Content by

Productive Hackathon: แฮกอย่างไรให้ได้ไปต่อ

Hackathon ไม่ใช่คำใหม่อีกต่อไปแล้ว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการใช้คำนี้ทั้งในแวดวงของเทคโนโลยี งานดีไซน์ โปรเจกต์เพื่อสังคม หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ

เชื่อว่าหลายๆ คน พอเห็น Hackathon ผุดขึ้นมากมายทุกปี คงอดที่จะตั้งคำถาม (เหมือนเรา) ไม่ได้ว่า การเอาหลายๆ คนมานั่งรวมกัน ใช้เวลาตั้งหลายชั่วโมง มันจะสามารถนำไปสู่ทางออกของปัญหา หรือทางเลือกใหม่ๆ ได้จริงแค่ไหน?

หนังสือ We The Possibility เขียนโดย Mitch Weiss พูดถึงกรณี Hacking Heroin ที่ Annie Rittgers นักศึกษาจาก Harvard และประชาชนชาว Ohio พยายามช่วยหาทางแก้ปัญหาเฮโรอีนในเมือง Cincinnati ที่มีมายาวนาน แต่ดูอไม่มีใครแก้ได้สักที ไม่ว่าจะมาตรการภาครัฐหรือการรณรงค์ภาคประชาชน

ในเมื่อวิธีเดิมๆ มันไม่เวิร์ก Rittgers เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมองหาไอเดียใหม่ๆ ผ่านการจัด Hackathon ซึ่งเธอรู้ดีว่ามันมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจและอยากหยิบมาเล่าให้ฟังสำหรับใครก็ตามที่คิดจะจัด Hackathon ในอนาคต คือข้อดี ข้อควรระวัง และ Checklist ที่ทีม Hacking Heroin แชร์ไว้ให้ฟัง

แน่นอน Hackathon มันมีข้อดี (ถ้าจัดได้มีประสิทธิภาพ)

  1. จากการเก็บข้อมูลใน US พบว่า Hackathon สามารถเร่งอัตราการเกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ขององค์ได้ถึง 25–50% (เร็วเท่าตัว) ดังนั้น ในแง่นโยบาย ก็แปลว่าจะมีไอเดียใหม่ๆ ให้ทดลองใช้เร็วขึ้นได้เช่นกัน
  2. ช่วยลดงบประมาณในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น Hackathon ของ US General Service Administration ในปี 2015 ลดการใช้งบในโครงการนั้นไปได้ถึง $500,000
  3. เป็นโอกาสในการรวมคนที่อาจจะไม่มีโอกาสได้เจอกันให้มาเจอกันได้ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายคนที่ทำงานหรือสนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และเกิดการทำงานร่วมกันในอนาคต
  4. สร้างวัฒนธรรมและความรู้สึกในการมีส่วนร่วม เกิดการร่วมมือกันระหว่างคนในองค์กรเอง ระหว่างภาครัฐ-ประชาชน หรือระหว่างเครือข่ายการทำงาน
https://www.facebook.com/hackingheroin

ส่วนข้อควรระวังที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการจัด Hackathon ก็คือ

  1. ส่วนใหญ่ไอเดียที่เกิดขึ้นใน Hackathon บางทีก็ไม่ได้เหมาะกับการใช้จริง หรือปรับใช้ได้เลยกับระบบที่มีอยู่ (Feasibility)
  2. บ่อยครั้งที่ไอเดียเหล่านั้นไม่ถูกพัฒนาต่อ เกิดความไม่ยั่งยืน (Sustainability) เคยมีงานวิจัยการจัด Hackathon ใน New York City พบว่า มีเพียง 35% ของโปรเจกต์ทั้งหมดที่จัดขึ้นเท่านั้น ที่มีการดำเนินการต่อหลังงานจบ
  3. คนเข้าร่วม Hackathon ไม่ได้เป็นตัวแทนของสังคมจริงๆ (เช่น เพศ เชื้อชาติ กลุ่มความเชื่อ ชนชั้นทางสังคม ฯลฯ) ทำให้ไอเดียหรือทางออกที่ออกมา หรือถูกเลือกใช้ ไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือหรือสนับสนุนคนทุกกลุ่มในสังคม
  4. บางที Hackathon ไม่ใช่คำตอบของทุกคำถาม เทคโนโลยีไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ดังนั้นต้องวางความคาดหวังให้ดี

เพื่อป้องกันข้อควรระวังเหล่านั้น ทีมที่จัด Hacking Heroin เลยทำ Checklist 6 ข้อ สำหรับการจัด Productive Hackathon

  1. ปักหมุดเป้าหมายให้ชัด (Settling on challenges): หลายๆ ครั้ง เราอาจจะคิดว่า Hackathon คือการเบรนสตอร์มไอเดีย แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้ากำหนดโจทย์กว้างจนเกินไป มันก็ยากสำหรับคนเข้าร่วมและจบงานก็อาจไม่ได้อะไร แต่ถ้าแคบเกินไป ก็อาจจะได้ทางออกที่เจาะจงเกินไป คล้ายๆ กันหมด หรือปรับใช้ไม่ได้จริงขนาดนั้น ในกรณีของ Hacking Heroin แทนที่จะหว่านปัญหาทั้งหมดลงไปในงาน พวกเขาเลือกปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดมาให้ 8 ข้อที่เกิดขึ้น แล้วให้คิดทางแก้ให้ 8 ปัญหานี้แทน
  2. เตรียมและช่วยให้เข้าถึงข้อมูล (Getting the right data): ถ้าโยนให้ไปแต่โจทย์ปัญา คนเข้าร่วมก็ต้องเริ่มต้นจากการงมทางออกในมหาสมุทร ดังนั้น การเตรียมแหล่งข้อมูลอะไรที่น่าจะเกี่ยวข้องไว้ให้เบื้องต้น ก็จะช่วยให้เขาลองเช็คได้ไว้สิ่งที่เขาคิดมันเวิร์คไหม แต่ก็ต้องระวังว่าไม่โยนให้มากจนเกินไป เพราะคนเข้าร่วมอาจจะใช้เวลานานเกินไปกับการศึกษาข้อมูลที่เตรียมไว้ให้ อย่างกรณี Hacking Heroin พวกเขาเลือกทำงานร่วมกับทีมที่ทำ Open City Data ของ Cincinnati ที่มี Heroin Dashboard และข้อมูลเมืองอื่นๆ อยู่แล้ว และคอยทำหน้าที่อธิบายพร้อมอำนวยความสะดวกให้ทีมผู้เข้าร่วมเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
  3. รวบรวมผู้คนที่เกี่ยวข้องให้ครบ (Gathering the crowd): เลือกวิธีในการเข้าร่วม ซึ่งเป็นไปได้ทั้แบบออฟไลน์ (เจอตัว แล้วเอาให้จบ) หรือออนไลน์ ซึ่งเปิดกว้างกว่า แต่นอกจากผู้เข้าร่วมแล้ว อย่าลืมคนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนวงใน (Insiders) ที่สามารถอธิบายปัญหานั้นๆ ได้ชัดเจน และมีความรู้ความเข้าใจ (Firsthand Knowledge) ที่จะตอบข้อสงสัยของผู้เข้าร่วมได้ รวมถึงคนวงนอก (Outsiders) ที่อาจจะต้องนำทางออกเหล่านี้ไปใช้ต่อ พวกเขาจะได้ช่วยแชร์บริบทอื่นๆ หรือมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ผู้เข้าร่วมได้
  4. สร้างแรงจูงใจที่หลากหลาย (Rewarding attendees): จริงๆ แล้วผู้เข้าร่วมอาจจะมีจุดประสงค์หลากหลายและแตกต่างกัน (Intrinsic & Extrinsic Motivation) บางคนก็ฟินกับการช่วยเหลือคนอื่น บางคนคาดหวังการได้รู้จักคนและสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมด้วย บางคนอยากเก็บงานที่ทำเป็นโปรไฟล์ หรือเงินรางวัลก็เป็นความคาดหวังของบางคน ดังนั้น การเตรียมของรางวัลหรือแรงจูงใจไว้ให้ตอบโจทย์หลากหลายความตั้งใจก็จะเป็นเรื่องดี
  5. เลือกวิธีตัดสินอย่างฉลาด (Evaluating submissions): การกำหนดเกณฑ์และเลือกคณะกรรมการตัดสินนั้น จริงๆ แล้วมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของ Hackathon เพราะถ้าคิดไอเดียใหม่ๆ ไป แต่กฎเกณฑ์และกรรมการยังยึดติดหรือเชื่อในวิธีเดิมๆ ไอเดียเหล่านั้นก็จะไม่ถูกเลือก ลองมองหาคนที่เปิดรับทางเลือกใหม่ๆ สร้างสรรค์พอจะแนะนำได้ แต่ก็อยู่ในการทำงานจริงจนเห็นภาพชัดพอว่าสิ่งที่จะถูกนำไปใช้ต่ออย่างไรมาช่วยกันออกแบบกติกากัน
  6. หาหนทางให้ไปต่อ (Sustaining solutions): อย่าลืมว่า.. ทุกคนมีงานหลักที่ต้องทำ และต้องแยกย้ายกันไปเติบโต ดังนั้น ทีมที่จัดงานต้องเตรียมแผนไว้ว่า จะมีวิธีในการซัพพอร์ตทีมที่ชนะไอเดียอย่างไร และถ้าทีมที่ชนะ ไม่มีเวลาหรือแรงพอจะทำต่อ จะให้ใครมาช่วยดูแลต่อ

ในกรณีของ Hacking Heroin มีผู้เข้าร่วม 9 ทีม (ประมาณ 30 คน) และมีคนทำงานจากหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย มีไอเดียเกิดขึ้นมากมายในงานนั้น บางอย่างเวิร์ค บางอย่างไม่เวิร์ค แต่สุดท้ายก็มีทีมที่พัฒนาจนกลายเป็นบริษัท สร้างแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลและความช่วยเหลือแบบเรียลไทม์กับผู้ป่วยที่ต้องการการเยียวยาจากเฮโรอีน และทำให้ Cincinnati เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นได้

https://insights.cincinnati-oh.gov/stories/s/dm3s-ep3u

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จาก Hacking Heroin ไม่ใช่แค่เพียงแนวคิดในการออกแบบ Hackathon ให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่เราจะเห็นว่าการแก้ปัญหาที่แก้มาเป็นหลายสิบปีแล้วแก้ไม่ตก ก็เพราะยึดติดกับวิธีคิดวิธีทำเดิมๆ

การทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ มันทำได้และควรทำ เพื่อเมืองที่ดีกว่า น่าอยู่กว่า ปลอดภัยกว่า