Content by

ประเทศประชาธิปไตย ที่ข้อมูลรัฐไม่ใช่ของสาธารณะ (?)

ในช่วงสัปดาห์ข้อมูลเปิดนานาชาติ International Open Data Week ของปีนี้ (2-8 มีนาคม 2024) อยากลองชวนทุกคนมาดูสถานการณ์ เสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information) ผ่านตัวเลขเหล่านี้กันดู

  • Global Right-to information Rating (RTI) โดย ศูนย์เพื่อกฎหมายและประชาธิปไตย (Center for Law and Democracy) ประเมิน พรบ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 (พิจารณาเฉพาะตัวบทของกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยไม่รวมถึงการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ) พบว่าประเทศไทยได้คะแนนเพียง 75 คะแนน จาก 150 คะแนน
  • ดัชนีหลักนิติธรรมไทย (Rule of Law Index 2023) ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 82 และลำดับที่ 10 (จาก 15) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific) ได้คะแนนรวม 0.49 (น้อยที่สุด ตั้งแต่มีดัชนีนี้) โดยเฉพาะในด้านรัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government) คะแนนการให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล (Right to Information) และการเผยแพร่กฎหมายและข้อมูลของรัฐ (Publicized Laws and Government Data) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและค่าเฉลี่ยของโลกทั้งหมด
  • ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index 2023) ไทยถูกจัดไว้ที่อันดับ 106 จาก 180 ด้วยคะแนน 55.24 จาก 100 คะแนน ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘สถานการณ์มีปัญหา’ (Problematic Situation) โดย RSF องค์กรที่จัดทำ ให้เหตุผลว่า มีกฎหมายหลายฉบับเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กฎหมายหมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กดเพดานการทำข่าวของสื่อมวลชน รวมถึงสำนักข่าวชั้นนำหลายแห่งของไทย มีเจ้าของเป็น ‘กลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง’ (Oligarchs)

จากตัวเลขและเหตุผลทั้งหมด ก็คงพูดได้ว่า ข้อมูลข่าวสารของรัฐไทย มีปัญหาทั้งในตัวบทกฎหมาย การเข้าถึง และการเอาไปใช้ (เสรีภาพในการแสดงออก) ซึ่งในรัฐบาลสมัยที่ผ่านมา ก็มีความพยายามยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาแล้ว (อ่านเพิ่มเติม https://www.ilaw.or.th/articles/4643) ในสมัยนี้ ก็มี ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ยึดหลักใหญ่ใจความคือการแก้นิยามเพิ่มคำว่า “ข้อมูลสาธารณะ” หรือข้อมูลที่ต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องร้องขอ และเปิดผ่านระบบดิจิทัล ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล และกำลังอยู่ระหว่างรอเข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณา

ทางหน่วยงานภาครัฐเองก็มีความพยายามแล้ว ที่จะเปิดเผยชุดข้อมูลต่างๆ สังเกตได้จาก 11,023 ชุดข้อมูล ที่เปิดเผยอยู่บนเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (https://data.go.th) ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าอาจยังดีไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนข้อมูลที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ถือครองอยู่ และเมื่อเจาะลึกไปในคุณภาพของข้อมูลแต่ละชุด

ในช่วงวันข้อมูลเปิดนานาชาตินี้ หวังว่ารัฐไทยจะให้ค่ากับการเปิดเผยข้อมูลกับสังคมไทยให้มากกว่านี้ และหวังเราคนไทยจะได้มีกฎกติกาที่สนับสนุนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้รับในเร็ววัน