Content by

นายก อบจ. แบบไหน ที่คนไทย (เหมือนจะ) ชอบ?

หลังจากที่ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 หนึ่งในการเลือกตั้งใหญ่ที่พรรคการเมืองต่างขับเคี่ยวหาเสียงและเสนอนโยบายอย่างดุเดือดเลือดพล่านผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ในการแย่งชิงคะแนนเสียงและที่นั่งในสภาให้ได้มากที่สุดเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ เตรียมตัวพบการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับการเลือกตั้งทั่วไป นั่นคือการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ’การเลือกตั้ง อบจ.’ หนึ่งในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่หาคนเข้ามาพัฒนาและกำหนดนโยบายภายในจังหวัด โดยประชาชนในจังหวัดจะเป็นผู้เลือก นายก อบจ. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)

ก่อนออกไปเลือกตั้ง เรามารู้จักกันก่อนว่า ‘นายก อบจ.’ คือใคร มาจากไหน และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบ้าง ?

‘นายก อบจ.’ ย่อมาจาก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเขตรับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัดในทุก ๆ จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยในแต่ละจังหวัดจะมีนายก อบจ. 1 คน มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในจังหวัดที่ซึ่งจะได้เลือกพร้อมกันกับ ส.อบจ.

’นายก อบจ.’ จะมีวาระการทำงานคราวละ 4 ปี อยู่ในวาระติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระหรือไม่เกิน 8 ปี โดยสามารถกลับมาเป็น ’นายก อบจ.’ ได้อีกหลังจากที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว 4 ปี

นายก อบจ. มีหน้าที่ตั้งแต่

  1. กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาจังหวัดในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา สังคมสงเคราะห์ สาธารณสุข วัฒนธรรม หรือแม้แต่การท่องเที่ยวและกีฬา
  2. แก้ไขปัญหาภัยพิบัติภายในจังหวัด เช่น น้ำท่วม ปัญหาฝุ่น
  3. ดูแลปัญหาในด้านสาธารณูปโภคที่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อบต. ไม่สามารถจัดการได้ อาทิ ซ่อมถนน ลงเสาไฟฟ้า
  4. สร้างพื้นที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัด
  5. พัฒนาอาชีพและระบบการศึกษาในจังหวัด
  6. ทำงานร่วมกับ ‘ส.อบจ.’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
  7. พิจารณาและออกกฎหมายของ อบจ. ที่เรียกว่า ‘ข้อบัญญัติ อบจ.’
  8. จัดเก็บภาษีรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายในจังหวัด

อ่านมาถึงตรงอาจจะสงสัยว่า ‘นายก อบจ.’ กับ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ แตกต่างกันอย่างไร อำนาจและหน้าที่ทับซ้อนกันหรือไม่ ? WeVis ขอเล่าสรุปตามตางรางข้างล่างนี้

ประเด็นความแตกต่างนายก อบจ.ผู้ว่าราชการจังหวัด
ประเภทของราชการราชการส่วนท้องถิ่นราชการส่วนภูมิภาค
สังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย
ที่มาการเลือกตั้งโดยประชาชนกระทรวงมหาดไทยเป็นคนแต่งตั้ง
วาระการดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ โดยกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นที่ตำแหน่งจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะย้ายหรือจนกว่าเกษียณอายุราชการ
แนวคิดของรูปแบบการปกครองกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (Decentralization)
ท้องถิ่นปกครองและบริหารด้วยตัวเอง
รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและควบคุมอำนาจท้องถิ่นได้ (Centralization)
อำนาจหน้าที่บริหารราชการและดูแลคนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ผ่านกลไกของท้องถิ่นบริหารราชการตามที่นายกฯ ครม. หรือส่วนกลางมอบหมาย และกำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

โดยสรุปแล้ว นายก อบจ. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของจังหวัดได้ด้วยตัวเองจากหลักการการกระจายอำนาจ ถึงแม้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีไม่มากเท่ากับราชการส่วนภูมิภาค แต่ก็เปิดโอกาสให้คนหลาย ๆ คนอยากจะเข้ามาใช้อำนาจส่วนนี้พร้อมกับตำแหน่งนายก อบจ. อยู่ไม่น้อย

ย้อนอดีตกันสักนิด หลังจากการเลือกตั้ง ‘อบจ.’ ในสมัยที่ผ่านมาเมื่อ 20 ธันวาคม 2563 นายก อบจ. แบบไหนที่คนไทยเคยเลือก (หรือเคยชอบด้วย) ?

ต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะได้เป็นเหมือนคนที่เคยถูกเลือก ?

ผู้ที่สามารถลงสมัครเป็น ‘นายก อบจ.’ ได้นั้นจะต้องมีอายุ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จากสถิติ นายก อบจ. ในสมัยที่ผ่านมา พบว่าคนที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ‘นายก อบจ.’ นั้น

  • มักอยู่ในเจเนอเรชัน Baby Boomer หรืออายุ 59 ปีขึ้นไป ถึง 51 คน คิดเป็นร้อยละ 67.1 ของนายก อบจ. ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นเพศสภาพชาย 43 คน และเป็นเพศสภาพหญิง 7 คน
  • อยู่ในเจเนอเรชัน X หรืออายุตั้งแต่ 43-58 ปี จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 28.9 แบ่งเป็นเพศสภาพชาย 16 คน และเพศสภาพหญิง 6 คน
  • และอยู่ในเจเนอเรชัน Y หรืออายุตั้งแต่ 27-42 ปี จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 5.2 แบ่งเป็นเพศสภาพชาย 2 คน และเพศสภาพหญิง 2 คน
  • โดยคนที่อายุมากสุดคือ นายสุนทร วิลาวัลย์ ’นายก อบจ. ปราจีนบุรี’ อายุ 85 ปี (2567)
  • และอายุน้อยสุดคือ นายสีหราช สรรพกุล ’นายก อบจ. ระนอง’ อายุ 37 ปี (2567)

ต้องเป็นเพศสภาพไหน ถึงจะถูกใจใช่เลย ?

พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องเพศสภาพในการลงเลือกตั้ง ถือกุม หรือสามารถเล่นการเมืองได้ แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติของ ‘นายก อบจ.’ ที่กำลังดำรงตำแหน่ง พบว่ามี ‘นายก อบจ.’ ที่มีเพศสภาพเป็นชายถึง 61 คน หรือเท่ากับร้อยละ 80.2% ของ‘นายก อบจ.’ ทั้งหมด

ในขณะที่เพศสภาพหญิงที่ได้เป็น ’นายก อบจ.’ จะมีเพียง 15 คน หรือเท่ากับร้อยละ 19.7 ของ ‘นายก อบจ.’ ทั้งหมด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บึงกาฬ พระนครศรีอยุธยา มหาสารคาม ลพบุรี ลำปาง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ

อย่างไรก็ดี ในเหล่า นายก อบจ. หญิงที่มีจำนวนหยิบมือนี้ กลับเป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนหนึ่งมักมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นหรือในระดับชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

รายชื่อ นายก อบจ. ที่เป็นผู้หญิง

ชื่อนามสกุลจังหวัดข้อสังเกต
เฉลิมขวัญหล่อตระกูลกาฬสินธุ์ลูกสาวของ ยงยุทธ หล่อตระกูล อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์
จิตร์ธนายิ่งทวีลาภาชัยนาทเป็นพี่สาวของอนุชา นาคาชัย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินและเป็นพี่สาวของอนุสรณ์ นาคาชัย นายก อบจ. คนก่อนหน้า
สุรีวรรณนาคาศัยชัยภูมิเป็นภรรยาของสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส. พรรคภูมิใจไทย
อทิตาธรวันไชยธนวงศ์เชียงรายลูกสาวของสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีตสส. พรรคภูมิใจไทย
ศุภพานีโพธิ์สุนครพนมลูกสาวของ ศุภชัย โพธิ์สุ สส. นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย
ยลดาหวังศุภกิจโกศลนครราชสีมาภรรยาของวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
กนกพรเดชเดโชนครศรีธรรมราชภรรยาของ วิฑูรย์ เดชเดโช อดีตนายก อบจ. นครศรีธรรมราช / มารดาของ ชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์
แว่นฟ้าทองศรีบึงกาฬภรรยาของทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงหมาดไทย พรรคภูมิใจไทย (อยู่ในวาระ)
สมทรงพันธ์เจริญวรกุลพระนครศรีอยุธยามารดาของ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ สส. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 3
คมคายอุดรพิมพ์มหาสารคามภรรยาของยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อดีต สส. ภูมิใจไทย
อรพินจิระพันธุ์วาณิชลพบุรีสามีเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย และเป็นพี่สะใภ้ของ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ผู้สมัคร ส.ส.ลพบุรี เขต 2 พรรคภูมิใจไทย
ตวงรัตน์โล่ห์สุนทรลำปางลูกสาว ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย
นันทิดาแก้วบัวสายสมุทรปราการอดีตภรรยาของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม
สุกานดาปานะสุทธะสมุทรสงคราม
วันเพ็ญตั้งสกุลอำนาจเจริญ

ข้อเท็จจริงนี้สามารถสะท้อนได้หรือไม่ว่า เพศสภาพหญิงที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ มีแนวโน้มที่จะถูกเลือกเป็น นายก อบจ. น้อยกว่า ?

จะหน้าตาแบบไหนก็ไม่มีสิทธิชนะใจ ‘หน้าเดิม ๆ’ ?

จากการการเลือกตั้ง นายก อบจ. ในปี 2563 และในปีต่างๆ ที่มีการเลือกตั้งซ่อม พบว่ามี ‘นายก อบจ.’ หน้าเดิม มากถึง 40 จังหวัด คิดเป็น 53 % ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ตาก นครสวรรค์ นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี โดยเรียงลำดับความเป็นหน้าเดิมดังนี้

  • จังหวัดเดียวที่มีแชมป์หน้าเดิมถึง 7 สมัยคือ กระบี่ !!
  • จังหวัดที่มีหน้าเดิม 6 สมัย มี 3 จังหวัด คือเพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ และขอนแก่น
  • จังหวัดที่มีหน้าเดิม 5 สมัย มี 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด นราธิวาส หนองคาย และอุทัยธานี
  • จังหวัดที่มีหน้าเดิม 4 สมัย มี 9 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สกลนคร อ่างทอง และอุตรดิตถ์
  • จังหวัดที่มีหน้าเดิม 3 สมัย มี 10 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี พิษณุโลก เพชรบุรี แพร่ แม่ฮ่องสอน ระยอง สตูล สระบุรี สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี
  • จังหวัดที่มีหน้าเดิม 2 สมัย มี 12 จังหวัดได้แก่ ปทุมธานี กำแพงเพชร ชุมพร ตาก นครสวรรค์ พัทลุงมหาสารคาม ยโสธร ราชบุรี ลพบุรี สุโขทัย และอุดรธานี

แม้ว่าระยะเวลาในการทำงานของ ’นายก อบจ.’ จะมีวาระการทำงานคราวละ 4 ปี และอยู่ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระหรือ 8 ปี และจะสามารถกลับมาลงสมัคร ’นายก อบจ.’ ใหม่ได้หลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว 4 ปี แต่ก็มักจะมีตัวแทนที่ดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ’นายก อบจ. หน้าเก่า’ ปรากฎผ่านเครือญาติ เช่น

  • จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา ‘นายก อบจ. ชัยนาท’ เป็นพี่สาวของอนุสรณ์ นาคาชัย ‘อดีตนายก อบจ. ชัยนาท’
  • สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ ‘นายก อบจ.ประจวบฯ’ มีน้องชายเป็นนายทรงเกียรติ ลิ่มอนุรักษ์ ‘อดีตนายกอบจ. ประจวบฯ’
  • นันทิดา แก้วบัวสาย ‘นายก อบจ.สมุทรปราการ’ มีอดีตสามีคือชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ‘อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ’
  • และ ศุภวัฒน์ เทียนถาวร ‘นายก อบจ.สิงห์บุรี’ เป็นพี่ชายของสรกฤช เทียนถาวร ‘อดีตนายก อบจ.สิงห์บุรี‘

พรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ย้อนกลับไปในปี 2563 การเลือกตั้ง อบจ. จัดขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด แม้ว่าพรรคการเมืองจะสามารถประกาศว่าตัวแทนจากพรรคเป็นใครในแต่ละจังหวัด แต่ด้วยกฎเหล็กของ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2562 มาตรา 34 ที่ระบุสาระสำคัญว่า

“กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการการเมือง สส. สว. นายก อบจ. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใดๆ โดยมิชอบ ด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้กกต.สามารถระงับหรือยุติการเป็น ‘นายก อบจ.’ “

ทำให้หลายพรรคจึงไม่กล้าเปิดหน้าเปิดตาเพราะกลัวผิดกฎหมาย

เช่น

จนกระทั่งในปี 2566 ที่ได้มีการปรับแก้ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถเปิดหน้าหาเสียงได้อย่างเต็มที่ การเลือกตั้ง ’นายก อบจ.’ ที่จะมาถึงในช่วงต้นปีหน้า จึงอาจกลับมาดุเดือดเข้มข้นและเห็นนายกรัฐมนตรี สส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านช่วยกันหาเสียงให้ทั้งการเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ และ ‘นายก อบต.’ มากขึ้นเหมือนที่ ‘นายกฯ แพรธารทอง’ ช่วยลงพื้นที่หาเสียงให้กับนายธวัช สุทธวงค์ ผู้สมัครนายก อบจ.พะเยา จนได้รับชัยชนะในวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

มาดูกันว่า ’นายก อบจ.’ ในแต่ละจังหวัดที่กำลังดำรงตำแหน่งในช่วงปี 63-67 อยู่ในสังกัดใดและมีความสัมพันธ์กับพรรคไหนกันบ้าง

(Disclaimer: ข้อมูลนี้ได้มาจากการเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะจากสำนักข่าวต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก ผู้จัดการออนไลน์ เดลินิวส์ออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจ มติชน ไทยโพสต์ อิศรา สยามรัฐ BBC Post Today The Momentum ThaiPBS และThaiger โดยทำการเก็บข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด และสืบค้นตั้งแต่วันที่ 24-28 ตุลาคม 2567)
พรรคเพื่อไทย 22 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
กาญจนบุรีทีมพลังกาญจน์
กาฬสินธุ์เพื่อไทย
ขอนแก่นอิสระ
เชียงใหม่เพื่อไทย
นนทบุรีกลุ่มผึ้งหลวง
น่านเพื่อไทย
ปทุมธานีคนรักปทุม
พะเยาเพื่อไทย
แพร่เพื่อไทย
มุกดาหารเพื่อไทย
ยโสธรเพื่อไทย
ร้อยเอ็ดเพื่อไทย
ลำปางเพื่อไทย
ลำพูนเพื่อไทย
เลยกลุ่มพัฒนา
สกลนครกลุ่มเพื่อไทยสกลนคร
สมุทรสาครทีมคนทำงาน
สิงห์บุรีกลุ่มสิงห์บุรีคนดีเมืองน่าอยู่
สุพรรณบุรีอิสระ
อุดรธานีเพื่อไทย
อุตรดิตถ์กลุ่มรักอุตรดิตถ์บ้านเรา
อุบลราชธานีเพื่อไทย
พรรคภูมิใจไทย 21 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
กระบี่กลุ่มรักษ์กระบี่
ชัยภูมิอิสระ
เชียงรายอิสระ
นครพนมทีมร่วมใจนครพนม
นครราชสีมากลุ่มโคราชโฉมใหม่
นครสวรรค์กลุ่มพัฒนานครสวรรค์บ้านเรา
บึงกาฬกลุ่มนครนาคา
บุรีรัมย์กลุ่มเพื่อนเนวิน
ปราจีนบุรีอิสระ
พระนครศรีอยุธยาอิสระ
พังงากลุ่มร่วมสร้างพังงา
มหาสารคามอิสระ
ระนองทีมระนองก้าวหน้า
ลพบุรีกลุ่มเรารักลพบุรี
ศรีสะเกษอิสระ
สตูลกลุ่มสตูลสันติธรรม​
สุโขทัยอิสระ
สุรินทร์กลุ่มสุรินทร์รวมใจ
อ่างทองกลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด
อำนาจเจริญกลุ่มภูมิใจไทอำนาจ
อุทัยธานีกลุ่มคุณธรรม
พรรคพลังประชารัฐ 12 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
กำแพงเพชรกลุ่มกำแพงเพชรสามัคคี
ฉะเชิงเทราทีมแปดริ้วหน้าใหม่
ชลบุรีทีมเรารักชลบุรี
ตากกลุ่มพัฒนาตาก
พิษณุโลกกลุ่มพลังพิษณุโลก
เพชรบูรณ์ทีมรู้จักเข้าใจ รักเพชรบูรณ์
ราชบุรีทีมพัฒนาราชบุรี
สมุทรปราการกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า
สมุทรสงครามทีมร่วมรัฐพัฒนา
สระแก้วอิสระ
สระบุรีอิสระ
หนองคายกลุ่มรักหนองคาย
พรรคประชาธิปัตย์ 6 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
ตรังทีมกิจปวงชนคนใหม่
นครศรีธรรมราชทีมพลังเมืองนคร
ประจวบคีรีขันธ์ทีมประจวบโมเดล
ภูเก็ตทีมภูเก็ตหยัดได้
ระยองอิสระ
สงขลาประชาธิปัตย์
พรรครวมไทยสร้างชาติ 5 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
ชุมพรทีมพลังชุมพร
นราธิวาสอิสระ
พัทลุงกลุ่มพลังพัทลุง
เพชรบุรีทีมร่วมใจเพชร
หนองบัวลำภูกลุ่มรักหนองบัว
อิสระ 4 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
จันทบุรีอิสระ
ชัยนาทอิสระ
ตราดกลุ่มลูกเมืองตราด
นครนายกอิสระ
พรรคประชาชาติ 2 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
ปัตตานีอิสระ
ยะลากลุ่มยะลาพัฒนา
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
นครปฐมกลุ่มชาวบ้าน
แม่ฮ่องสอนอิสระ
พรรคกล้าธรรม 1 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
สุราษฎร์ธานีกลุ่มคนรักสุราษฎร์
ไม่แน่ชัด 1 จังหวัด
จังหวัดสังกัด
พิจิตรกลุ่มพัฒนาจังหวัดพิจิตร

‘นายก อบจ.’ แบบนี้ใช่ไหมที่คนไทย (เหมือน) จะเลือก ?

ข้อมูลคุณสมบัติของนายก อบจ. ในสมัยที่ผ่านมา อย่าง ช่วงอายุ เพศสภาพ ปัจจัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ หรือการสังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ อาจทำให้ ‘นายก อบจ.’ ที่คนไทยชอบเลือกนั้น มักเป็นชายสูงวัยหน้าเดิม ๆ หรือไม่ก็อาจมาจากตระกูลดังบ้านใหญ่ที่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง

ในฐานะประชาชน คุณอยากเห็นโฉมหน้าของ นายก อบจ. ในเขตพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ระหว่างผู้บริหารชุดเก่าที่มีประสบการณ์ หรือเปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ ได้เข้ามาทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาท้องถิ่นให้แตกต่างจากที่เคยเป็น ตัวเลือกนี้เกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้ง อบจ. 2568

เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตและนอกราชอาณาจักร เราจึงอยากเชิญชวนให้คุณกลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้ง อบจ. อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเลือกนักการเมืองท้องถิ่นที่คุณต้องการ

การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น จะทำให้ถูกตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง เสียสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือฝ่ายบริหารท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ภายใน 7 กุมภาพันธ์ 2568) โดยสามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

หรือ ‘แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์’ ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main

1 กุมภา กลับบ้าน เข้าคูหา เลือกกาคนที่ชอบ

บทความโดย

พีรกิตติ์ ศรีกุล – Project Coordinator Intern

อ้างอิง