ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่ติดตามการเมืองอย่างเข้มข้น หรือ ไม่สนใจแม้กระทั่งว่าใครคือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เราเชื่อว่า การไถฟีดโซเชียลมีเดียของคุณในช่วงนี้ จะต้องผ่านตาเนื้อหาเกี่ยวกับกับการ เลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะมาถึงไม่มากก็น้อย
‘สื่อออนไลน์’ ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของสนามแข่งขันอันดุเดือดนี้ ที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเข้าใจ และการตัดสินใจของประชาชน WeVis จึงขออาสาพาทุกคนไปสำรวจว่า 15 สื่อใหญ่นำเสนอข้อมูลอะไรให้พวกเราก่อนเข้าคูหา
ที่มาข้อมูล :
ฐานข้อมูลของ Wisesight ที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะทาง Social Media 6 ช่องทาง คือ Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, Forum และ Tiktok โดยทำการเก็บข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลในช่วง 1 ม.ค – 31 มี.ค. 65
ข้อจำกัดของข้อมูล :
เนื้อหาที่ใช้ในการวิเคราะห์ พิจารณาจากข้อความที่ปรากฎในชื่อและคำบรรยายของโพสต์เท่านั้น จึงไม่สามารถสะท้อนเนื้อหาได้ทั้งหมด เช่น เนื้อหาที่อยู่ในคลิปวิดีโอ หรือ บทความ
15 สื่อออนไลน์ที่เราสำรวจ
จาก 5,407 บัญชีเฟซบุ๊กในฐานข้อมูล เราเลือกมาสำรวจทั้งหมด 15 บัญชีที่เข้าถึงคนจำนวนมากที่สุด รวมถึงมีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค – 31 มี.ค. 65) โดยดูจากจำนวนผู้ติดตาม และ จำนวนโพสต์เฟซบุ๊กที่มีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในชื่อและคำบรรยาย ประกอบด้วยรายชื่อต่อไปนี้ (เรียงตามจำนวนผู้ติดตามมากไปน้อย)
- Khaosod – ข่าวสด
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 14.9 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,262 โพสต์
- เป็นสำนักข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสดในเครือมติชน บริหารงานโดย ขรรค์ชัย บุนปาน
- เรื่องเล่าเช้านี้
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 13 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,451 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของรายการเล่าข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 บริษัทดำเนินกิจการโดยตระกูลมาลีนนท์
- Thairath – ไทยรัฐออนไลน์
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 12.6 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 3,849 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ ก่อตั้งและดำเนินกิจการโดยตระกูลวัชรพล
- Thai PBS (Thai Public Broadcasting Service หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 5.4 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,945 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่บริหารงานโดยคณะกรรมการที่สรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ
- Ch7 HD News
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 5.2 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,228 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ดำเนินงานโดยบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มีกฤตย์ รัตนรักษ์ เป็นประธานกรรมการ
- ข่าวช่อง 8
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 4.7 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 4,250 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ดำเนินกิจการโดย บริษัท อาร์เอส เทเลวิชัน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือ RS Group ที่เริ่มจากการทำธุรกิจตู้เพลงและค่ายเพลง
- PostToday
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 3.5 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,036 โพสต์
- เป็นสื่อดิจิทัลของอดีตหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันโพสต์ทูเดย์ ดำเนินกิจการโดยบริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่น ที่มีฉาย บุนนาค (สามีของวทันยา บุนนาค – ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์) เป็นประธานกรรมการบริหาร
- PPTV HD 36
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 3.5 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 3,200 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลตัล ดำเนินการโดยบริษัท บางกอกมีเดียแอนด์บรอดคาสติง จำกัด ซึ่งมีผู้บริหารสูงสุดคือ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกิจการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
- TODAY
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 3.3 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,452 โพสต์
- เป็นสำนักข่าวออนไลน์ภายใต้บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีปัญญา นิรันดร์กุล เป็นประธานกรรมการ
- Voice TV
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 3.2 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 6,876 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมและเครือข่ายโทรทัศน์เคเบิล ดำเนินการโดยบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ที่มีกรรมการรองผู้อำนวยการ และ กรรมการบริษัท คือ พานทองแท้ ชินวัตร และ พินทองทา คุณากรวงศ์ – บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย
- Nation Online
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 3 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 6,513 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของเนชั่นทีวี สถานีข่าวโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ดำเนินกิจการโดยบริษัท เนชั่น ทีวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่น ที่มีฉาย บุนนาค (สามีของวทันยา บุนนาค – ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์) เป็นประธานกรรมการบริหาร
- คมชัดลึก
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 2.5 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,635 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของอดีตหนังสือพิมพ์รายวันคมชัดลึก ดำเนินกิจการโดยบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่น ที่มีฉาย บุนนาค (สามีของวทันยา บุนนาค – ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์) เป็นประธานกรรมการบริหาร
- สำนักข่าวไทย
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 2.5 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,890 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของหน่วยงานประกอบกิจการข่าวสารของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นกิจการสื่อสารมวลชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาลไทย โดยสำนักนายกรัฐมนตรี
- THE STANDARD
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 2 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,785 โพสต์
- เป็นสำนักข่าวและบริษัทผลิตสื่อออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยวินิจ เลิศรัตนชัย, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และนิติพัฒน์ สุขสวย
- Dailynews – เดลินิวส์ออนไลน์
- มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊ก 2 ล้านคน
- ในข้อมูลชุดนี้มีจำนวนโพสต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด 1,249 โพสต์
- เป็นช่องทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์รายวันเดลินิวส์ ดำเนินการโดยบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด มีประชา เหตระกูล เป็นบรรณาธิการบริหาร
หมายเหตุ : แม้จะใช้ช่องทางเฟซบุ๊กเป็นเกณฑ์คัดเลือก แต่ข้อมูลที่วิเคราะห์ นำมาจากทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของสื่อนั้นๆ
“พรรค/แคนดิเดต” ที่ถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์มากที่สุด
เมื่อลองนำโพสต์ทั้งหมดของแต่ละสื่อ มาดูว่ามีชื่อพรรคหรือแคนดิเดตแต่ละคน ปรากฏอยู่มากน้อยแค่ไหน พบว่า
- พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นชื่อที่สื่อใหญ่พูดถึงมากที่สุด นั่นคือ 39.3%
- รองลงมา คือ พรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร ชินวัตร/นายเศรษฐา ทวีสิน 22.7%
- พรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ 19.3%
- พรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน ชาญวีรกูล 14.8%
- พรรคก้าวไกล/นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 11.1%
- พรรคประชาธิปัตย์/นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 6.8%
พรรคไทยสร้างไทย/คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 3% - พรรคชาติไทยพัฒนา/นายวราวุธ ศิลปอาชา 2.6%
- พรรคชาติพัฒนากล้า/นายกรณ์ จาติกวณิช 2.3%
- พรรคเสรีรวมไทยและ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.3%
มีข้อสันนิษฐานว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการพูดถึงมากที่สุด อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล ยังอยู่ในสมัยของการเป็นรัฐบาลและช่วงเวลาการตัดสินใจยุบสภา นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ จากข้อมูลดูเหมือนจะมีบางสื่อนำเสนอข่าวบางพรรคในสัดส่วนที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น
PostToday และ คมชัดลึก ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่น พูดถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์ และพรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน ในสัดส่วนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสื่อราวครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ให้พื้นที่พรรคประชาธิปัตย์/นายจุรินทร์, พรรคไทยสร้างไทย/คุณหญิงสุดารัตน์, พรรคชาติไทยพัฒนา/นายวราวุธ และพรรคชาติพัฒนากล้า/นายกรณ์ มากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสื่อเกิน 2 เท่า
ขณะที่ Voice TV พูดถึงพรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา ในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกสื่อ ถึง 2 เท่า
หมายเหตุ : ข้อมูลนี้เลือกสำรวจเฉพาะ 10 พรรคขนาดกลางถึงใหญ่ และในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล หลายพรรคยังเปิดตัวแคนดิเดตไม่ครบ จึงไม่มีชื่อในฐานข้อมูล
“ประเด็น” ที่ถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์มากที่สุด
เมื่อลองนำโพสต์ของแต่ละสื่อมาดูว่าพูดถึงประเด็นอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผ่านคีย์เวิร์ดที่พบบ่อย สามารถแบ่งประเภทเนื้อหาได้เป็น 9 ประเด็น เรียงลำดับตามสัดส่วนเฉลี่ย ดังนี้
นโยบายของพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 32% โดย Today พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: นโยบาย, แก้ปัญหา, เศรษฐกิจ, ปากท้อง, ค่าครองชีพ, ค่าแรง, สร้างโอกาส, มีงานทำ, เพิ่มเงิน, ราคาน้ำมัน, ค่าไฟ, ยาเสพติด, กัญชา, 112, ปฏิรูปกองทัพ, ปฏิรูปตำรวจ, การศึกษา, สาธารณสุข, การแพทย์, เทคโนโลยี, เกษตรกร, เหลื่อมล้ำ, รายได้, เท่าเทียม, ปราบโกง, ทุจริต, คุณภาพชีวิต, สิ่งแวดล้อม, pm2.5, อากาศสะอาด, แก้รัฐธรรมนูญ, ซอฟต์พาวเวอร์, ผู้สูงอายุ, ผู้สูงวัย, คนชรา, พิการ, เปลี่ยนประเทศ, แก้หนี้, สร้างอนาคต, ที่ดินทำกิน, โฉนดที่ดิน, ล้างเผด็จการ, ปลดล็อก, ปิดสวิตช์, ก้าวข้ามความขัดแย้ง, ทางออก, เปิดเสรี
การลงพื้นที่ของพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 32.3% โดยเรื่องเล่าเช้านี้ พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ลงพื้นที่, ปราศรัย, หาเสียง, เดินสาย, เวที, นำทัพ, นำทีม, ออนทัวร์
การวิจารณ์การทำงาน ถูกพูดถึงเฉลี่ย 15.9% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ซักฟอก, จวก, แฉ, เปิดข้อมูล, เปิดหมดเปลือก, เปิดโปง, โจมตี, จี้, ตั้งกระทู้, อภิปราย, ฟอกเงิน, ปม, เสียเวลา, เสียหาย, เรือหลวงสุโขทัย, ทุนจีนสีเทา, ป้ายสถานี, รถไฟฟ้าสายสีส้ม
การเปิดตัวสมาชิกพรรค/แคนดิเดต ถูกพูดถึงเฉลี่ย 13.6% โดย The Standard พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: เปิดตัว, เผยโฉมหน้า, ว่าที่ผู้สมัคร, เสนอชื่อ, ลงสมัคร
กกต. ถูกพูดถึงเฉลี่ย 10.5% โดยสำนักข่าวไทยพูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: กกต., คณะกรรมการการเลือกตั้ง
การจัดตั้งรัฐบาล ถูกพูดถึงเฉลี่ย 8.2% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: จับมือ, ดีล, ร่วมรัฐบาล, แบ่งขั้ว, จับขั้ว, เลือกข้าง, รวมกับ, ตั้งรัฐบาล, กินข้าว, ต่อรองตำแหน่ง, พันธมิตร
การยุบสภา ถูกพูดถึงเฉลี่ย 7.8% โดย Today พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ยุบสภา
การย้ายพรรคของ ส.ส. ถูกพูดถึงเฉลี่ย 7.6% โดย Ch7HD News พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: ย้ายพรรค, เข้าพรรค, กลับรัง, กลับคืนรัง, กลับเข้า, ซบ, ย้ายเข้า, ย้ายไป
ผลสำรวจการเลือกตั้ง ถูกพูดถึงเฉลี่ย 3.3% โดย Voice TV พูดถึงประเด็นนี้มากที่สุด
คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง: โพล, ทำนายผล, วิเคราะห์ผล, ผลเลือกตั้ง, ผลโหวต, ผลสำรวจ
ส่วนหมวดหมู่อื่นๆ คือโพสต์ที่ไม่ปรากฏคีย์เวิร์ดที่ตั้งไว้สำหรับการวิเคราะห์ข้อความ
หมายเหต: ข้อมูลชุดนี้ใช้กลุ่มคีย์เวิร์ดในการระบุประเภทประเด็นของโพสต์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ อาจมีบางกรณียกเว้นที่ระบบไม่สามารถวิเคราะห์ได้
แต่ละ “ประเด็น” เกี่ยวข้องกับแต่ละ “พรรค/แคนดิเดต” แค่ไหน
เมื่อลองสำรวจลึกลงไปในรายประเด็นว่า แต่ละพรรคถูกพูดถึงในแต่ละประเด็นในสัดส่วนที่แตกต่างจากภาพรวมหรือไม่ พบว่าลำดับส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากภาพรวมมากนัก โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ/พล. อ. ประยุทธ์ ยังคงถูกพูดถึงมากที่สุดในเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าพรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร และพรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐาจะมีประเด็นในส่วนนี้มากกว่า
นอกจากนี้ยังมีพรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน ที่ถูกพูดถึงมากในประเด็นการวิจารณ์การทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โจมตีเรื่องต่างๆ เช่น นโยบายกัญชา และการซุกหุ้น เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล/นายพิธาที่มีชื่ออยู่ในประเด็นนี้มากขึ้น จากการอภิปรายรัฐบาลเรื่องทุนจีนสีเทา ส.ว. ทรงเอ รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นต้น
เมื่อพิจารณาแยกในรายพรรค/แคนดิเดต ว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นอะไรมากที่สุด พอจะสรุปได้ว่า
- พรรครวมไทยสร้างชาติ/พล.อ. ประยุทธ์ เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์การทำงานมากที่สุด เฉลี่ยจากทุกสื่อ 46.1%
- พรรคเพื่อไทย/น.ส. แพทองธาร/นายเศรษฐา เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เฉลี่ย 40%
- พรรคพลังประชารัฐ/พล.อ. ประวิตร เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เฉลี่ย 42.8%
- พรรคภูมิใจไทย/นายอนุทิน เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด เฉลี่ย 25.2%
- พรรคก้าวไกล/นายพิธา เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์การทำงานมากที่สุด เฉลี่ย 19.5%
- พรรคประชาธิปัตย์/จุรินทร์ เกี่ยวข้องกับการเปิดตัวสมาชิกมากที่สุด เฉลี่ย 12.7%
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้นตามข้อจำกัดของเวลาและเครื่องมือที่มีเท่านั้น ถ้าใครมีข้อสังเกตอื่นๆ ที่อยากหาคำตอบเพิ่มเติม หรืออยากเห็นตัวอย่างโพสต์ที่เรานำมาวิเคราะห์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดไปสำรวจต่อเองได้ที่ https://docs.google.com/spreadsheets/d/1UvPWnPNYQo4eYKrJFwDiF37XdhlMMCEq