“ทุกความตายคือชีวิตและมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ”
ครบรอบ 15 ปี กับเหตุการณ์กวาดล้างคนเสื้อแดง ณ ใจกลางเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ ที่แม้นเวลาจะล่วงเลยผ่านไปกว่าทศวรรษแต่รัฐไทยยังคงไว้ซึ่ง “ความอยุติธรรม” ต่อผู้เสียชีวิต ญาติสนิทมิตรสหาย พี่น้องพ้องเพื่อนของผู้คนที่สูญเสียจากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเมษา-พฤษภาเลือดในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
WeVis ชวนรำลึกถึงรอยเลือด คราบน้ำตาและบาดแผลของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงอันเกินกว่าเหตุ ในอาชญากรรมรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นจากเงื้อมมือของรัฐอาชญากร ผ่าน “บันทึกความตาย” ที่ความรุนแรงและความสูญเสียแผ่ขยายกว้างไกลกว่าใจกลางกรุงเทพมหานคร
จาก ‘ปฏิบัติการของทวงคืนพื้นที่’ สู่ ‘การยกระดับความรุนแรงสูงสุดโดยรัฐ’
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ภายใต้ยุคการเมืองสีเสื้อระหว่าง “กลุ่มคนเสื้อแดง” (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ- นปช.) ผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทวีความรุนแรง กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 นำไปสู่เหตุการณ์สลับขั้วทางการเมืองและการสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง
เหตุการณ์นี้จุดชนวนความไม่พอใจ นำไปสู่การชุมนุม “แดงทั้งแผ่นดิน” เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคนเสื้อแดง ณ ท้องสนามหลวง ก่อนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดนำไปสู่เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในนามของ “ปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่” ณ สี่แยกราชประสงค์ ในเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย บาดเจ็บกว่า 1,500 ราย
รัฐบาลอภิสิทธิ์อาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และบางส่วนของสมุทรปราการ, ปทุมธานี, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไปจนถึงการยกระดับความรุนแรงสูงสุดโดยรัฐ อ้างความชอบธรรมในการใช้ “กระสุนจริง” โดยอ้างความจำเป็นในการใช้เครื่องมือตามกฎหมายเพื่อคืนความสงบสุขแก่ประชาชนชาวกรุงและระงับเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
บันทึกความตายจากการสลายการชุมนุม
จากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) กรณี เม.ย. – พ.ค. 53 บทที่ 4 “เชิงอรรถความตายจากการสลาย การชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 อำพราง อัปลักษณ์ และอำมหิต” ได้บันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงที่นำไปสู่การสูญเสียถึงเลือดเนื้อและชีวิต พบว่า ภาพรวมของ ‘จำนวน’ และ ‘ลักษณะ’ ของผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรวมถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ระบุว่า ผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 94 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตเพศชายที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ 1 ราย (คาดว่าประมาณอายุประมาณ 20 ปีเศษ)
การสูญเสียเลือดเนื้อที่มิได้เกิดขึ้นแค่ใจกลางเมืองหลวง
ผู้เสียชีวิตทั้งหมดแยกเป็นชาย 88 คน และหญิง 6 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 – 39 ปี มีผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนชายอ ายุต่ำกว่า 18 ปี 2 คน
ในจำนวน 94 รายนี้ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ จำนวน 91 ราย และเสียชีวิตจากการถูกยิงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ต่างจังหวัด 3 ราย คือ จังหวัดขอนแก่น 1 ราย และอุดรธานี 2 ราย ตามข้อมูลดังต่อไปนี้

ความรุนแรงโดยรัฐและความตายที่ไม่เลือกสถานะ
ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการยกระดับความรุนแรงสูงสุด ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ณ แยกราชประสงค์ประกอบไปด้วย ‘มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข’ จากหลากหลายสถานะและอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พลเรือน ผู้เข้าผู้ชุมนุม อาสาสมัครกู้ชีพ พยาบาลรวมถึงสื่อมวลชน

ความรุนแรงมักไม่เลือกเหยื่อ:
ความตายของอาสาสมัคร พยาบาลและสื่อมวลชน
การสูญเสียชีวิตของอาสาสมัครกู้ชีพ พยาบาล และผู้สื่อข่าวทั้ง 8 รายนี้ ถือเป็นเครื่องสะท้อนความรุนแรงและผลกระทบที่ขยายวงกว้างของการปฏิบัติการสลายการชุมนุม หาใช่เพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับอันตรายจากมาตรการที่เพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
อาสาสมัคร บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือหรือขนย้ายผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงสื่อมวลชนผู้บันทึกเหตุการณ์ตามวิชาชีพและนำเสนอความจริงสู่สาธารณะ กลับกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเช่นเดียวกัน
อาชญากรรมโดยรัฐอาชญากร: อาวุธสงครามคร่าชีวิต
ปฏิบัติการในครั้งนั้นใช้มาตราการที่รุนแรงสูงสุด รวมถึงมีการใช้อาวุธสงครามในการปราบปรามผู้ชุมนุม อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ คือ กองทัพบกเบิกกระสุนซุ่มยิงถึง 3,000 นัด และใช้ไป 2,120 นัดในการยิงประชาชน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมมากถึง 117,923 นัด จากยอดเบิกจ่ายที่สูงถึง 597,500 นัด รวมถึงงบประมาณในการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือดเกือบ 3 พันล้านบาท

สาเหตุการเสียชีวิตที่แสดงนัยยะของความรุนแรงชี้ชัดว่าการตายมากกว่า 4 ใน 5 มาจากการถูกยิง โดยมีข้อสันนิษฐานว่า อาวุธที่ใช้ยิงเป็นอาวุธสงคราม
ซึ่งผู้ก่อการตั้งใจเล็งใส่เหยื่อในตำแหน่งที่เป็นอันตรายถึงชีวิต จากรายงานพบร่องรอยของกระสุนปืน ดังนี้
- ผู้ถูกยิงบริเวณศีรษะ/คอ ร้อยละ 28.7
- ผู้ถูกยิงบริเวณลำตัว ร้อยละ 51.1
- ผู้ถูกยิงที่ต้นขา (เป็นอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากมีเส้นเลือดใหญ่) ร้อยละ 2.1
- ผู้ถูกยิงทั้งศีรษะ/คอและส่วนอื่น ร้อยละ 5.3
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลผู้เสียชีวิตอ้างอิงจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2553) ระบุว่า เกือบทุกชีวิตที่สูญเสียในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน (รวม 26 ศพ) ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 22 เมษายน – 8 พฤษภาคม (รวม 4 ศพ) นั้น ปรากฎอาวุธที่ทำให้เสียชีวิตชัดเจนว่าเป็นการตายด้วยปืนสงคราม กระสุน ระเบิด หรือแก๊สน้ำตา โดยใน 94 รายของผู้เสียชีวิต มีจำนวน 8 คนเสียชีวิตด้วยระเบิดและอีก 4 ราย เสียชีวิตจากการถูกกดทับ ล้มศีรษะกระแทกพื้นอย่างแรงหรือขาดอากาศหายใจ
มากไปกว่านั้น ผู้เสียชีวิตหลายรายถูกยิงมากกว่า 1 แห่ง เช่น กรณีของนางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งพบร่องรอยกระสุนบนร่างกายร่วม 10 แห่ง (กระสุนทะลุหลังผ่านกล้ามเนื้อคอสู่ฐานกะโหลกทําลายสมอง แขน สีข้าง ชายโครง และขา)
ความยุติธรรมที่มาช้า คือความอยุติธรรม
เหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือดเป็น 1 ในหลักฐานที่ประจักษ์ของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลของรัฐไทยที่ความยุติธรรมยังคงไม่ถูกมอบให้กับผู้เสียชีวิตและครอบครัว นับถอยหลังอีก 5 ปี คดีความสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจะหมดอายุความ
ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ญาติของผู้เสียชีวิตรวมถึงภาคประชาสังคมมีความพยายามที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับทุกชีวิตที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ (ฝ่ายบริหารขนาดนั้น) ฐาน “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” แต่ศาลอาญาทั้ง 3 ศาลยกคำร้อง โดยเห็นว่า.. “คดีเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ต้องอยู่ในอำนาจไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ต่อมา เมื่อยื่นเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงาน ป.ป.ช. กลับมีมติไม่รับคำร้องไต่สวนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ รวมถึงพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้บัญชาการทหารบก ณ ขณะนั้น) ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยให้เหตุผลว่า “การสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล และหากมีผู้กระทำผิดให้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว” มากไปกว่านั้นในกรณีของพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของพยาบาลเกด อาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิต ณ วัดปทุมฯ ทวงความยุติธรรมให้กับลูกสาวผ่านสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI) โดยส่งเรื่องให้อัยการศาลทหารดำเนินคดีกับทหาร 8 นาย แต่กลางปี 2562 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า “พยานหลักฐานไม่เพียงพอ”
ปัจจุบันยังไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนได้รับโทษจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในครั้งนั้น ผู้กระทำยังคงลอยนวลพ้นผิด
แม้บันทึกการตายหรือรายงานที่ปรากฎจะแสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรม บาดแผล รอยเลือดและคราบน้ำตาผ่านการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ประวัติศาสตร์บันทึกการใช้อาวุธสงครามขั้นสูงสุดในการปราบปรามไปจนสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนมากแค่ไหน รัฐไทยยังคงล้มเหลวในการมอบความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจรัฐ และความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งตอกย้ำถึงความอยุติธรรมที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทย แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมากว่าทศวรรษ