranews-59386.html) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่างอาจมีส่วนมาจากประเด็นน่าสังเกตที่เกี่ยวกับกรุงเทพธนาคม อันได้แก่

การจัดทำโครงการของกรุงเทพธนาคม

กรุงเทพธนาคมไม่ได้จัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง แต่ไปจ้างเอกชนดำเนินการแทน ทำให้การทำงานกลายเป็นนายหน้า (Broker) และในหลายครั้งการคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาดำเนินงานสะท้อนการเอื้อประโยชน์ และการสร้างการผูกขาดผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงมีการจดทะเบียนในหนังสือบริคณห์สนธิระบุวัตถุประสงค์บริษัท 50 ข้อ ซึ่งหลายข้อมีขอบเขตเกินกว่ากิจการเรื่องสาธารณูปโภค (บริการสาธารณะ) ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ก่อให้เกิดคำถามเรื่องความจำเป็นในการมีอยู่ของกรุงเทพธนาคม และภารกิจต่าง ๆ ที่ถูกจัดทำขึ้น

ผลประโยชน์ภายในกรุงเทพธนาคม

กรุงเทพธนาคมจ่ายเงินปันผลมากมายแก่เอกชนผู้ถือหุ้น 6 ราย ซึ่งเมื่อเงินทุนของบริษัทสามารถมาจากเงินอุดหนุนของกรุงเทพมหานครได้ โดยการอนุมัติของผู้ว่าฯ กทม. ผ่านการเห็นชอบของสภา กทม. อาจถูกมองว่าเป็นการนำภาษีประชาชนให้ผลประโยชน์กับเอกชนได้หรือไม่ ?

ที่มาคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม

อำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตาม ข้อ 9 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องบริษัทที่กรุงเทพมหานครก่อตั้ง จัดตั้ง หรือถือหุ้น พ.ศ. 2552 ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ กทม. ก็มักจะเห็นข่าวการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการ และ/หรือ คณะกรรมการของกรุงเทพธนาคมอยู่หลายครั้ง (อ่านต่อได้ที่ https://www.ryt9.com/s/prg/159595 (สมัยอภิรักษ์) , https://www.ryt9.com/s/iq02/1656825 (สมัยสุขุมพันธุ์) , https://www.matichon.co.th/local/news_403729 (สมัยอัศวิน) , https://www.naewna.com/local/461839 (สมัยอัศวิน)) สะท้อนถึงกระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารที่ไม่มีความเป็นกลาง และตกอยู่ในความครอบงำของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งผลต่อการกำกับดูแลบริษัท เนื่องจากคณะกรรมการบริษัท ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อให้กำกับดูแลกิจการของบริษัทในทุกส่วนงาน รวมถึงขาดการกำกับดูแลการบริหารของกรุงเทพธนาคมที่เพียงพอและครอบคลุม นอกไปจากการมีเพียงคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการภายในบริษัท ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการบริษัทที่ไม่เป็นอิสระจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของกรุงเทพธนาคม

กรุงเทพธนาคมไม่ใช่ “เอกชนโดยแท้” แต่ถือว่าเป็น “วิสาหกิจมหาชนท้องถิ่น” และเป็น “วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร” ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อจัดทำกิจการสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) แต่กลับไม่มีฐานข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อให้ชาว กทม. สามารถตรวจสอบการดำเนินงานด้านบริการสาธารณะของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์ของบริษัท (https://www.thanakom.co.th/) ยังขาดรายละเอียดหลายประการในเรื่องเหล่านี้

“กรุงเทพธนาคม” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “แดนสนธยา” ของ กทม. อาจถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทับถมอยู่กับชาว กทม. มายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ว่า ฯ กทม. คนใหม่ ไม่ควรละเลย และควรให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิงข้อมูลจาก

รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการดำเนินกิจการของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สภากรุงเทพมหานคร (https://bmc.go.th/wp-content/uploads/2020/06/31_2562.pdf)