Content by

Bangkok Budgeting งบประมาณกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไรให้ ‘เปิดเผย โปร่งใส
และมีส่วนร่วมได้’ ?

‘เรา’ อยากให้ ‘เขา’ ปรับการใช้งบของ ‘เรา’ ในส่วนไหน ? เมื่องบประมาณของกรุงเทพมหานคร เปิดเผย โปร่งใสและมีส่วนร่วมได้

WeVis บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อการต่างประเทศ ประเทศไทย (NDI) ร่วมจัดกิจกรรม ‘Bangkok Budgeting งบประมาณกรุงเทพมหานครทำอย่างไรให้ เปิดเผย โปร่งใส
และมีส่วนร่วมได้ ?’ ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 9:00-12:00 น. ภายในงานประกอบไปด้วยวงเสวนาหนึ่งประเด็นในหัวข้อ ‘งบประมาณกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไรให้ ‘เปิดเผย โปร่งใส และมีส่วนร่วมได้’ ?’  และกิจกรรมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองการใช้งบประมาณกรุงเทพมหานคร โดยมีคุณเอ็ดมอนด์ เอเฟนดิจา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อการต่างประเทศ ประเทศไทย เป็นผู้เปิดพิธี

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยวงเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง WeVis ซึ่งมุ่งพูดคุยในประเด็นงบประมาณกรุงเทพมหานคร ว่าทำอย่างไรให้สามารถเปิดเผย โปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมได้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ประกอบไปด้วย คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณศิรินทรีย์ ครุฑสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร และคุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม จากบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

การเสวนาเริ่มต้นจากการตอบคำถามสำคัญโดยคุณศิรินทรีย์ ในเรื่องภาพรวมของกระบวนการจัดสรรงบประมาณของ กทม. ว่าประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนแรก การวางแผนงบประมาณ  ซึ่งรับผิดชอบโดยสํานักยุทธศาสตร์และประเมินผลในการคัดกรองรายการโครงการต่าง ๆ  ให้ตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจําปี และนโยบายผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ต่อมาคือ การจัดทำงบประมาณ (ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.) โดยที่สำนักต่างๆ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จะตั้งงบประมาณมาที่สำนักงบประมาณ ซึ่งในช่วงนี้นั้น ประชาชนสามารถเสนอความเห็นเรื่องงบประมาณผ่านสำนักงานเขต ขั้นตอนที่ 3 คือการนํางบประมาณเข้าสู่สภา กทม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย และต้องจัดทําให้เสร็จภายใน 30 กันยายน และสุดท้ายขั้นตอนที่ 4 กับขั้นตอนที่ 5 คือการจัดทํางบประมาณ พร้อมทั้งติดตามเร่งรัด โดยทางสำนักงบประมาณจะมีเป้าหมายที่คล้ายกับรัฐบาลว่าจะต้องเบิกจ่ายให้มากที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็ทําได้ตามเป้าหมายคือมากกว่าร้อยละ 90 

ในส่วนของใจความสำคัญในการจัดทำงบประมาณ กทม. ในปี 2568 คือ นโยบาย 9 ด้าน(ดี) โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ งบประมาณจะมุ่งเน้นในด้าน ‘เดินทางดี’ เป็นอันดับที่หนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาถนนหนทาง ทางเท้า ระบบจราจร รองลงมาเป็นด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ เช่น การจัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย ต้นไม้ ต่อมาเป็นการพัฒนาในด้าน ‘ความปลอดภัย’ อาทิ จุดเสี่ยงต่าง ๆ กล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ในส่วนต่อมาคือการเสวนาโดยคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ ในประเด็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงบประมาณ กทม.
ศานนท์ เล่าถึง 3 ขั้นตอนสู่การสร้างการมีส่วนร่วมโดยประชาชน ได้แก่

1. การสอดส่องและช่วยตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น โปรเจกต์ Traffy Fondue และระบบ 1555 ที่ประชาชนสามารถส่งเรื่องที่อยากร้องเรียนได้ ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน Line เพื่อช่วยลดขั้นตอนให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

2. ร่วมทำและร่วมนำเสนอ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาครัฐยังมีระเบียบต่าง ๆ กระบวนการมีส่วนร่วมจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เช่น โครงการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมนำเสนอ

3. การตัดสินใจได้เอง ในปัจจุบันขั้นตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ศานนท์ยังกล่าวถึงแนวคิด Open Bangkok ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของ กทม. ในการขยายระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ในด้านการตรวจสอบและการเสนอแนะนั้น กทม. ได้มีการออกคำสั่งตั้งแต่กรกฎาคม 2565 ว่าทุกการประกาศข้อมูลจะต้องใช้เอกสารในรูปแบบ machine readable format และเริ่มจัดทำเว็บไซต์ใหม่ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น คือ data.bangkok.go.th นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์ policy tracking ของกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้ยังใช้งานได้ไม่ง่ายเท่าที่ควร แต่อยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาให้ใช้งานง่ายขึ้น 

ในส่วนสุดท้ายของการเสวนา ตัวแทนจากภาคประชาสังคม คุณณัฐภัทร เนียวกุล กล่าวถึงการทำงานร่วมกับ กทม. ในการส่งเสริมความร่วมมือกับประชาชน โดยชี้ว่าโจทย์สำคัญของการมีส่วนร่วมคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย เริ่มต้นได้จากการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งผู้บริหาร กทม. ชุดนี้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ในส่วนของการส่งเสริมงบประมาณแบบมีส่วนร่วมนั้น ณัฐภัทรแสดงความเห็นว่า ไม่ควรเริ่มจากการที่ประชาชนอยากรู้อะไรแล้วค่อยมาขอ แต่ กทม. ต้องเปิดข้อมูลให้กว้างที่สุด รวมถึงต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งานต่อด้วย เช่น การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ machine readble format  

ในด้านของการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น จะต้องไม่ใช่แค่ event-based หรือจัดขึ้นเป็นรายกรณี แต่ควรให้มีกระบวนการตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมแนะนำ และต้องมีช่องทางให้ประชาชนเสนอแนะหรือส่งความเห็นได้ด้วย เพราะในปัจจุบัน แม้หน่วยงานรัฐจะเปิดรับฟังความเห็น แต่ไม่มีอะไรตอบสนองกลับมา 

การเสวนาจบลงด้วยการตอบคำถามร่วมเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในอนาคตของงบประมาณแบบมีส่วนร่วมใน กทม. ศานนท์ กล่าวว่า ถ้าภาคประชาชนเข้มแข็งจะทำให้เกิดการตื่นตัว ณัฐภัทรกล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญคือการทำให้ความขัดแย้งมันกลมกล่อมและยังเดินไปข้างหน้าได้ และต้องสร้างกลไกของภาครัฐให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าข้าราชการต้องฟังและร่วมทำไปด้วย

ในช่วงครึ่งหลังของกิจกรรม workshop เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นในประเด็นงบประมาณรายจ่ายของ กทม. ในช่วงปีที่ผ่านมาในด้านที่ตัวเองสนใจ ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ (ธุรกิจและการลงทุน) การจัดการภัยพิบัติ การจราจรและขนส่งมวลชน และสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ ผ่านการใช้งานแพลตฟอร์ม Bangkok Budgeting ที่จัดทำโดยทีม WeVis เพื่อตอบคำถามสำคัญสองข้อ คือ ‘ที่ผ่านมา กทม. ใช้งบขับเคลื่อนประเด็นที่คุณสนใจเพียงพอหรือยัง?’ และ ‘ข้อสังเกตที่พบเห็นคืออะไร อยากให้การใช้งบประมาณในอนาคตต่อประเด็นนี้เป็นอย่างไร?’


หากคุณมีไอเดียที่อยากออกแบบเมืองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่มากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ? หรืออยากทำความเข้าใจกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพฯ

เราขอชวนคุณเล่นแพลตฟอร์ม Bangkok Budgeting ต่อที่ bangkokbudgeting.wevis.info