Content by

ส.ก. มีไว้ทำไม? เมื่อเลือกตั้งกทม. ไม่ได้เลือกแค่ผู้ว่าฯ

ไม่ได้เลือกนานจัด! จำได้ไหม.. ส.ก. คือใคร มีบทบาทสัมพันธ์กับผู้ว่าฯ อย่างไร ที่ผ่านมา ส.ก. หน้าตาเป็นแบบไหน พร้อมผลงานจาก ส.ก. ชุดล่าสุด ที่แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ร่วมกับเรามาเกือบ 8 ปี

เลือกตั้ง กทม. ที่รอคอยกันอยู่ เรากำลังจะได้เลือกทั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พร้อมๆ กัน หลังจากที่เราไม่ได้เลือก ส.ก. กันมาตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2553 😱😱😱

นานจัด! จนหลายคน(เกือบ)ลืมไปแล้วว่า ส.ก. คือใคร และมีหน้าที่อะไรในการบริหาร กทม. เราเลยขอพาไปรู้จัก ส.ก. ว่าพวกเขาทำงานอะไรบ้าง มีบทบาทสัมพันธ์กับผู้ว่าฯ อย่างไร ที่ผ่านมา ส.ก. หน้าตาเป็นแบบไหน พร้อมผลงานจาก ส.ก. ชุดล่าสุด ที่แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ร่วมกับเรามาเกือบ 8 ปี

เผื่อจะเป็นไอเดียได้ว่า เลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้ เราจะออกไปกากบาทให้ สมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) คนไหนดี 🤔

ส.ก. มีไว้ทำไม?

หลายคนสงสัยว่า คนเป็น ส.ก. มีหน้าที่อะไรบ้าง และทำงานร่วมกับ ผู้ว่า กทม. ยังไง?

ถ้ามองในภาพรวม ทั้งคู่มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกันคือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาว กทม. แต่น่าจะพูดได้ว่า ส.ก. เหมือนเป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละเขต นำปัญหาในพื้นที่ไปเสนอฝ่ายบริหารให้พิจารณาและดำเนินการแก้ไข รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วย

หน้าที่ของ ‘ผู้ว่า กทม.’

  • สั่งการที่เกี่ยวกับราชการของ กทม. และรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม.
  • จัดการเรื่องการบริหารภายในหน่วยงาน กทม. ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการการเมือง และบริหารจัดการเรื่องข้าราชการประจำของ กทม.
  • นำนโยบายจากรัฐบาลกลางมาปฏิบัติ

หน้าที่ ส.ก.

  • เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติ กทม.
  • พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. จากที่ทุกหน่วยงานเสนอมา
  • ติดตามและตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติให้ กทม. ทำสิ่งต่างๆ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของผู้ว่าฯ และ กทม. ได้
  • เป็นคณะกรรมการสามัญประจำสภา กทม. ติดตามผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารด้านต่างๆ
  • เป็นคณะกรรมการวิสามัญประจำสภา กทม. ศึกษา เพื่อติดตามประเด็นพิเศษ

เขตไหนใคร (เคย) ครอง

หากดูจาก ส.ก. 4 ชุดล่าสุด (เฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง) คือ

  • ชุดที่ 8 (2541 – 2545)
  • ชุดที่ 9 (2545 – 2549)
  • ชุดที่ 10 (2549 – 2553)
  • ชุดที่ 11 (2553 – 2557)

จะพบว่า

  • ที่นั่ง ส.ก. ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นของพรรคดั้งเดิมอย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ และ ‘เพื่อไทย-ไทยรักไทย’
  • อีกกลุ่มการเมืองที่อยู่กับ กทม. มายาวนานคือ ‘กลุ่มมดงาน’ ซึ่งมีบทบาทในการบริหาร กทม. ในสมัยของ ดร.พิจิตต รัตตกุล
  • ที่ผ่านมา มี ส.ก. อิสระ เพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้รับเลือก คือ
    • นาย สุพิน คล้ายนก ได้รับเลือกในเขตบางแค (เขตเลือกตั้งที่ 1) เมื่อปี 2545 ซึ่งต่อมา ภรรยา (อรอนงค์ คล้ายนก) ก็ลงสมัคร ส.ส. เขตบางแคในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกถึง 2 สมัย (2550 และ 2554)
    • นางสาว เรณุมาศ อิศรภักดี ได้รับเลือกในเขตหลักสี่ เมื่อปี 2549 และ 2553 ซึ่งเรณุมาศเป็นน้องสาวของ ศุภมาส อิศรภักดี ที่อดีตเคยเป็น ส.ส. หลักสี่ ในนามพรรคไทยรักไทย และปัจจุบันเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ของพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกทีว่า ครั้งสุดท้ายที่เราเป็นคนตัดสินใจเลือก ส.ก. คือ 29 สิงหาคม 2553 ซึ่งก็คือเกือบ 12 ปีมาแล้ว ครั้งนี้ก็น่าลุ้นว่า พรรคเดิมอย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย (ไทยรักไทย) หรือพรรคใหม่ๆ ใครจะชิงคะแนนจากประชาชนได้มากกว่ากัน

ตัวท็อป-บ้านใหญ่

จาก ส.ก. 4 ชุดล่าสุด (เฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง) เราจะเห็นบุคคล/ตระกูลที่กวาดที่นั่งไปได้หลายเขตหลายสมัย น่าสนใจว่า.. เลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขา (หรือเครือญาติ) จะลงสมัครและคว้าชัยชนะได้อีกครั้งหรือไม่

เขตที่เป็นพื้นที่ของบุคคล/ตระกูลเดียวมาตลอด (นับทุกหน่วยเลือกตั้ง) อย่างน้อย 4 สมัยในการเลือกตั้งล่าสุด

เขตตระกูลวาระ ส.ก.ภูมิหลังทางการเมืองที่น่าสนใจ
พระนครแห้วสันตติแชมป์ 6 สมัย (2533 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคพลังธรรม กลุ่มมดงาน และพรรคประชาธิปัตย์พระนครเป็นพื้นที่ของเภสัชกร แก้ว แห้วสันตติ รุ่นพ่อมานาน ก่อนส่งไม้ต่อให้นางกานต์กนิษฐ์ ซึ่งต่อมาได้ลงสมัครและได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตพระนคร ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 นางกานต์กนิษฐ์ ยังเป็นภรรยาของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนปัจจุบัน
บางบอน – บางขุนเทียนม่วงศิริแชมป์ 6 สมัย (2533 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชากรไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์บางบอน บางขุนเทียน และหนองแขม เรียกได้ว่าเป็นพี้นที่ของตระกูลนี้มาตลอด 30 ปี และเป็นตระกูลที่ส่งผู้เข้าแข่งขันสำคัญในสนามเลือกตั้ง กทม. ฝั่งตะวันตก ชนกับตระกูล อยู่บำรุง ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่นเสมอมา แต่เรียกว่าสับเปลี่ยนคนในตระกูลกันมารักษาตำแหน่งระดับ กทม. ในเขตบางบอนไว้ได้จนสมัยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ราชเทวีวงศ์กำแหงแชมป์ 6 สมัย (2533 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด กลุ่มประชากรไทย กลุ่มมดงาน และพรรคประชาธิปัตย์น่าสนใจว่าเขตกลางเมืองอย่างราชเทวี ยกมือให้นักร้องและนักแสดงในอดีตที่ใครหลายคนคุ้นหน้าตา แต่อาจไม่รู้ว่าเดินบนเส้นทางการเมืองท้องถิ่นและสนใจงานเพื่อสังคมมาหลายสมัยแล้ว
หนองจอกอิสระเสรีพงษ์แชมป์ 6 สมัย (2528 – 2537 และ 2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด กลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า กลุ่มบ้านมิตรภาพ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยหนองจอกก็เรียกได้ว่าอยู่กับตระกูลเจ้าของโรงสีไฟกิจเจริญ โรงสีข้าวในพื้นที่มานานหลายปี นอกจากนายไพฑูรย์ที่เป็น ส.ก. แล้ว พี่ชาย นายไพโรจน์ ก็เคยเป็น ส.ส. เขตหนอกจอกในสังกัดพรรคเพื่อไทยอยู่ 2 สมัย
หนองแขมอยู่บำรุงแชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคมวลชน พรรคประชากรไทย กลุ่มพัฒนาหนองแขม และพรรคเพื่อไทยในการชนกับตระกูลม่วงศิริ เรียกได้ว่าตระกูลอยู่บำรุงเอาชนะได้ในเขตหนองแขมมาตลอด ซึ่งคงไม่มีใครไม่คุ้นนามสกุลนี้ ตั้งแต่รุ่นพ่อ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ที่เป็น ส.ส. และ รมว. หลายสมัย มาถึงลูกชาย นายวัน อยู่บำรุง ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. เขตบางบอน-หนองแขมอยู่ในสภาในสังกัดพรรคเพื่อไทย ส่วนระดับท้องถิ่นก็มีญาติครองตำแหน่ง ส.ก. หนองแขมมาจนสมัยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
มีนบุรีมีนชัยนันท์แชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยตระกูลคหบดีเก่าเมืองมีนบุรี ประกอบธุรกิจหลายแขนง โดยนาย วิชาญ มีนชัยนันท์ เป็นคนแรกของตระกูลที่เริ่มเข้าสู่สนามเลือกตั้ง กทม. ตั้งแต่ปี 2528 ในตำแหน่ง ส.ข. และได้รับเลือกเป็น ส.ก. ในปี 2537 ก่อนส่งไม้ต่อให้นายวิรัตน์เป็น ส.ก. มาจนสมัยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่วนนายวิชาญไปเป็น ส.ส. เขตมีนบุรีในปี 2544 ที่ได้รับเลือกติดกัน 4 สมัย
ยานนาวาเศตะพราหมณ์แชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย
ลาดกระบังสำเร็จวาณิชย์แชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทยจริงๆ ตระกูลนี้เริ่มเข้าสนามการเมืองท้องถิ่นในเขตลาดกระบังมาตั้งแต่ นาย วิบูลย์ สำเร็จวาณิชย์ (2518) ที่น่าสนใจคือในการเลือกตั้งปี 2562 ตระกูลนี้ส่ง อา-หลาน มาชนกันเองในสนามเลือกตั้ง ส.ส. คือ นายวิสูตร ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ กับ ดร. ธีรรัตน์ ลูกสาวของนายวิบูลย์ ในสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งสุดท้าย ดร. ธีรรัตน์ ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตลาดกระบัง ไปนั่งอยู่ในรัฐสภา
ภาษีเจริญนิติภานนท์แชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคกิจสังคม และพรรคประชาธิปัตย์คนภาษีเจริญน่าจะคุ้นหน้ากันดี นายสุธามีบทบาทอย่างมากในการเป็น ส.ก. เคยเป็นประธานสภากทม. และมีชื่อเข้าชิงตำแหน่งนี้หลายครั้ง ในอดีต ยังเคยเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและเคยร่วมทีมเลือกตั้งเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นผู้สมัครอิสระ
ห้วยขวางบุญช่วยเหลือแชมป์ 5 สมัย (2537 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัดปัจจุบัน ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตดินแดง-ห้วยขวางในสังกัดพรรคเพื่อไทย และล่าสุด ได้รับแต่งตั้งจาก กมธ. ป.ป.ช. ให้เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติและการทุจริตของนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
สาทรปิยนนทยาแชมป์ 5 สมัย (2533 – 2537 และ 2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคพลังธรรม และพรรคประชาธิปัตย์
ทวีวัฒนาแสวงสุขแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์
บางรักลาภปรารถนาแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์หลังจากครองตำแหน่ง ส.ก. มาหลายสมัย แต่ในปี 2556 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติให้นายพิพัฒน์พ้นจากสมาชิกภาพ จากกรณีฝ่าฝืนมติที่ประชุม ส.ก. ของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานสภากทม. และเมื่อปี 2557 ถูกทหารคุมตัวเข้ากองปราบฯ ปมเรียกรับเงินวินจักรยานยนต์
ประเวศเชิดชูกิจกุลแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์เป็นตระกูลที่มีฐานเสียงแน่นหนาในเขตประเวศจากการลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านสูง จะเห็นได้จากเมื่อเขตประเวศมีการเพิ่มจำนวน ส.ก. เป็น 2 คน นายธนวัฒน์ น้องชายนายกิตพล ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของชาวประเวศเลย ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ก. อีกคน
ป้อมปราบศัตรูพ่ายจึงเลิศศิริแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ตำแหน่ง ส.ก. ป้อมปราบศัตรูพ่าย เริ่มจากการที่นางเจิมมาศ คนในพื้นที่ที่ตั้งใจอยากเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็น ส.ก. 2 สมัยติด ก่อนที่จะผันตัวไปเป็น ส.ส. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เอาชนะนายศิริ หวังบุญเกิด เจ้าของพื้นที่เดิม จากพรรคไทยรักไทย ได้และเป็น ส.ส. ติดกันถึง 3 สมัย พร้อมส่งไม้ต่อให้สามี นายเอก รับตำแหน่ง ส.ก. ต่อแทน
ราษฎร์บูรณะโชติกะสุภาแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์หลังจากรับตำแหน่ง ส.ก. มานาน ในการเลือกตั้ง 2562 ลงสมัคร ส.ส. เขตราษฎร์​บูรณะ-ทุ่งครุ​ ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย แต่ไม่ได้รับเลือก และล่าสุด ประกาศตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย
สัมพันธวงศ์กาญจนชูศักดิ์แชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ครอบครัวกาญจนชูศักดิ์เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ในวงการการเมืองมาตลอด ตั้งแต่รุ่นพ่อนายวินัย กาญจนชูศักดิ์ ที่ทำงานและช่วยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง นายพินิจ ลูกชายคนโตที่ลงสมัครและได้รับเลือกเป็น ส.ก. เขตสัมพันธวงศ์ ขณะที่น้องสาวนางอรอนงค์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส. สัมพันธวงศ์ 2 สมัย ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ตระกูลกาญจนชูศักดิ์ ยังมีอีกบ้านหนึ่งที่เป็นสนับสนุนพรรคไทยรักไทย โดยรุ่นพ่อ นายส่ง กาญจนชูศักดิ์ เป็นเจ้าของค่ายมวยชื่อดังและเถ้าแก่โรงงานมันสำปะหลังแห่งย่านเยาวราช ส่วนลูกสาว นางอรทัย กาญจนชูศักดิ์ (ฐานะจาโร) ก็เคยได้รับเลือกเป็น ส.ก. พรรคพลังธรรม และ ส.ส. บัญชีรายชื่อในสังกัดพรรคไทยรักไทย
สะพานสูงมะหะหมัดแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด กลุ่มพลังไทย และไทยรักไทย-เพื่อไทยปัจจุบันเป็น ส.ส. เขตสะพานสูง สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และยังเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ
คันนายาวคันนายาวแชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด กลุ่มพลังไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ แล้ว ตระกูลนี้เริ่มตั้งแต่รุ่นแม่ คือนางยุพดี วิภัติภูมิประเทศ เป็นอดีต ส.ก.เขตจตุจักร (2533-2537) และเป็นผู้บริหารโรงเรียนสอนขับรถยูพีดีชื่อดัง และยังเป็นหลานของพลเรือโท โรช วิภัติภูมิประเทศ อดีตสส. ชลบุรี และ รมว. กลาโหม ปัจจุบันนายพลภูมิได้รับตำแหน่งเป็น ส.ส. เขตคันนายาว ในสังกัดพรรคเพื่อไทย ขณะที่นางชญาดา ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี จากการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ
บางนาบำรุงรักษ์แชมป์ 4 สมัย (2541 – 2557) ได้รับเลือกในสังกัด กลุ่มพลังไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน อยู่ในกลุ่มรักษ์กรุงเทพ (เขตบางนา) ที่ได้ชื่อว่าเป็นกองหนุนพล.ต.อ.อัศวิน

คน กทม. ได้-เสีย อะไร กับเกือบ 8 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้ง ส.ก.

ไหนๆ ก็อยู่กันมานาน มาทบทวนดูกันอีกทีก่อนเปลี่ยนผ่านว่า ส.ก. ชุดล่าสุดที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 จำนวน 30 คน พวกเขาได้ปฏิบัติภารกิจหลักในฐานะ ส.ก. ในการเสนอแนะ (ญัตติ) และติดตามตรวจสอบ (กระทู้) ฝ่ายบริหารเรื่องอะไรบ้าง ตลอด 7 ปีกว่าที่ผ่านมา

น่าสนใจว่า สำหรับการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร มีการเสนอญัตติครั้งแรกในสภา กทม. เมื่อปี 2563 โดย นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล เพื่อตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยตอนนั้นคาดการณ์ว่าเราจะได้เลือกตั้งกันภายในปี 2564 ส่วนการเปิดอภิปรายทั่วไป เกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้งในรอบ 7 ปีเท่านั้น เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

ผลงานเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ คน กทม. ได้มา (?) จากผู้รับหน้าที่ ส.ก. แต่งตั้งชุดล่าสุด แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสูญเสียไปจากการ ‘ดอง’ เลือกตั้งมานานหลายปี คือความเสียหายในการพัฒนากลไกทางประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาจไม่ได้มีสิทธิ์กำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพตามแบบที่พวกเราอยากให้เป็น

หากเป็นไปตามกำหนดการล่าสุดที่คาดการณ์กัน ชาว กทม. ทุกคนจะได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือก ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. กันในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ อยากให้ทุกคนใช้สิทธิและการตัดสินใจของตัวเองให้เต็มที่ หลังจากที่เราถูกแช่แข็งสิทธิและเสียงของประชาชนมาเกือบ 8 ปี

ดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับ ส.ก. ได้ที่ https://docs.google.com/spreadsheets/d/1GhQmu1LWDmtZgUtELmG_PeR6JcQMhRLpC_FSJLplfPw

อ้างอิงข้อมูลจาก