Content by

สื่อออนไลน์ให้คุณเห็นอะไร ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนไปเลือกตั้ง

1 เดือนที่ผ่านมา เสพคอนเทนต์เลือกตั้งจนเก็บไปฝันกันแล้วรึยัง
อะ.. เราขอมอบให้ไปละเมอเพิ่มอีกซักคอนเทนต์

โค้งสุดท้ายก่อนชี้ชะตาอนาคตประเทศไทยแบบนี้ สนามแข่งขันของสื่อออนไลน์ช่างดุเดือดไม่แพ้การแข่งขันของแต่ละพรรคการเมืองเลย


WeVis จึงอยากชวนทุกคนไปสำรวจทิ้งท้ายกันอีกซักรอบ ว่าสื่อที่มีผู้ติดตามหลักล้านทั้ง 15 สำนัก นำเสนออะไรให้เราบ้างในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการตัดสินใจ เหมือนหรือแตกต่างมากน้อยแค่ไหนจากช่วงอุ่นเครื่อง ไปดูกันเลย!

ปล. ใครยังไม่เคยดูผลสำรวจในรอบที่แล้ว เชิญได้ที่ https://wevis.info/election-on-social-1

ที่มาข้อมูล : ฐานข้อมูลของ Wisesight ที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะทาง Social Media 6 ช่องทาง คือ Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, Forum และ Tiktok โดยทำการเก็บกวาดข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลในช่วง 1 – 30 เม.ย. 66

ข้อจำกัดของข้อมูล : เนื้อหาที่ใช้ในการวิเคราะห์ พิจารณาจากข้อความที่ปรากฎในชื่อและคำบรรยายของโพสต์เท่านั้น จึงไม่สามารถสะท้อนเนื้อหาได้ทั้งหมด เช่น เนื้อหาที่อยู่ในคลิปวิดีโอ หรือ บทความ

15 สื่อออนไลน์ที่เราสำรวจ

เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอข้อมูลระหว่างช่วงเริ่มฤดูการเลือกตั้ง และช่วงโค้งสุดท้าย เราจึงเลือกสำรวจสื่อชุดเดิมทั้ง 15 บัญชีที่เคยสำรวจไปในรอบที่แล้ว ซึ่งเลือกจากบัญชี Facebook ที่มี จำนวนผู้ติดตาม และ จำนวนโพสต์เกี่ยวกับการเลือกตั้งสูงติด Top 100 จาก 5,407 บัญชีในฐานข้อมูล ได้แก่

  • Khaosod – ข่าวสด: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 868 โพสต์
  • เรื่องเล่าเช้านี้: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 862 โพสต์
  • Thairath – ไทยรัฐออนไลน์: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,198 โพสต์
  • Thai PBS (Thai Public Broadcasting Service หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย): ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,180 โพสต์
  • Ch7HD News: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,262 โพสต์
  • ข่าวช่อง8: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,237 โพสต์
  • PostToday: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 578 โพสต์
  • PPTV HD 36: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,580 โพสต์
  • TODAY: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 423 โพสต์
  • Voice TV: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,064 โพสต์
  • Nation Online: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,575 โพสต์
  • คมชัดลึก: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,014 โพสต์
  • สำนักข่าวไทย: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,398 โพสต์
  • THE STANDARD: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,678 โพสต์
  • Dailynews – เดลินิวส์ออนไลน์: ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 615 โพสต์

“พรรค/แคนดิเดต” ที่ถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์มากที่สุด

เมื่อลองนำโพสต์ทั้งหมดของแต่ละสื่อ มาดูว่ามีชื่อพรรคหรือแคนดิเดตแต่ละคน ปรากฏอยู่มากน้อยแค่ไหน พบว่า

  • โดยเฉลี่ยแล้ว พรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร ชินวัตร/นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นชื่อที่สื่อใหญ่พูดถึงมากที่สุด นั่นคือ 28.8% โดย Voice TV เป็นสื่อที่พูดถึงพรรค/แคนดิเดตคนนี้มากที่สุด
  • รองลงมา คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 28.1% โดย Dailynews พูดถึงพรรค/แคนดิเดตคนนี้มากที่สุด
  • พรรคก้าวไกล/นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 20.9% โดย Today พูดถึงพรรค/แคนดิเดตคนนี้มากที่สุด

ถ้าเปรียบเทียบกับข้อสังเกตในการสำรวจรอบที่แล้ว ซึ่งพบว่า Voice TV พูดถึงพรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา ในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสื่อ ถึง 2 เท่า จะเห็นว่าข้อสังเกตนี้ยังคงเป็นจริงอยู่ เช่นเดียวกับ PostToday ที่พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์/นายจุรินทร์มากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสื่อเกือบ 3 เท่า และยังคงพูดถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์ และพรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน น้อยที่สุดเทียบกับทุกสื่อ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากข้อสังเกตรอบที่แล้วคือ คมชัดลึก ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่นเช่นเดียวกับ PostToday และเคยมีสัดส่วนการพูดถึงพรรค/แคนดิเดตที่โดดเด่นออกมาจากค่าเฉลี่ยในทิศทางคล้ายกัน กลับไม่ได้ปรากฏข้อสังเกตเหล่านั้นในการสำรวจรอบนี้แล้ว

อีกสื่อออนไลน์ที่โดดเด่นขึ้นมาในรอบนี้คือ Dailynews ซึ่งมีสัดส่วนการพูดถึงพรรค/แคนดิเดตมากที่สุดถึง 6 พรรค ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์, พรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร, พรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน, พรรคไทยสร้างไทย/คุณหญิงสุดารัตน์, พรรคชาติพัฒนากล้า/นายกรณ์ และ พรรคเสรีรวมไทย/ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เมื่อลองสำรวจรวจดูเนื้อหาในเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโพสต์เกี่ยวกับผลสำรวจการเลือกตั้งและการดีเบต ซึ่งเป็นโพสต์ประเภทที่มักจะมีชื่อครบทุกพรรค/แคนดิเดตอยู่แล้ว

เมื่อลองเปรียบเทียบภาพรวมค่าเฉลี่ยของทั้ง 15 สื่อที่พูดถึงแต่ละพรรค/แคนดิเดต ใน 2 ช่วงเวลาของการสำรวจ คือ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. และ 1-30 เม.ย. พบความเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา กลายเป็นพรรคที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แทนที่พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์ แต่สัดส่วนของอันดับ 1 และ 2 ห่างกันเพียงหลักทศนิยม ไม่ได้แตกต่างกันเท่ารอบที่แล้ว (เกือบ 2 เท่า)
  • ทุกพรรค/แคนดิเดต ยกเว้น พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์, พรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร และพรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน ล้วนได้รับพื้นที่สื่อมากขึ้น โดยสัดส่วนของพรรคเสรีรวมไทย/พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เพิ่มขึ้นมากที่สุด (2.5เท่า)
  • อีก 2 พรรคที่ลำดับขยับขึ้นมา นอกจากพรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา คือ พรรคก้าวไกล/นายพิธา (จาก 5 เป็น 3) และ พรรคชาติพัฒนากล้า/นายกรณ์ (จาก 9 เป็น 8)

“ประเด็น” ที่ถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์มากที่สุด

เมื่อลองนำโพสต์ของแต่ละสื่อมาดูว่าพูดถึงประเด็นอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผ่านคีย์เวิร์ดที่พบบ่อย สามารถแบ่งประเภทเนื้อหาได้เป็น 8 ประเด็น เรียงลำดับตามสัดส่วนเฉลี่ย ดังนี้

  • นโยบายของพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 36.6% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: นโยบาย, แก้ปัญหา, เศรษฐกิจ, ปากท้อง, ค่าครองชีพ, ค่าแรง, สร้างโอกาส, มีงานทำ, เพิ่มเงิน, ราคาน้ำมัน, ค่าไฟ, โรงไฟฟ้า, ยาเสพติด, กัญชา, 112, ปฏิรูปกองทัพ, เกณฑ์ทหาร, ปฏิรูปตำรวจ, การศึกษา, สาธารณสุข, การแพทย์, เทคโนโลยี, เกษตรกร, สินค้าเกษตร, เหลื่อมล้ำ, รายได้, เท่าเทียม, ปราบโกง, ทุจริต, คุณภาพชีวิต, สิ่งแวดล้อม, pm2.5, ปัญหาฝุ่น, แก้ฝุ่น, หมอกควัน, ฝุ่นควัน, อากาศสะอาด, แก้รัฐธรรมนูญ, ซอฟต์พาวเวอร์, ผู้สูงอายุ, ผู้สูงวัย, คนชรา, พิการ, เปลี่ยนประเทศ, แก้หนี้, สร้างอนาคต, ที่ดินทำกิน, โฉนดที่ดิน, ล้างเผด็จการ, ปลดล็อก, ปิดสวิตช์, ก้าวข้ามความขัดแย้ง, ทางออก, เปิดเสรี, เงินดิจิตัล, กระเป๋าเงิน, แจกเงิน, เติมเงิน, กระจายอำนาจ, ความมั่นคง, ผู้ประกอบการ, พ่อค้าแม่ค้า, ยากจน, กลุ่มเปราะบาง, บัตรสวัสดิการ, คนละครึ่ง, รัฐสวัสดิการ, บัตรคนจน, บัตรประชารัฐ, ทุนผูกขาด, รื้อโครงสร้าง, ฉีดวัคซีน, เรียนฟรี, ก๊าซธรรมชาติ, ค่าโดยสาร, ผ้าอนามัย
  • การลงพื้นที่ของพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 30.2% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ลงพื้นที่, ปราศรัย, หาเสียง, เดินสาย, เวที, นำทัพ, นำทีม, รถแห่, ขอคะแนน, ขอเสียง
  • กกต. ถูกพูดถึงเฉลี่ย 17.1% โดย Ch7HD News พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: กกต., คณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • การวิจารณ์การทำงาน ถูกพูดถึงเฉลี่ย 8.8% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ซักฟอก, จวก, แฉ, เปิดข้อมูล, เปิดหมดเปลือก, เปิดโปง, โจมตี, จี้, ตั้งกระทู้, อภิปราย, ฟอกเงิน, ปม, เสียเวลา, เสียหาย, เรือหลวงสุโขทัย, ทุนจีนสีเทา, ป้ายสถานี, รถไฟฟ้าสายสีส้ม
  • ผลสำรวจการเลือกตั้ง ถูกพูดถึงเฉลี่ย 8.4% โดย Dailynews พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: โพล, ทำนายผล, วิเคราะห์ผล, ผลเลือกตั้ง, ผลการเลือกตั้ง, ผลโหวต, ผลสำรวจ, สำรวจความคิดเห็น
  • การจัดตั้งรัฐบาล ถูกพูดถึงเฉลี่ย 8% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: จับมือ, ไม่จับ, ดีล, ร่วมรัฐบาล, แบ่งขั้ว, จับขั้ว, เลือกข้าง, รวมกับ, ตั้งรัฐบาล, กินข้าว, ต่อรองตำแหน่ง, พันธมิตร, ฝ่ายประชาธิปไตย, ขั้วรัฐบาล, ขั้วการเมือง
  • การดีเบต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 6.1% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ดีเบต, debate, ประชันวิสัยทัศน์, ร่วมประชัน
  • การเปิดตัวสมาชิกพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 4% โดย ThaiPBS พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
    คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: เปิดตัว, เผยโฉมหน้า, ว่าที่ผู้สมัคร, เสนอชื่อ, ลงสมัคร, ลงปาร์ตี้ลิสต์
  • ส่วนหมวดหมู่อื่นๆ คือโพสต์ที่ไม่ปรากฏคีย์เวิร์ดที่ระบบตั้งไว้สำหรับการวิเคราะห์

หมายเหตุ : ข้อมูลชุดนี้ใช้กลุ่มคีย์เวิร์ดในการระบุประเภทประเด็นของโพสต์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ อาจมีบางกรณียกเว้นที่ระบบไม่สามารถวิเคราะห์ได้

เมื่อลองเปรียบเทียบภาพรวมค่าเฉลี่ยของทั้ง 15 สื่อที่พูดถึงแต่ละประเด็น ใน 2 ช่วงเวลาของการสำรวจ คือ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. และ 1-30 เม.ย. พบว่า

  • นโยบาย, การลงพื้นที่, กกต. และผลสำรวจการเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ถูกสื่อพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะผลสำรวจการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาที่แล้วถึง 2.5 เท่า
  • ดีเบต เป็นเนื้อหาที่ปรากฏเพิ่มขึ้นมาในรอบนี้ ซึ่งเกิดจากการสื่อเกือบทุกสำนัก ล้วนจัดเวทีดีเบตของตัวเอง ยกเว้น ข่าวสด, เรื่องเล่าเช้านี้ และข่าวช่อง 8 ที่แม้จะไม่ได้จัดเองโดยตรง แต่ก็มีการพูดถึงเวทีของสำนักข่าวอื่นๆ อยู่บ้าง
  • การจัดตั้งรัฐบาล ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกสื่อพูดถึงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยสัดส่วนใน 2 ช่วงเวลามีจำนวนที่ใกล้เคียงกันมาก คือ 8.2% และ 8%

แต่ละ “ประเด็น” เกี่ยวข้องกับแต่ละ “พรรค/แคนดิเดต” แค่ไหน

เมื่อลองสำรวจลึกลงไปในรายประเด็น ว่าแต่ละพรรคถูกพูดถึงในแต่ละประเด็นในสัดส่วนที่แตกต่างจากภาพรวมหรือไม่ พบว่า ลำดับส่วนใหญ่ไม่แตกต่างมากนัก โดยพรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา ยังคงถูกพูดถึงมากที่สุดในเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ที่ครองพื้นที่ไปเกือบครึ่งหนึ่งของโพสต์ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของพรรค ตกลงไปถึง 3 ลำดับในประเด็นการดีเบต โดยส่วนหนึ่งของโพสต์ในประเด็นนี้ที่เกี่ยวข้องกับพรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตรนั้น เป็นการพูดถึงปมการไม่ส่งแคนดิเดตนายกลงสนามดีเบตด้วยตนเอง ส่วนพรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน และพรรคประชาธิปัติย์/นายจุรินทร์ นั้น ไม่ได้พื้นที่สื่อมากเป็นพิเศษจากประเด็นไหนเลย

เมื่อพิจารณาแยกในรายพรรค/แคนดิเดต ว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นอะไรมากที่สุด สามารถสรุปได้ว่า

  • พรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เฉลี่ย 49.5%
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล.อ. ประยุทธ์ เกี่ยวข้องกับการดีเบตมากที่สุด เฉลี่ยจากทุกสื่อ 41.9%
  • พรรคก้าวไกล/นายพิธา เกี่ยวข้องกับการดีเบตมากที่สุด เฉลี่ย 48.6%
  • พรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร เกี่ยวข้องกับการดีเบตมากที่สุด เฉลี่ย 42.6%
  • พรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เฉลี่ย 18.7%
  • พรรคประชาธิปัติย์/จุรินทร์ เกี่ยวข้องกับการดีเบตมากที่สุด เฉลี่ย 20.9%

หากมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลการเลือกตั้งของแต่ละสื่อในช่วงโค้งสุดท้าย สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดไปสำรวจต่อเองได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1TaITruEhLERlRgRzcFR6iY6jfRvGg1fi