Content by

ย้อนดูผลเลือกตั้ง’62 จังหวัดไหนรักประชาธิปไตยมากที่สุด

“Democracies perform better when more people vote.” (Adam Bonica และ Michael McFaul)

เพราะการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (Voting Turnout) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเมืองก็มากขึ้นเท่านั้น

WeVis ขออาสาพาทุกคนไปรำลึกเรื่องราวในการเลือกตั้ง’62 โดยย้อนดูประเด็นที่น่าสนใจจากผลการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ภูมิภาค รวมไปถึงเขตเลือกตั้งต่าง ๆ  จังหวัดไหนที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ให้ตะโกนชื่อจังหวัดนั้นดัง ๆ เหมือนจริต Miss Grand แต่ถ้าจังหวัดที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ชาว WeVis ก็อยากเชิญชวนประชาชนในจังหวัดนั้น ให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากขึ้นในการเลือกตั้ง’66 ที่จะถึงนี้ 

ย้อนไปในปี 2562 การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 38,341,644 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,214,120 คนทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 74.87 % จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ในตัวเลขนี้ มีจำนวนบัตรเสีย 2,137,762 ใบ (5.58%) และบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด (Vote No) 607,133 ใบ (1.58%) 

ทั้งนี้ มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ไม่สามารถออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งทั่วไปได้ คือวันที่ 17 มีนาคม 2562 ล่วงหน้า 1 สัปดาห์

หากย้อนดูผลการเลือกตั้งในปี 2562 จังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 10 ลำดับแรก คือ

จังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 10 ลำดับแรก

และจังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด 10 ลำดับแรก คือ

จังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด 10 ลำดับแรก

(หมายเหตุ จำนวนตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เป็นตัวเลขอัตราส่วนระหว่าง “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด”ของจังหวัดนั้น ๆ )

จากข้อมูลข้างต้น จังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด 10 ลำดับแรกล้วนเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 10 ลำดับแรกนั้นประปราย นำทีมโดยภาคเหนือ 3 ลำดับแรก ตามมาด้วยภาคใต้ในลำดับที่ 4 และ 5 จากนั้นคือภาคกลางและภาคใต้สลับไปมา ตามลำดับ

หากย้อนดูข้อมูลแบ่งตาม 4 ภูมิภาค จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาคเหนือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบัตรเสียบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด
มากที่สุดลำพูน
(87.34%)
กำแพงเพชร
(8.93%)
แพร่
(5.45%)
น้อยที่สุดพิจิตร
(70.71%)
พะเยา
(4.65%)
เชียงราย
(1.24%)
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบัตรเสียบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด
มากที่สุดเลย
(78.51%)
บุรีรัมย์
(7.31%)
บุรีรัมย์
(1.50%)
น้อยที่สุดหนองคาย
(67.04%)
ยโสธร
(4.72%)
บึงกาฬ
(0.72%)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลางผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบัตรเสียบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด
มากที่สุดราชบุรี
(81.93%)
ชัยนาท
(7.79%)
นครนายก
(2.27%)
น้อยที่สุดกรุงเทพมหานคร
(72.51%)
กรุงเทพมหานคร
(2.81%)
สุพรรณบุรี
(1.08%)
ภาคกลาง
าคใต้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบัตรเสียบัตรไม่เลือกผู้สมัครใด
มากที่สุดพัทลุง
(83.27%)
นราธิวาส
(7.39%)
ภูเก็ต
(2.87%)
น้อยที่สุดภูเก็ต
(71.70%)
ภูเก็ต
(3.90%)
ปัตตานี
(1.00%)
ภาคใต้

จากเลือกตั้ง’48 ถึง ’62 ‘ลำพูน’มงลง 4 ปีซ้อน ภาคอีสานไม่เข้ารอบ

ถ้าหากย้อนดูผลเลือกตั้งย้อนหลังไปอีก จากการเลือกตั้งในปี 48 สู่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 62 จะพบว่า ลำพูน เป็นจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 4 ปีซ้อน ในขณะที่ หนองคาย มีจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดถึง 3 ปี

ย้อนดูผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งรายจังหวัด ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2562

บัตรเสียคืออะไร? เกิดขึ้นได้ถ้ากาไม่ตรง (ตามที่ กกต. กำหนด)

รู้หรือไม่? เลือกตั้ง’62 มีจำนวนบัตรเสียทั้งหมด 2,137,762 ใบ คิดเป็น 5.58% จากคะแนนเสียงทั้งหมด

กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดไว้ว่า ในระหว่างการนับผลเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ต้องแยกบัตรเสียออกไว้จากบัตรดีหรือบัตรที่นับคะแนนได้ และไม่ให้นำบัตรเสียมานับเป็นคะแนน พร้อมกำหนดชัดเจนว่าบัตร 8 ประเภทต่อไปนี้เป็น “บัตรเสีย” ได้แก่

  • บัตรปลอม
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกต หรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
  • บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
  • บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครมากกว่า 1 คน
  • บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด เว้นแต่เป็นการลงคะแนน “ไม่เลือกผู้สมัครใด”
  • บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร แล้วยังไปทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมายไม่เลือกผู้สมัครใด
  • บัตรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นบัตรเสีย เช่น บัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตหรือนอกราชอาณาจักร ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าไม่สุจริต หรือส่งไปถึงสถานที่นับคะแนนหลังเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือมีหีบห่อที่ถูกเปิดมาก่อน โดยเชื่อว่าเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริต หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย
  • บัตรที่มีลักษณะตามที่ กกต. กำหนดว่าเป็นบัตรเสีย

หากเรียงจากจังหวัดที่มีจำนวนบัตรเสียมากที่สุดโดยมองจากยอดจำนวนบัตรเสียเพียงอย่างเดียว จะพบว่า นครราชสีมา มีจำนวนบัตรเสียมากที่สุด คือ 101,182 ใบ ตามมาด้วย กรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนบัตรเสีย 91,452 ใบ และบุรีรัมย์ 62,193 ใบ ในขณะที่ระนอง เป็นจังหวัดที่มีจำนวนบัตรเสียน้อยที่สุดที่ 5,033 ใบ ตามมาด้วย สมุทรสงคราม 5,321 ใบ และนครนายก 5,858 ใบ

แต่ถ้าดูจาก “อัตราส่วนบัตรเสีย” ต่อจำนวนบัตรเลือกตั้งในเขตจังหวัดแล้ว จะพบว่าจังหวัดที่มีจำนวนบัตรเสียมากที่สุดจริง ๆ นั้นคือ กำแพงเพชร รองลงมาคือ พิจิตร และตาก ตามข้อมูลในตารางข้างล่างนี้ 

จังหวัดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนบัตรเสียสัดส่วนบัตรเสียภายในเขต
กำแพงเพชร406,87936,3298.93 %
พิจิตร304,32925,7928.48 %
ตาก296,56324,6868.32 %
จังหวัดที่มีอัตราส่วนจำนวนบัตรเสียต่อคะแนนเสียงในเขตมากที่สุด

ในขณะที่จังหวัดที่มีเปอร์เซ็นต์บัตรเสียน้อยที่สุดอันดับ 1 คือ กรุงเทพมหานคร ตามมาด้วย นนทบุรี และนครนายก 

จังหวัดผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนบัตรเสียสัดส่วนบัตรเสียภายในเขต
กรุงเทพมหานคร3,255,23291,452 2.81%
นนทบุรี 761,08122,1192.91%
นครนายก157,9375,8583.71%
จังหวัดที่มีอัตราส่วนจำนวนบัตรเสียต่อคะแนนเสียงในเขตน้อยที่สุด

หากนับจำนวนบัตรเสียในการเลือกตั้งรอบนี้เป็นคะแนนเสียง จะนับได้ทั้งสิ้น 2,137,762 คะแนน คงจะดีไม่น้อยถ้าหากจำนวนของบัตรเสียเหล่านี้สามารถสะท้อนคะแนนเสียงได้ เพราะจากจำนวนดังกล่าว หากคำนวณตามสูตร ส.ส. พึงมีของระบบเลือกตั้งในปี 62 แล้ว ถ้าพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงนี้ไป จะสามารถมีจำนวน ส.ส. พึงมี 30 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง

เขตดีเด่น เลือกตั้ง’62

สถิติ “ที่สุด” เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้ง 2562

  • เขตที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ “เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 88.06 % จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในเขต
  • เขตที่มีบัตรเสียน้อยที่สุด ได้แก่ “เขตเลือกตั้งที่ 8 กรุงเทพมหานคร” มีจำนวนบัตรเสีย 1.78% จากจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดในเขต 

จากตัวเลขที่เราได้เห็น จะมีหนทางไหนบ้างที่จะสามารถเพิ่มจำนวน “ผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้สัดส่วนระหว่างจำนวน “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” กับ “ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิ” ใกล้เคียงกันในการเลือกตั้งในอนาคต หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่า “จะลดจำนวนบัตรเสียในคูหายังไง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง’66 นี้  

นักวิชาการหลายคนเริ่มต้นจากการตั้งคำถามอย่างเรียบง่ายว่า “ทำไมคนถึงไม่ไปโหวต หรือออกไปใช้สิทธิ” โดยคำตอบที่ได้จากการวิเคราะห์นั้นหลากหลายและลุ่มลึกไปตามการศึกษาวิจัย แต่เหตุผลง่าย ๆ ที่มักเห็นพ้องกันของคำถามนั้นคือ 

  1. การประชาชนอาจไม่ได้มองเห็นว่าการเลือกตั้งจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม 
  2. ระบบหรือกระบวนการเลือกตั้งนั้นซับซ้อนและทำความเข้าใจยากเกินไป 
  3. การไม่พอใจต่อนโยบายของผู้สมัครในเขตของตนหรือไม่มีผู้ที่พอใจอยากเลือกให้สักคนเดียว 
  4. ประชาชนไม่มีเวลาว่างและการออกไปเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อเวลาทำงาน 

จากเหตุผลทั้งสี่อย่างหรือจะเป็นเหตุผลนอกเหนือจากที่กล่าวมา จริง ๆ แล้วก็มีหลากหลายหน่วยงานที่พยามแก้ไขพัฒนา อำนวยความสะดวก รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าใจและเคารพในเสียงโหวตของตัวเอง อีกทั้งยังเชิญชวนให้ออกไปเลือกตั้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น กกต. พรรคการเมืองต่าง ๆ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่าง WeVis เอง

ทำไมถึงต้องไปเลือกตั้ง?

การเลือกตั้งทั่วไปของไทยคือการเลือกผู้แทนประชาชน ซึ่งก็คือตัวแทนของตัวเรา เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ออกเป็นกฎหมาย ที่จะครอบคลุมชีวิตของเราในทุกมิติ การใช้เสียงที่ทุกคนมีออกไปเลือกตั้งจึงมีความหมายและเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ เมื่อใดที่ประชาชนมองข้ามความสำคัญของการเลือกตั้ง เมื่อนั้นประชาชนได้ละทิ้งหลักประกันในสิทธิและเสียงของตัวเองไป 

แม้การเลือกตั้งจะไม่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างรอบด้านและครบถ้วน แต่ก็นับเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการปกครองในวิถีประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นช่องทางการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่อิงอ้างอยู่กับเสียงของประชาชน

เลือกตั้ง’66 ที่จะถึงนี้ WeVis ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยออกไปเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบ ใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า  

แม้ไม่มีคนที่ชอบหรือไม่มีพรรคที่พอใจ ก็อยากให้ Vote No แต่อย่า No Vote หรือนอนหลับทับสิทธิไปเสียเปล่า

มาเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง’66 เพื่อหาคนที่ถูกใจและอ่านนโยบายที่ใช่สำหรับคุณ  

และทีม WeVis หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการเลือกตั้ง’66 ทุกจังหวัดจะรักประชาธิปไตยมากขึ้น

“รักนะ  Demo(cracy)”

อ้างอิงข้อมูลจาก