สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นในการ #เลือกตั้ง66 เมื่อเทียบกับ #เลือกตั้ง62 ก็คือจำนวนเว็บไซต์รายงานผลการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง
แม้ครั้งนี้ #WeVisElection66 อาจไม่ได้ทำงานในส่วนนี้ (เพราะเราเห็นคนทำเยอะแล้ว) แต่จะขอลองรับบทมิตรสหายท่านนึง พาทุกคนไปสำรวจว่าในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา พวกเราได้ลุ้นระทึกผ่านเว็บไซต์หน้าตาแบบไหนบ้าง
จำนวนเว็บไซต์รายงานผลเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเยอะมาก!
เท่าที่สืบค้นได้ เมื่อ 4 ปีก่อน มีเว็บไซต์รายงานผลประมาณ 7 เจ้า คือ
- Workpoint (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Today) : https://vote.workpointnews.com
- BBC Thai : https://www.bbc.com/thai/other-news-47637736
- The MATTER x ELECT : https://elect.thematter.co
- Vote62 : https://election.vote62.com/visual
- Voice TV : เว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว
- The Standard : เว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว
- ThaiPBS : เว็บไซต์ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว
แต่ในการเลือกตั้งรอบนี้ มีถึง 14 เจ้า ซึ่งรวมถึงองค์กรที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. ด้วย (ใครพบเจอมากกว่านี้ สามารถแจ้งมาได้)
ภาพรวมเว็บไซต์เลือกตั้ง 66
ออกตัวก่อนว่า เราไม่ได้จะมารีวิวว่าเว็บไซต์ไหนดีหรือไม่ได้อย่างไร เพราะทุกเว็บไซต์ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง แต่สิ่งที่เราสนใจคือความหลากหลายในการเลือกแสดงผล และฟังก์ชันที่สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละสำนักคาดการณ์ว่าสังคมจะให้ความสนใจกับประเด็นอะไร อย่างเช่นการที่หลายเว็บไซต์พร้อมใจกันมีฟังก์ชันให้ลองจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่สังคมถกเถียงกันมาตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ในเบื้องต้น ถ้าคุณอยากรู้ผลเลือกตั้งว่าแต่ละเขตใครชนะ ใครแพ้ ได้คะแนนเท่าไหร่ ทุกเว็บไซต์สามารถให้คำตอบได้ แต่สำหรับคนที่ต้องการวิเคราะห์เจาะลึกกว่านั้น สามารถเลือกดูได้ตามลิสต์ต่อไปนี้
ThaiPBS : https://election66.thaipbs.or.th
Nation : https://election66.nationtv.tv/
CH7HD : https://www.ch7.com/election2566
The MATTER : https://thvote66.thematter.co
The Standard : https://election2566.thestandard.co
Thairath : https://www.thairath.co.th
Today : https://vote66.workpointtoday.com
Voice TV : https://vote66.voicetv.co.th
กกต. : https://www.ectreport.com
Vote62 : https://www.vote62.com
BBC Thai : https://www.bbc.com/thai/65587536
Matichon : http://election.matichon.co.th
Dailynews : https://election66.dailynews.co.th
3Plus News : https://ch3plus.com/news/election66
Visual : ลักษณะแผนที่
สำหรับเว็บไซต์ที่มีการแสดงผลด้วยแผนที่ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ
- แผนที่แสดงจำนวนเขตเลือกตั้ง: เป็นที่นิยมมากกว่า เพราะเป็นภาพที่สะท้อนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา พรรคที่ได้ที่นั่งเยอะ ก็จะปรากฏสีของพรรคนั้นเยอะตามไปด้วย
- แผนที่แสดงพื้นที่จริง: มีแนวโน้มจะทำให้คนเข้าใจผิดได้มากกว่า เพราะขนาดของสีไม่ได้แสดงถึงจำนวนที่นั่ง แต่แสดงถึงพื้นที่ของแต่ละเขต นั่นหมายความว่าถ้าพรรคชนะในพื้นที่ใหญ่กว่าอย่างจังหวัดในภาคอีสาน ก็จะทำให้ภาพรวมดูมีสีของพรรคนั้นเยอะ แม้จำนวน ส.ส. ที่ได้ จะมี 1 คนเท่ากัน แต่มีประโยชน์สำหรับคนที่จำลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้แม่น เพราะสามารถพุ่งสายตาไปดูที่จุดนั้นได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งพาการอ่านชื่อจังหวัดเหมือนแบบแรก
จะเห็นว่าบางเว็บไซต์มีการแก้ปัญหาจุดอ่อนของแผนที่แบบแรก ไม่ว่าจะเป็นการรองพื้นด้วยรูปแผนที่จริง (CH7HD และ Thairath) การลากเส้นแบ่งภาค เพื่อให้หาพื้นที่ที่สนใจได้ง่ายขึ้น (Nation และ The Standard) หรือการที่มีให้เลือกดูได้ทั้ง 2 แบบ (TheMATTER)
Visual : ชาร์ทสรุปสัดส่วน ส.ส.
พบการใช้งานชาร์ททั้งหมด 4 แบบที่แต่ละเว็บใช้สรุปจำนวน ส.ส. (เรียงลำดับตามความนิยม)
- Parliament Chart : ใช้จำนวนสี่เหลี่ยม/วงกลมแสดงจำนวนที่นั่งของแต่ละพรรค โดยจัดเรียงตัวเป็นครึ่งววงกลม คล้ายแผนผังที่นั่งในสภา
- Waffle Chart : ใช้จำนวนสี่เหลี่ยม/วงกลม เช่นเดียวกับ Parliament Chart แต่จัดเรียงตัวเป็นสี่เหลี่ยมตามกริด
- Stacked Bar Chart : ใช้ความยาวสีภายในแท่งเดียวกัน แสดงสัดส่วนที่นั่งของแต่ละพรรค
- Treemap : ใช้พื้นที่แสดงสัดส่วนที่นั่งของแต่ละพรรค
Visual : สี
แม้ว่าทุกพรรคจะมีรหัสสีประจำองค์กรที่ใช้ในการสื่อสารทำแคมเปญอยุ่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะไม่ได้เลือกเฉดให้ตรงตามรหัสสีเหล่านั้นเท่าไหร่ ซึ่งจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นกับพรรคที่ใช้รหัสสีใกล้เคียงกันอย่างสีน้ำเงิน และสีเหลือง ทำให้หลายเว็บไซต์เลือกที่จะปรับเฉดใหม่ให้แยกแยะได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั้งการเลือกเปลี่ยนเป็นสีอื่นไปเลย
ถ้าให้วิเคราะห์ด้วยตาเปล่า พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ดูจะเป็นพรรคที่แต่ละเว็บไซต์เลือกใช้เฉดได้ใกล้เคียงกันที่สุด ส่วนในภาพรวม เว็บไซต์ของ CH7HD เลือกใช้สีโทนเข้มที่สุดในบรรดาเว็บไซต์ทั้งหมด
Function : ลองจัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่าจะมีถึง 5 เว็บไซต์ที่ใจตรงกันในการสร้างฟังก์ชันนี้ แต่ก็มีจุดแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น Nation มีสูตรจับขั้วให้เลือกดู ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับคนที่ยังไม่มีไอเดียใดๆ ในขณะที่ The Standard, Today, CH7HD เปิดให้คนเลือกส่วนประกอบได้เองอย่างอิสระ ส่วน ThaiPBS มีทั้ง 2 แบบและสามารถแชร์ผลลัพธ์แต่ละสูตรได้
Function : เจาะดูรายภาค
เป็นฟังก์ชันที่ถูกใช้งานเยอะในการเลือกตั้งรอบนี้ หลังจากหลายจังหวัดในภาคใต้ได้แสดงอภินิหารโหวตสวนกระแสสังคม แต่นอกเหนือจากซูมเข้าไปดูเป็นรายภาคแล้ว มีบางเว็บไซต์ที่เลือกแสดงผลแตกต่างออกไป เช่น เว็บไซต์ Nation ที่เลือกใช้ Scatter Chart ในการแสดงภาพรวมจำนวนที่นั่งของแต่ละภาคภายในภาพเดียว และเว็บไซต์ Thairath ที่เลือกใช้ Pie Chart
Function : ดูเขตแข่งขันสูง/ช้างชนช้าง
ถ้าดูจากจำนวนเขตที่เว็บไซต์แสดงเมื่อคนเลือกใช้ฟังก์ชันนี้ จะเห็นว่าแต่ละเว็บไซต์มีการนิยามขอบเขตของเขตแข่งขันสูง/ช้างชนช้างที่แตกต่างกัน บางเว็บไซต์อาจใช้จำนวนผลคะแนนล่าสุดที่แตกต่างกันน้อยเป็นเกณฑ์ ในขณะที่บางเว็บไซต์คัดเลือกจากการเป็นเขตที่มี ส.ส. คนเดิม/นามสกุลเดิม ครองพื้นที่มาโดยตลอด
ฟังก์ชันพิเศษที่เว็บอื่นไม่มี
- The MATTER : สามารถเลือกดูตามนโยบายได้ ว่าพรรคที่สนับสนุนนโยบายเหล่านี้ ชนะในพื้นที่แบบไหนบ้าง
- ThaiPBS : สามารถเจาะดูเฉพาะพื้นที่อย่างอำเภอเมือง และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ รวมถึงสามารถดูผลคะแนนบัญชีรายชื่อในรายพื้นที่ได้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้สอดคล้องกับหลักการคำนวณที่นั่ง เพราะต้องใช้คะแนนรวมของทั้งประเทศ แต่ก็เป็นฟังก์ชันที่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการโหวตของคนแต่ละพื้นที่ได้ดี
- Nation : การแสดงผลคะแนนรายเขตแบบ 3 มิติ และสามารถแชร์ลิงค์เฉพาะเขตที่เลือกได้
- Vote62 : เปิดให้อาสาสมัครอัปโหลดรูป และช่วยกรอกคะแนนได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นจุดประสงค์หลักในการทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมา ยิ่งกว่าการแสดงผลเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการนับคะแนนของ กกต.
- CH7HD : สามารถเปรียบเทียบผลเลือกตั้งระหว่าง 2 พรรคได้
- Matichon : สามารถเปรียบเทียบผลเลือกตั้งระหว่าง 2 พรรคได้เหมือน CH7HD เพียงแต่ไม่มีแผนที่