Content by

เปิดสถิติบทบาท 26 ปี ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

อำนาจยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ กำลังบอกอะไรเรา? 🤔

หลาย ๆ คนอาจเคยเห็นผลงานของศาลรัฐธรรมนูญจากการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์นักการเมือง หรือตีความตัวบทกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นองค์กรตุลาการที่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ประเทศไทยเริ่มใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 65 ปี โดยบทบาทหน้าที่และอำนาจสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญนั้นคือการตรวจสอบกฎหมายให้ตรงตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบสถาบันทางการเมือง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้วตามผลการวินิจฉัยที่ปรากฏ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำตามค่านิยมขององค์กรที่ว่า ‘ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน’ อยู่จริงหรือไม่? หรือกำลังกลายเป็นองค์กรที่มีสิทธิในการชี้ขาดทิศทางการเมืองไทย​ไปแล้วกันแน่?

วันรัฐธรรมนูญปีนี้ WeVis หยิบสถิติที่น่าสนใจ ชวนดูตัวเลขย้อนหลังการทำงาน 26 ปี ของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับหลัก (ปี พ.ศ. 2540, พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560) และฉบับชั่วคราวในช่วงรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จากอำนาจหน้าที่สำคัญของศาลธรรมนูญในประเด็น ‘ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์’ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองไทยตลอด 26 ปีที่ผ่านมา 

แล้วทำไมเราถึงดูผลงานของศาลรัฐธรรมนูญหลังปี พ.ศ. 2540 กันนะ? ก็เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งกลายมาเป็นสถาบันตุลาการภายหลังการมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 จากแนวคิดการริเริ่มองค์กรที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่ตัดสินคดีความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือคือการพิทักษ์/รักษา/ปกป้องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นแม่บทกฎหมายและเป็นรากฐานโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียง ‘คณะ’ ที่อยู่ภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสถาบันทางการเมือง ซึ่งการอยู่ภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติทำให้ไม่มีความเป็นอิสระในตัวองค์กรนั่นเอง 

ก่อนอื่นเรามาดูข้อความในรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ในบทบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ว่าแต่ละมาตรามีอะไรที่น่าสนใจหรือมีอะไรเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างในแต่ละฉบับ

Wrap Up! รู้จักศาลรัฐธรรมนูญผ่านรัฐธรรมนูญไทยเบื้องต้น 👀

*สาเหตุที่ดูรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพราะมีบทบัญญัติหมวด ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อยู่อย่างชัดเจน ในขณะที่ช่วงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นเพียงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 : ประธาน 1 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 14 คน
  • รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 : ประธาน 1 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน

“…ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้…”

  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขารัฐศาสตร์ (รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น)
  • รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 : ประธาน 1 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน

“…ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้…”

  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขารัฐศาสตร์ (รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น)
  5. ผู้ทรงคุณที่ได้รับการสรรหาหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปี

ซึ่งข้อนี้ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิในระบบข้าราชการในสัดส่วน 2 ใน 9 อาจสะท้อนให้เห็น “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ในศาลรัฐธรรมนูญไทย และยังชวนให้คิดต่อได้ว่าแท้จริงแล้วความคิดริเริ่มแรกที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นลดความสำคัญลงไปหรือไม่ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญมากหรือน้อยขนาดไหนกันแน่? 

นอกจากนี้วาระการดำรงตำแหน่งก็ไม่เท่ากัน

ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถดำรงตำแหน่งได้ 9 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว และดำรงตำแหน่งได้ถึงอายุ 70 ปี แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว แต่ในฉบับนี้สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 75 ปี!

แล้วรู้มั้ย? ส.ว. เคยถอดถอนประธาน/ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยนะ!

ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนประธาน/ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ออกจากตำแหน่งได้ แต่บทบัญญัตินี้ได้หายไปจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560

เห็นที่มาแล้ว ลองทดกันไว้ในใจว่าข้อความเหล่านี้จะมีผลอะไรต่อคำวินิจฉัยใน 26 ปีที่ผ่านมามั้ยนะ? ลองดูผ่านสถิติที่พวกเรารวบรวมมาให้ในแต่ละปีได้เลย!

เปิดสถิติ 26 ปี ผลงานศาลรัฐธรรมนูญไทย

ทุกคนคงคุ้นหูผลงานของศาลรัฐธรรมนูญไทยในการตรวจสอบสถาบันทางการเมืองผ่านผลงานการยุบพรรค-ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งตัวเลขจริง ๆ นั้นก็ไม่ใช่น้อย ๆ บทความนี้เรารวบรวมมาให้แบบละเอียด เปิดคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องทางการเมือง กี่พรรคที่ถูกยุบ? นักการเมืองกี่คนที่ไม่ได้ไปต่อ? และจริง ๆ แล้ว หน้าที่เหล่านี้ควรมาจากอำนาจของฝ่ายตุลาการจริง ๆ หรือเปล่า? 

26 ปีที่ผ่านมา บทบาทศาลรัฐธรรมนูญไทยในการตัดสินวินิจฉัยทางการเมืองปรากฏผ่านการยุบพรรคการเมืองไปทั้งหมด 106 พรรค สิ้นสุดสมาชิกรัฐสภา ได้แก่ สมาชิกผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี จำนวน 27 คน วินิจฉัยชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าจงใจไม่ยื่นบัญชี จำนวน 29 ราย และแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จฯ จำนวน 9 ราย (ซึ่งการวินิจฉัยชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นด้วย)

ในช่วงการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยยุบพรรคไปทั้งหมด 76 พรรค สาเหตุหลัก ๆ ที่มีการวินิจฉัยยุบพรรค มาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้อง ‘สังกัดพรรคการเมือง’ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน ทำให้ช่วงนั้นมีพรรคการเมืองเกิดใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่หลายพรรคที่เกิดขึ้นใหม่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือกฎหมายอย่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ เช่น ไม่ส่งเอกสารการเงิน การจัดตั้งตัวแทนจังหวัด พรรคการเมืองเหล่านี้จึงถูกยุบไป 

ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติทางกฎหมายส่งผลให้อำนาจทางการเมืองของศาลขยายไปโดยปริยาย การวินิจฉัยในกรณีเหล่านี้เป็นการชี้ความผิดผ่านบทบัญญัติทางกฎหมาย เงื่อนไขและโครงสร้างโครงพรรค ส่วนใหญ่ไม่ใช่การกระทำผิดทางการเมือง โดยจำนวนพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค 76 พรรคในช่วงเวลาดังกล่าว แบ่งได้ดังนี้ พ.ศ. 2542 จำนวน 4 พรรค, พ.ศ. 2543 จำนวน 4 พรรค, พ.ศ. 2544 จำนวน 17 พรรค, พ.ศ. 2545 จำนวน 18 พรรค, พ.ศ. 2546 จำนวน 10 พรรค,  พ.ศ. 2547 จำนวน 10 พรรค, พ.ศ. 2548 จำนวน 9 พรรค และ พ.ศ. 2549 จำนวน 4 พรรค ซึ่งมาจากความผิดตามกฎหมาย ดังนี้

  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 26 กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้แทนของสาขาพรรคการเมือง และสมาชิก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง จำนวน 9 พรรค
  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 29 กำหนดว่า ภายใน 180 วันนับแต่จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิก 5,000 คนขึ้นไป และต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา จำนวน 39 พรรค
  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 35 กําหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทํารายงานการดําเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีให้ถูกต้อง และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี จำนวน 10 พรรค
  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 กําหนดให้พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องจัดทํารายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยยื่นต่อ กกต. ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป จำนวน 8 พรรค
  • มาตราอื่น ๆ จำนวน 10 พรรค

ช่วงภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549  ศาลรัฐธรรมนูญจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ได้ถูกยุบไป มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2549 ในมาตรา 35 ถูกเรียกว่า ‘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ’ และมีคำสั่งวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไปจำนวน 4 พรรคในปี พ.ศ. 2550 ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยให้เงินสนับสนุนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีมีผู้สมัครเพียงคนเดียวและผู้สมัครนั้นได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นซึ่งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตลอดจนร่วมมือกับหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ออกใบรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้สมัครนำไปใช้เป็นหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ถือว่าพรรคไทยรักไทยกระทำการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรมนูญและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) และ (3)

จากเหตุการณ์ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ถูกริเริ่มใหม่จากผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในตอนนั้นวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยในกรณีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง อาจทำให้เราเริ่มเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเริ่มมีบทบาทในการกำหนดสถานการณ์ทางการเมืองไทย  

หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยยุบพรรคไปทั้งหมด 18 พรรค ก่อนจะมาถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2557 แบ่งเป็น พ.ศ. 2550 จำนวน 7 พรรค, พ.ศ. 2551 จำนวน 3 พรรค, พ.ศ. 2553 จำนวน 3 พรรค, พ.ศ. 2555 จำนวน 2 พรรค, พ.ศ. 2556 จำนวน 2 พรรค และ พ.ศ. 2557 จำนวน 1 พรรค ซึ่งมาจากความผิดตามกฎหมาย ดังนี้ 

  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 42 กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่กำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี จำนวน 4 พรรค
  • ละเมิด พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมืองแต่พรรคการเมืองนั้นยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 42 วรรคสอง หรือมาตรา 42 ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น จำนวน 3 พรรค 
  • มาตราอื่น ๆ เช่น การร้องขอยุบพรรคเอง หรือการยุบรวมกับพรรคอื่น จำนวน 11 พรรค

แต่แล้วหนังเรื่องเดิมทางการเมืองไทยก็ได้ถูกฉายซ้ำเมื่อเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557 ในช่วงการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 นี้ ในมาตรา 45 ได้วางไว้ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้วสานงานต่อไป และได้มีคำสั่งวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองอีกทั้งหมด 4 พรรค ได้แก่ พรรคไทยพอเพียง พรรคดำรงไท พรรคคนขอปลดหนี้ พรรคชาติสามัคคี เหตุผลการสั่งยุบพรรคการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ ซึ่งต่างจากบริบทในช่วงปี พ.ศ. 2549 ที่มีการพยายามใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการล็อคเป้าทางการเมือง 

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดปี พ.ศ. 2560 ในปี พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำสั่งวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อประชาชนไทย 1 พรรค โดยสรุปคือพรรคเพื่อประชาชนไทยไม่จัดทํารายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องและยื่นต่อ กกต. ในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด และในช่วงการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ. 2562 อีกจำนวน 3 พรรค 

และคำสั่งการยุบพรรคการเมืองหลังจากนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มกลายเป็นเครื่องมือชี้ทิศทางทางการเมืองไทยไปแล้วหรือไม่? ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ตุลาการภิวัตน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วหรือเปล่า? จากกรณีดังต่อไปนี้

  • ในปี พ.ศ. 2562 มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยมีสาระสำคัญในคำวินิจฉัยว่า

“พรรคไทยรักษาชาตินำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาฝักฝ่ายในทางการเมือง เข้าลักษณะการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

  • ในปี พ.ศ. 2563 มีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีสาระสำคัญในคำวินิจฉัยว่า

“พรรคกู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรคจำนวน 191,200,000 บาท โดยมีข้อตกลงที่ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย ถือเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปี ต้องห้ามตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 วรรคสอง และการกู้ยืมเงินมีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคตามมาตรา 66 จึงเป็นรับการทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาสิบปีนับแต่มีคำสั่งยุบพรรค และห้ามไม่ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค”

โดยในกรณีนี้ก็ได้มีนักวิชาการออกมาวิเคราะห์มากมายว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นชอบธรรมจริง ๆ หรือไม่? หรือมีความพยายามใช้ช่องโหว่ทางบทบัญญัติในกฎหมายในการตีความคดีดังกล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

“พรรคการเมืองมิใช่องค์กรรัฐ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามกระทำ ก็ย่อมกระทำได้ การกู้เงินจึงน่าจะทำได้ เพียงแต่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ ในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีการเขียนบทลงโทษหากบริจาคเกิน 10 ล้านบาท หากการกู้เป็นการบริจาคตามที่วินิจฉัย โทษที่กำหนดก็ไม่ถึงขั้นยุบพรรค เพราะโทษตามมาตรา 66 ตัดสินโทษทางอาญา เป็นการจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”

การสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้บทลงโทษของมาตรา 72 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินที่มีแหล่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือรู้ว่าได้มาโดยผิดกฎหมายซึ่งมีโทษคือการยุบพรรค

“องค์ประกอบความผิดของมาตรา 66 และ 72 ต่างกัน ในกรณี 72 คือรับเงินบริจาคที่เป็นเงินผิดกฎหมาย เช่น เงินที่ได้จากการขายยา หรือการฟอกเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่ และเมื่อตัดสินยุบพรรค ก็กระทบสิทธิไม่เพียงนักการเมืองที่ลงเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย” 

  • ในปี พ.ศ.2564 มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทรักธรรม โดยมีสาระสำคัญในคำวินิจฉัยว่า

“หัวหน้าพรรคไทรักธรรมให้บุคคลไปจูงใจประชาชนเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ด้วยการเชิญชวนทําดอกไม้จันทน์โดยไม่ต้องเสียค่าบํารุงพรรคการเมือง และเสนอว่าจะซื้อวัสดุอุปกรณ์และรับซื้อคืนในราคาดอกละ 1 บาท จนพรรคมีสมาชิกพรรคครบจํานวน 500 คน และสามารถเปิดสาขาพรรคได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคไทรักธรรมมอบหมายให้บุคคลดําเนินกิจการที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จากการรับสมัครสมาชิกพรรคที่เกิดจากการหลงเชื่อด้วยวิธีการจูงใจ บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ศรัทธาในพรรคการเมือง ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค และไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการพรรคอย่างแท้จริง” 

ตัวเลขพรรคการเมืองที่ถูกยุบลดลงแต่คำวินิจฉัยเริ่มเข้มข้นและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มกังขาว่าแท้จริงแล้วศาลรัฐธรรมนูญกำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ใช้อำนาจกลุ่มใดใช้ในการเดินเกมทางการเมืองอยู่หรือไม่? เราอาจเห็นได้จากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งในเวลานั้นเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภามาก การยุบพรรคอนาคตใหม่และการตัดสิทธิทางการเมืองของ สส. ในพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคอนาคตใหม่เหลือเสียงในสภา 65 คน จากเดิม 76 คน ส่งผลให้สัดส่วนที่นั่งของขั้วการเมืองต่าง ๆ ในสภาเกิดการเปลี่ยนแปลง 

นอกจากนี้ที่บอกไปในตอนแรกว่าศาลรัฐธรรมนูญยังมีความสามารถในการชี้ขาดสถานะภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง สส. สว. และครม. หรือการ ‘ตัดสิทธิ์’ ทางการเมือง ไปมากถึงจำนวน 27 คน จากปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกร้องเรียนตามกฎหมาย 

แต่เราขอหยิบแค่ช็อตเด็ด ๆ คนดัง ๆ มาทบทวนความทรงจำเหตุการณ์ทางการเมืองไทย ว่ามีนักการเมืองคนไหนถูกศาลรัฐธรรมนูญสกัดดาวรุ่งไปแล้วบ้าง

  • ปี พ.ศ. 2549 คำวินิจฉัยสิ้นสมาชิกภาพการเป็น สส. ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  
  • ปี พ.ศ. 2551 คำวินิจฉัยสิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จากกรณีเป็นพิธีกรรายการทีวีรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า”
  • ปี พ.ศ. 2555 คำวินิจฉัยสิ้นสมาชิกภาพการเป็น สส. ของนายจตุพร พรหมพันธุ์
  • ปี พ.ศ. 2557 คำวินิจฉัยสิ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปี พ.ศ. 2562 คำวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น สส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากกรณีถือหุ้นสื่อ
  • ปี พ.ศ. 2564 คำวินิจฉัยสิ้นสมาชิกภาพการเป็น สส. ของ นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย นายถาวร เสนเนียม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสิระ เจนจาคะ

จากสถิติที่รับหยิบมาโชว์กันวันนี้ ‘จำนวนของตัวเลข’ อาจไม่สามารถบอกได้ถึงการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตัวเลขที่น้อยลงอาจไม่ได้หมายความว่าความเป็นตุลาการภิวัตน์จะน้อยลงตามไปด้วย แต่สิ่งที่เราจำเป็นต้องดูคือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก ความเป็นอิสระขององค์กร และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น ๆ ด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างผลคำวินิจฉัยหรือไม่?

อยากให้ทุกคนลองตั้งคำถามกันว่าจากคำวินิจฉัยที่ปรากฏออกมา สุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญกำลังพยายามพิทักษ์/รักษา รัฐธรรมนูญไทยจริง ๆ หรือมีใครกำลังพยายามทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหรือสกัดกั้นพลังทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามหรือไม่?

และจริง ๆ แล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมี ‘อำนาจ-หน้าที่-ขอบเขต’ อย่างไร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน?

ท้ายที่สุดนี้…ถ้าอยากเห็นข้อมูลที่รู้ลึก! รู้จริง! เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เจาะลึกกันทุกหมวดคำวินิจฉัย ผลการตัดสินไหนเป็นผลดี/ผลเสียต่อใคร รอติดตามโปรเจคใหม่จาก WeVis ในช่วงต้นปีหน้าได้เลยยย!