KNOW YOUR RIGHTS
KNOW YOUR RIGHTS

MENU

รู้จักสิทธิ
ใน ICCPR

เรียนรู้ประเด็นสิทธิต่าง ๆ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง กับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
1.1

"สิทธิในชีวิต เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย"

ICCPR ข้อ 6
สิทธิในชีวิต

หลักการสำคัญ

1

"ห้ามพรากชีวิตโดยพลการ" มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตมาตั้งแต่กำเนิดและจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้บุคคลใดมาละเมิด หรือทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ ตลอดจนกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการวิสามัญฆาตกรรม โดยไม่ผ่านขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต

2

ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต ควรใช้เฉพาะกับอาชญา กรรมร้ายแรงที่สุด (Most serious crime) เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย เป็นต้น ทั้งนี้ ห้ามใช้โทษประหารชีวิตกับบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีตั้งครรภ์

3

สิทธิในการมีชีวิตเป็นสิทธิที่ไม่อาจถูกพรากไปได้ และต้องได้รับการปกป้องเสมอ

1.2

"สิทธิในชีวิต เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย"

ICCPR ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9
เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย

หลักการสำคัญ

1

บุคคลต้องไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติหรือถูกลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดย “การทรมาน” หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่า กระทำต่อร่างกายหรือจิตใจ

2

“การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี” หมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือการเพิกเฉยละเลยซึ่งเป็นการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดโดยเจตนา ซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำที่ทำให้บุคคลทุกข์หรือเจ็บปวด ทั้งนี้ บุคคลจะต้องไม่ถูกทรมานไม่ว่าด้วยการกระทำใด ๆ โดยกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจให้ได้รับความเจ็บปวดอย่างรุนแรง

3

"บุคคลจะต้องไม่ถูกนำตัวไปเป็นทาส และใช้แรงงานบังคับ" หมายถึง บุคคลจะตกเป็นทาสเมื่อถูกบังคับให้ทำงาน ผ่านการคุกคามทางจิตใจหรือร่างกาย โดยมีเจ้าของ หรือควบคุมโดยนายจ้าง โดยปกติแล้วผ่านการทารุณกรรมทางจิตใจหรือร่างกายหรือการข่มขู่ ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ถูกปฏิบัติเหมือนสินค้า หรือถูกซื้อและขายเหมือนเป็นทรัพย์สิน และถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของตน

4

“การใช้แรงงานบังคับ” หมายถึง งานหรือบริการทุกชนิดที่บุคคลถูกบีบบังคับให้กระทำโดยใช้บทลงโทษ และบุคคลดังกล่าวไม่ได้สมัครใจที่จะทำงานหรือให้บริการนั้น

5

"ห้ามจับกุม หรือคุมขังโดยมิชอบหรือโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม" โดยการจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจ หมายถึง การจับกุมหรือควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมิอาจคาดคะเนได้ หรือปราศจากมูลของกฎหมาย อาจหมายความรวมถึงการดำเนินการตามกฎหมายแต่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หลักความได้สัดส่วน และหลักความจำเป็น ถ้าบุคคลที่จะถูกจับได้ขัดขวางหรือหลบหนี เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้วิธีการป้องกันได้เท่าที่เหมาะสมแก่ พฤติการณ์ในขณะนั้น จะใช้กำลังเกินสมควรแก่เหตุมิได้ และจะต้องควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกจับหลบหนีเท่านั้น

2.1

สิทธิในกระบวน การยุติธรรม

ICCPR ข้อ 9
สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล

หลักการสำคัญ

1

มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพที่จะไม่ถูกกักขัง และมีสิทธิในความปลอดภัยของร่างกายที่จะไม่ถูกทำให้บาดเจ็บทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงไม่มีใครสมควรถูกจับกุมหรือกักขังโดยปราศจากเหตุและกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ

2

บุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งเหตุผลในการจับกุม ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับการแจ้งข้อหาในการจับกุมครั้งนั้นทันทีด้วยภาษาที่บุคคลนั้นเข้าใจได้

3

บุคคลที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวจะต้องถูกนำตัวไปยังศาลเพื่อพิจารณาคดีภายในระยะเวลาอันรวดเร็วนับแต่ที่ถูกจับกุม โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดไว้ว่าจะต้องนำตัวไปยังศาลภายใน 48 ชั่วโมง

4

บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจะต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว และมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาโดยศาลอาจกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวให้มีหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี โดยไม่ให้ถือเป็นหลักว่าจะต้องมีการคุมขังบุคคลไว้ระหว่างการพิจารณา เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ก่อความเสียหายประการอื่น หรือหากได้ปล่อยตัวไปแล้วจำเลยจะมีพฤติการณ์หลบหนี โดยการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาของศาลเป็นเวลาที่ยาวนานนั้นกระทบต่อสิทธิของบุคคลเสมือนว่าบุคคลนั้นถูกลงโทษให้คุมขังแล้วนั่นเอง

2.2

สิทธิในกระบวน การยุติธรรม

ICCPR ข้อ 14
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

หลักการสำคัญ

1

ผู้ต้องหาและจำเลยซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยฝ่ายรัฐมีหน้าที่จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานมายืนยันจนปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นได้กระทำความผิดจริง และหากยังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา จะปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

3

เสรีภาพในที่อยู่ อาศัย/การเดินทาง

ICCPR ข้อ 12
เสรีภาพในที่อยู่อาศัย/การเดินทาง

หลักการสำคัญ

1

บุคคลที่อาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายในรัฐใดก็ตามย่อมมีอิสระในการเดินทาง โยกย้าย และตั้งถิ่นฐานในดินแดนของรัฐนั้น นอกจากนี้ บุคคลนั้นยังมีเสรีภาพที่จะเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงประเทศภูมิลำเนาของตนได้ แต่เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพื่อเหตุผลความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งนี้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพในการเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาของตนตามอำเภอใจมิได้

4

สิทธิในความเป็นส่วนตัว

ICCPR ข้อ 17
สิทธิในความเป็นส่วนตัว

หลักการสำคัญ

1

บุคคลจะต้องได้รับความคุ้มครองจากการแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน และการสื่อสารโดยพลการหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการได้รับความคุ้มครองจากการลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2

สิทธิในความเป็นส่วนตัว เป็นสิทธิที่จะอยู่โดยลำพังปราศจากการรบกวนแทรกแซงให้น้อยที่สุด ซึ่งในปัจจุบันอาจรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนได้ แต่รัฐอาจมีมาตรการหรือดำเนินการที่เป็นการแทรกแซงหรือรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ มาตรการหรือการดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้สัดส่วนระหว่างวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุและผลกระทบที่เกิดขึ้น

5.1

เสรีภาพในการแสดงออก

ICCPR ข้อ 19 (1)
สิทธิในเสรีภาพการมีความคิดเห็น

หลักการสำคัญ

1

ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซง เสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งช่วยในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความคิดเห็นและเป็นฐานสำคัญของการได้รับสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เช่น สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและสมาคม และเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ

2

สิทธิในเสรีภาพการมีความคิดเห็นไม่อาจถูกแทรกแซง หรือจำกัดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือเรื่องอื่นใด

5.2

เสรีภาพในการแสดงออก

ICCPR ข้อ 19 (2)
เสรีภาพในการแสดงออก

หลักการสำคัญ

1

เสรีภาพในการแสดงออก จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนและวิธีการแสดงออก ไม่ว่าจะด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร รูปแบบของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อใด รวมถึงผ่านอินเทอร์เน็ต

2

เสรีภาพแห่งการแสดงออก อาจถูกจำกัดได้ภายใต้เงื่อนไขของข้อ 19 วรรค 3 กล่าวคือ

  • (1) ต้องกำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งกฎหมายต้องมีความชัดเจน คาดหมายได้ เข้าถึงได้ และไม่เลือกปฏิบัติ
  • (2) จำเป็นต่อการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยสาธารณะหรือการสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้รัฐใช้ข้อจำกัดด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว
  • (3) ต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน กล่าวคือ มาตรการจำกัดต้องกระทบสิทธิน้อยที่สุด ได้สัดส่วนเหมาะสมกับประโยชน์ที่ต้องการคุ้มครอง

6

การห้ามสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชัง

ICCPR ข้อ 20 วรรค 2

หลักการสำคัญ

1

การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

2

ข้อ 20 วรรค 2 สอดคล้องและเกื้อกูลกันกับเสรีภาพในการแสดงออก (ICCPR ข้อ 19) ด้วยเหตุนี้ การจำกัดที่ถือว่าสมเหตุผลตามข้อ 20 จะต้องสอดคล้องกับข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 วรรค 3 ด้วย แต่ที่ต่างกันคือ ข้อ 20 วรรค 2 นั้น กำหนดให้รัฐจะต้องออกข้อห้ามตามกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ แต่การจำกัดตามข้อ 19 วรรค 3 รัฐจำเป็นต้องหาเหตุผลมาประกอบการห้ามอย่างเคร่งครัด

3

ข้อ 20 วรรค 2 ถือเป็นประเภทหนึ่งของวาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) ในระดับที่ร้ายแรงที่สุด

4

เอกสาร The UN Strategy and Plan of Action on Hate Speech (2020) ได้อธิบายถึง “วาจาสร้างความเกลียดชัง” ว่าเป็นการแสดงออกที่เป็นการโจมตี เหยียดหยาม หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลหรือกลุ่มบนพื้นฐานของปัจจัยด้านอัตลักษณ์ (identity factor) ซึ่งนอกจากอัตลักษณ์ทางชาติ เผ่าพันธ์ หรือศาสนาแล้ว ยังรวมถึงอัตลักษณ์อื่น ๆ เช่น ภาษา ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เอชไอวี หรืออื่น ๆ

7

สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

ICCPR ข้อ 21

หลักการสำคัญ

1

ทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แต่สิทธิดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ โดยกฎหมายเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ การสาธารณสุขและศีลธรรมอันดี หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

2

การชุมนุมที่ถูกรับรองตาม ICCPR ข้อ 21 มีลักษณะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนโดยปราศจากความรุนแรง มีจุดมุ่งหมายหรือการแสดงออกบางอย่างเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการชุมนุมจำนวนมากอาจไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือความรู้สึก แต่การชุมนุมโดยสงบบางครั้งก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่สะดวกสบาย เช่น การจราจรติดขัดหรือผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ รัฐจึงต้องรักษาดุลยภาพระหว่างสิทธิในการชุมนุมและสิทธิอื่น ๆ ของบุคคลอื่นไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดสิทธิในการชุมนุม เช่น เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ รัฐพึงระลึกเสมอว่าสิทธิอื่น ๆ ของผู้ชุมนุมยังต้องได้รับการคุ้มครอง (CCPR/G/GC no 37)

8.1

เสรีภาพในการรวมกลุ่ม

ICCPR ข้อ 22

หลักการสำคัญ

1

ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการรวมกลุ่ม รวมทั้งสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องประโยชน์ของตน สิทธิดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ โดยกฎหมายเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ การสาธารณสุขและศีลธรรมอันดี หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

8.2

เสรีภาพในการรวมกลุ่ม

คำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน ข้อ 2

หลักการสำคัญ

1

สมาชิกทุกประเทศแม้แต่ประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาที่กล่าวถึงต่างมีพันธะหน้าที่อันเกิดจากการเป็นสมาชิกขององค์การนั้นจะต้องเคารพส่งเสริมและทำให้เป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นจริงโดยสุจริตใจและเป็นไปตามธรรมนูญ

8.3

เสรีภาพในการรวมกลุ่ม

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ (ILO 111) ข้อ 1

หลักการสำคัญ

1

การเลือกปฏิบัติ หมายความรวมถึงการมีข้อแตกต่าง การกีดกัน หรือการอ้างอิงใดบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว รากเหง้า หรือต้นกำเนิดทางสังคม ซึ่งมีผลกระทบให้เกิดความไม่เท่าเทียม ทั้งหมดหรือบางส่วน ในการได้รับโอกาสหรือการปฏิบัติในการจ้างงานหรือจัดหาอาชีพ ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขในการจ้างงาน

9.1

สิทธิในการมีส่วนร่วม

ICCPR ข้อ 25
สิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ

หลักการสำคัญ

1

พลเมืองย่อมมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมโดยตรงในการดำเนินกิจการสาธารณะ ผ่านการเข้าร่วมการประชุม และตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาท้องถิ่นหรือกิจการของชุมชน ซึ่งรัฐไม่ควรแบ่งแยกหรือสร้างความแตกต่างในการมีส่วนร่วมของพลเมืองต่อสิทธิดังกล่าว และไม่ควรกำหนดข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผล

2

สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในกระบวนการตัดสินใจ รวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมเมื่อกิจการสาธารณะเกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้อง รับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ อย่างโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลความคิดเห็นและความต้องการของจะถูกนำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริหารงานของภาครัฐ (CCPR/G/GC no 25)

9.2

สิทธิในการมีส่วนร่วม

ICCPR ข้อ 25
สิทธิในการลงคะแนนเสียง

หลักการสำคัญ

1

สิทธิในการลงคะแนนเสียง เป็นสิทธิของประชาชนในการที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งต่าง ๆ เพื่อแสดงบทบาทหน้าที่ของตนในการมีส่วนร่วมบริหารปกครองประเทศผ่านผู้แทนที่ตนเลือก โดยข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น อายุขั้นต่ำ การศึกษา ถิ่นที่อยู่ หรือเชื้อชาติ จะต้องเป็นตามหลักเกณฑ์ที่เป็นกลางและมีความสมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ (CCPR/G/GC no 25)

9.3

สิทธิในการมีส่วนร่วม

ICCPR ข้อ 25
สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเสมอภาค

หลักการสำคัญ

1

การได้รับบริการสาธารณะจากรัฐเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนสามารถได้รับสิทธิและเข้าถึงสิทธินั้นโดยเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามความเท่าเทียมเสมอภาคไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติที่เหมือนกันในทุกกรณี มาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรค หรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

10.1

สิทธิของกลุ่มเปราะบาง

ICCPR ข้อ 26
สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

หลักการสำคัญ

1

การเลือกปฏิบัติ (discrimination) คือ การปฏิบัติที่แตกต่างโดยการกีดกัน จำกัด ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มหนึ่งด้วยเหตุผลทาง เชื้อชาติ สีผิว เพศ รสนิยมทางเพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สถานะทางเศรษฐกิจ ชาติกำเนิด สุขภาพ หรือสถานภาพอย่างอื่น และมีวัตถุประสงค์หรือผลกระทบ (Purpose or Effect) ในเชิงอุปสรรคหรือเป็นการลดทอนการใช้สิทธิและเสรีภาพทั้งหลายของบุคคลนั้นบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน (CCPR/C/GC/ no 18)

2

ข้อมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights) ที่ 1995/44 และที่ 1996/43 ยืนยันว่า “สถานภาพอย่างอื่น” ในบทบัญญัติเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติ จะต้องตีความโดยหมายความรวมถึงสถานภาพทางสาธารณสุขรวมทั้งเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์

3

มาตรการหรือนโยบายที่มีลักษณะเป็นกลาง (neutral) ใช้กับทุกคนเหมือนกัน จะไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรง แต่หากมาตรการหรือนโยบายนั้นส่งผล (effect) ให้บุคคลบางกลุ่มที่มีลักษณะเปราะบางและเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบและเกิดความไม่เท่าเทียมกันบุคคลอื่นก็ถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยอ้อม (Indirect discrimination)

10.2

สิทธิของกลุ่มเปราะบาง

ICCPR ข้อ 23
สิทธิในการสร้างครอบครัวและสิทธิในการแต่งงาน

หลักการสำคัญ

1

สิทธิในการสร้างครอบครัว และสิทธิในการแต่งงาน เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน แม้ว่ากติกา ICCPR จะระบุถึงสิทธิของชายและหญิงในการมีสิทธิที่จะตัดสินใจเรื่องการสมรสหรือการมีคู่ได้โดยอิสระ ไม่ถูกบังคับ โดยรัฐมีหน้าที่ประกันสิทธิในการแต่งงานและสร้างครอบครัวโดยการออกกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลให้เกิดความเสมอภาค

2

ปัจจุบันนานาประเทศได้ยอมรับความหลากหลายในวิถีทางเพศ เช่น บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่มีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม หรือ บุคคลที่มีเพศกำกวม รวมถึงกลุ่ม LGBTQIA สอดคล้องกับมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติกา ICCPR และ IESCR ได้ลงความเห็นคำว่าเพศ หมายรวมถึงคำว่า วิถีทางเพศ ซึ่งรัฐควรต้องส่งเสริมมิให้อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงสิทธิ

10.3

สิทธิของกลุ่มเปราะบาง

ICCPR ข้อ 27
สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า หรือชนกลุ่มน้อย

หลักการสำคัญ

1

กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า หรือชนกลุ่มน้อย มีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในการรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง และสิทธิในการใช้ประโยชน์และร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ สิทธิในวัฒนธรรมยังอาจรวมไปถึงการได้ดำรงชีวิตในรูปแบบดั้งเดิม เช่น การอยู่อาศัย ทำมาหากิน ในพื้นที่ดั้งเดิม และสิทธิที่จะอาศัยในเขตสงวน โดยรัฐอาจต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเชิงบวกในการคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า หรือชนกลุ่มน้อย (CCPR/C/GC/ no 23)

Except where otherwise noted, this work is licensed under a
Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives
4.0 International