Content by

ส่องสถิติเลือกตั้ง อบจ. 2563 รีวิวแบบตรงปก คนจังหวัดไหนใช้สิทธิเลือกตั้งฉ่ำ

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ‘การเลือกตั้ง อบจ.’ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ถือเป็นปรากฏการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ฉ่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเป็นการเลือกตั้ง ’อบจ.’ ทั่วทั้งประเทศเป็นครั้งแรก และเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 7 ปี หลังจากการรัฐประหารในปี 2557

เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว จึงทำให้นายก อบจ. ที่ควรหมดวาระในช่วงปี 2556 ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อจนถึงปี 2563

หลังจากวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ‘นายก อบจ.’ และ ‘สมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.)’ ที่เคยได้รับเลือกมาในปี 2563 ได้หมดวาระลงเป็นที่เรียบร้อย และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ในโอกาสนี้ WeVis ขอพาย้อนกลับไปดูการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ว่าสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นของคนไทยเป็นอย่างไร จังหวัดไหนโดดเด่นเรื่องการออกมาใช้สิทธิ และจังหวัดไหนคนมาน้อยจนน่าใจหาย

ย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2563 ทั้งประเทศมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29,274,372 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 46,573,974 คน หรือคิดเป็น 62.86% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.

ในจำนวนผู้ใช้สิทธินี้ มีบัตรเสีย 1,652,651 ใบ (5.6%) และมีบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,912,623 ใบ (6.5%)

เพื่อไม่ให้เสียเวลา มาดูกันว่าในช่วงการเลือกตั้ง อบจ. 2563 คนจังหวัดไหนและภาคไหน ใช้สิทธิเลือกตั้งมาก-น้อยที่สุดกันบ้าง เริ่มกันที่

10 จังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากสุด ได้แก่

จังหวัดร้อยละ
พัทลุง78.0
ลำพูน77.8
นครนายก75.7
สตูล74.2
เชียงใหม่71.9
นครปฐม71.6
แม่ฮ่องสอน71.1
ปัตตานี70.9
นราธิวาส70.3
กาญจนบุรี69.6

หมายเหตุ: จำนวนตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เป็นตัวเลขอัตราส่วนระหว่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของจังหวัดนั้น ๆ

10 จังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด ได้แก่

จังหวัดร้อยละ
นนทบุรี50.0
ชลบุรี53.5
สมุทรสาคร54.4
สุรินทร์55.5
บุรีรัมย์55.7
เพชรบูรณ์56.0
อุดรธานี56.7
ศรีสะเกษ56.8
ร้อยเอ็ด57.4
หนองบัวลำภู57.5
หมายเหตุ: จำนวนตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เป็นตัวเลขอัตราส่วนระหว่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของจังหวัดนั้น ๆ

และเมื่อมาเทียบเป็นค่าเฉลี่ยของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. แยกตามภาคจากมากไปน้อยจะได้เป็น

ภาคค่าเฉลี่ยของคนออกมาเลือกตั้งอบจ.
เหนือ68.6
ใต้68.3
ตะวันตก65.8
ตะวันออก63.0
กลาง62.4
ตะวันออกเฉียงเหนือ60.6
หมายเหตุ: จำนวนตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งของแต่ภาค เป็นตัวเลขอัตราส่วนระหว่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของภาคนั้น ๆ

หากย้อนดูข้อมูลการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 แบ่งตาม 6 ภูมิภาคจะได้ข้อมูลน่าสนใจดังนี้

  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในภาคเหนือคือ ลำพูน (77.8%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ อุตรดิตถ์ (61.8%)
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในภาคใต้คือ พัทลุง (78.0%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ ภูเก็ต (58.7%)
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในภาคตะวันตกคือ กาญจนบุรี (69.6%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ ประจวบคีรีขันธ์ (62.6%)
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในภาคตะวันออกคือ ฉะเชิงเทรา (69.4%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ ชลบุรี (53.5%)
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในภาคกลางคือ นครนายก (75.7%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ นนทบุรี (50%)
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ มุกดาหาร (68.1%) และจังหวัดที่มาเลือกน้อยที่สุดคือ สุรินทร์ (55.5%)

หากมองในภาพรวมในระดับประเทศ จะพบว่า

  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ พัทลุง มีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 78.0%
  • จังหวัดที่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดที่คือ นนทบุรี ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 50%
  • จังหวัดที่มีบัตรเสียเยอะที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน มีบัตรเสียถึง 22.5% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า คะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร นายก อบจ. หมายเลข 2 คือ ‘นางนันทิยา วงศ์วานิช’ ที่ในเวลาต่อมาพบว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ จากประวัติการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ครบ 1 ปี ทำให้คะแนนเสียงทั้งหมดที่เลือกนางนันทิยา ถูกนับเป็นบัตรเสีย

อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2563 การเลือกตั้ง อบจ. เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ใช่ว่าจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. พร้อมกันทั้งประเทศในต้นปี 2568 ด้วยเหตุเพราะว่าบางจังหวัดมีการเลือกตั้งซ่อม และในบางจังหวัดนั้น นายก อบจ. ชิงลาออกก่อนจะหมดวาระ

ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการที่นายก อบจ. ชิงลาออกก่อนหมดวาระ ว่าอาจเป็นเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการถูกร้องเรียน เนื่องจาก พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น นายก อบจ. หาเสียงหรือดำเนินการใด ๆ ในเชิงหาเสียงเลือกตั้งในระยะเวลา 180 วันก่อนครบวาระ และห้ามไม่ให้ผู้สมัครฯ หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น (มาตรา 65) ความหวาดกลัวข้อกฎหมายตรงนี้จึงทำให้ นายก อบจ. ไม่สามารถดำเนินการโครงการหรือหลีกเลี่ยงทำการเบิกจ่ายเงิน เพราะหากทำแล้วเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ อาจนำมาสู่การถูกดำเนินคดีอาญาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและชดเชยค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งได้
  2. เพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครคนอื่นยังไม่พร้อมลงหาเสียงหรืออาจรอให้นายก อบจ. คนปัจจุบันหมดวาระก่อน ส่งผลทำให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจในแง่ความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้งได้ รวมไปถึงปัจจัยในด้านความตื่นตัวของประชาชนที่อาจน้อยกว่า เพราะไม่มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการเลือกตั้งมากเท่าที่ควรจะเป็นจากทั้งสื่อหลักและสื่อท้องถิ่น หรืออาจติดธุระในวันเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในในเขตพื้นที่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตได้ ทำให้การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการออกไปใช้สิทธิจึงมีน้อยกว่าการเลือกตั้งหลังจากครบวาระ
  3. สาเหตุอื่น ๆ เช่น วิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ. อุดรธานีที่ลาออกเนื่องปัญหาสุขภาพ อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ. พะเยา (น้องชายของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า) ลาออกเพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า การเลือกตั้ง อบจ. 2568 จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563 เพราะมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นระหว่างวาระหรือมีการลาออกก่อนครบวาระของ นายก อบจ. ทำให้บางจังหวัดจัดการเลือกตั้งเพื่อเลือกนายก อบจ. คนใหม่ไปแล้ว หรือกำลังจะมีการเลือกตั้ง อบจ. ในเร็ว ๆ นี้

เมื่อสืบค้นข้อมูลของจังหวัดที่มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปแล้ว พบว่านายก อบจ. หน้าเดิมที่ลาออกก่อนหมดวาระได้รับการเลือกกลับมาเป็น นายก อบจ. สมัยใหม่ 12 จังหวัดจาก 25 จังหวัด นับเป็น 48% จากทุกจังหวัดที่มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปี 2567 และมีถึง 3 จังหวัดที่ไม่มีคู่แข่ง คือ ชุมพร อ่างทอง และอุทัยธานี ตามรายละเอียดด้านล่าง

สถิติจังหวัดที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567)

จังหวัดสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ปี 63สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกในปีที่การเลือกตั้งใหม่
(ช่วงปี 2565-2567)
สัดส่วนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่หายไปนายก อบจ. ปี 63. นายก อบจ. สมัยปัจจุบัน (เลือกตั้งในช่วงปี 2565- 2567) คนใหม่/คนเดิม ข้อมูลที่น่าสนใจ
ปทุมธานี58.637.521.1คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างคำรณวิทย์ ธูปกระจ่างคนเดิมเลือกตั้งซ่อมเพราะว่าชาญ พวงเพ็ชรถูกใบเหลืองจาก กกต.
ขอนแก่น59.350.29พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์วัฒนา ช่างเหลาคนใหม่สมาชิกพรรคเพื่อไทย และบิดาคือ นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 4 พรรคภูมิใจไทย
กาญจนบุรี69.647.222.3สุรพงษ์ ปิยะโชติประวัติ กิจธรรมกูลนิจคนใหม่
กาฬสินธุ์60.955.75.2ชานุวัฒน์ วรามิตรเฉลิมขวัญ หล่อตระกูลคนใหม่
ชัยนาท63.251.911.3อนุสรณ์ นาคาศัยจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภาคนใหม่พี่สาว สส.
พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พี่สาวของอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ. ชัยนาท
ชัยภูมิ60.723.337.4อร่าม โล่ห์วีระสุรีวรรณ นาคาศัยคนใหม่เป็นภรรยาของ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.พรรคภูมิใจไทย เขต 3
ชุมพร68.139.129.0นพพร อุสิทธิ์นพพร อุสิทธิ์ (ผู้สมัครคนเดียว)คนเดิมไม่มีคู่แข่ง
นครสวรรค์59.937.522.4สมศักดิ์ จันทะพิงค์สมศักดิ์ จันทะพิงค์คนเดิมได้รับการสนับสนุนจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย และมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานที่ปรึกษา รมช. มหาดไทย
พระนครศรีอยุธยา66.659.47.1สมทรง พันธ์เจริญวรกุลสมทรง พันธ์เจริญวรกุลคนเดิมลูกชายคือ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็น รมช. กระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และสส. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 3
พะเยา67.261.75.5อัครา พรหมเผ่าธวัช สุทธวงค์คนใหม่อยู่ในเครือข่ายพรรคการเมืองเดียวกันคือ พรรคเพื่อไทย และเป็นคนสนิทของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า
พิษณุโลก63.353.39.9มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์คนเดิมมีความสัมพันธ์อันดีกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลูกชายคือ อั้ม-อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ลงเลือกตั้งทั่วไปปี 66 พรรคพลังประชารัฐ
ยโสธร61.844.217.6วิเชียร สมวงศ์วิเชียร สมวงศ์คนเดิมลงในนามพรรคเพื่อไทย
ร้อยเอ็ด57.455.22.1เอกภาพ พลซื่อเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์คนใหม่
ระนอง64.850.114.7ธนกร บริสุทธิญาณีสีหราช สรรพกุลคนใหม่ได้รับการสนับสนุนจาก นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส. ระนอง พรรคภูมิใจไทย และเป็นอดีตนายกอบจ.ระนอง
ราชบุรี68.166.11.9วิวัฒน์ นิติกาญจนาวิวัฒน์ นิติกาญจนาคนเดิมสามีของนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส. เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ
เลย66.351.115.1ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณชัยธวัช เนียมศิริคนใหม่อิสระ/เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมาก่อน
สระแก้ว64.247.217ขวัญเรือน เทียนทองฐานิสร์ เทียนทองคนใหม่
สุโขทัย61.750.910.7มนู พุกประเสริฐมนู พุกประเสริฐคนเดิมพี่ชายนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
อ่างทอง64.746.817.9สุรเชษ นิ่มกุลสุรเชษ นิ่มกุล
(ผู้สมัครคนเดียว)
คนเดิมไม่มีคู่แข่ง
อุทัยธานี58.936.122.7เผด็จ นุ้ยปรีเผด็จ นุ้ยปรี
(ผู้สมัครคนเดียว)
คนเดิมไม่มีคู่แข่ง
อุดรธานี56.752.14.5วิเชียร ขาวขำศราวุธ เพชรพนมพรคนใหม่ลงในนามพรรคเพื่อไทย และมีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยปราศัยหาเสียง
นครศรีธรรมราช64.055.88.2กนกพร เดชเดโชวาริน ชิณวงศ์คนใหม่ลงสมัครในนามกลุ่มนครเข้มแข็ง สังกัดพรรคภูมิใจไทย
เพชรบุรี64.564.40.1ชัยยะ อังกินันทน์ชัยยะ อังกินันทน์คนเดิมสามีของนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สส. เพชรบุรี เขต 1 รทสช.
สุรินทร์55.553.072.4พรชัย มุ่งเจริญพรธัญพร มุ่งเจริญพรคนใหม่น้องสะใภ้ของพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ. สุรินทร์ และมีสามีคือนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส. เขต 1 พรรคภูมิใจไทย
กำแพงเพชร57.845.012.7สุนทร รัตนากรสุนทร รัตนากรคนเดิมพี่ชายของนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช. ว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงาน พปชร.
ตาก64.154.19.9ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจอัจรา ทวีเกื้อกุลกิจคนใหม่ภรรยาของธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตาก และลูกสะใภ้ของณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก
เพชรบูรณ์56.046.19.8อัครเดช ทองใจสดอัครเดช ทองใจสดคนเดิมลููกชายคือ นายอัคร ทองใจสด ส.ส.พลังประชารัฐ เขต 6 รวมถึงมีพ่อคือ เอี่ยม ทองใจสด เป็นอดีต สส. พลังประชารัฐ
อุบลราชธานี63.061.01.9กานต์ กัลป์ตินันท์กานต์ กัลป์ตินันท์คนเดิมน้องชายของเกรียง กัลป์ตินันท์ สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 6 และมีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยปราศัยหาเสียง
อุตรดิตถ์61.852.19.6ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดาชัยศิริ ศุภรักษ์จินดาคนเดิมได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย

จากสถิติพบว่า ในการเลือกตั้งก่อนครบวาระข้างต้น สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งลดลงจากเดิมทุกจังหวัด โดยมีค่าเฉลี่ยของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าปี 2563 ถึง 12.7% โดยจังหวัดที่สัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งลดลงมากที่สุด คือ ชัยภูมิ ที่แต่เดิมในปี 2563 มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 60.7% แต่ในปี 2567 ที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 23.3% หรือลดลงมากถึง 37.4%

จะเห็นได้ว่าการชิงลาออกก่อนหมดวาระเพื่อกลับเข้ามาเลือกตั้งใหม่ทำให้ความตื่นตัวของประชาชนลดน้อยถอยลงอย่างชัดเจน และมีผลทำให้นายก อบจ. หน้าเดิมได้อยู่อีกสมัยและสะสมอำนาจ ผูกขาดท้องถิ่นไว้กับเครือญาติต่อไป

ส่วนจังหวัดที่ได้ นายก อบจ. หน้าใหม่ในการเลือกตั้งซ่อม มีอยู่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยนาท พะเยา ชัยภูมิ ระนอง อุดรธานี นครศรีธรรมราช สุรินทร์ ตาก และเลย เป็นเหตุจากการแข่งขันที่ระหว่างพรรคการเมืองและบ้านใหญ่หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ นายก อบจ. คนเดิม

  • วัฒนา ช่างเหลา นายก อบจ. ขอนแก่น แม้จะลงในสมัครชิงนายกในนามพรรคเพื่อไทย แต่บิดา นายเอกราช ช่างเหลา เป็น สส. ขอนแก่น เขต 4 พรรคภูมิใจไทย
  • จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายก อบจ. ชัยนาถ เป็นพี่สาวของ อนุชา นาคาศัย สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พี่สาวของอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ. ชัยนาถ
  • ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ. พะเยา ชนะเพราะการผลักดันของพรรคเพื่อไทยและการสนับสนุนจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้เป็นพี่ชายของ อัครา พรหมเผ่า นายก อบจ. พะเยาคนก่อนหน้านี้
  • สุรีวรรณ นาคาศัย นายก อบจ. ชัยภูมิ เป็นภรรยาของ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.พรรคภูมิใจไทย เขต 3
  • สีหราช สรรพกุล นายก อบจ. ระนอง ได้รับการสนับสนุนจาก นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ อดีตนายก อบจ.ระนอง และ สส. ระนอง พรรคภูมิใจไทย
  • ศราวุธ เพชรพนมพร นายก อบจ. อุดรธานี ลงในนามพรรคเพื่อไทย และมีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยปราศัยหาเสียง
  • วาริน ชิณวงศ์ นายก อบจ. นครศรีธรรมราช ลงสมัครในนามกลุ่มนครเข้มแข็ง สังกัดพรรคภูมิใจไทย และเคยเป็นอดีตเลขานุการส่วนตัวของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และแกนนำพรรคภูมิใจไทย
  • ธัญพร มุ่งเจริญพร นายก อบจ. สุรินทร์ เป็นน้องสะใภ้ของพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ. สุรินทร์ และมีสามีคือนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส. เขต 1 พรรคภูมิใจไทย และน้องชายของพรชัย
  • อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ เป็น อดีตรอง นายก อบจ. ตาก ภรรยาของ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต สส.ตาก และลูกสะใภ้ของ นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก

มีเพียงจังหวัดเลยคือ นายชัยธวัช เนียมศิริ ที่เป็นนายก อบจ. หน้าใหม่ ไม่เคยลงเล่นการเมืองท้องถิ่นมาก่อน ทั้งนี้นายชัยธวัช เคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมาก่อน จึงยังจำต้องพึ่งพาฐานเสียงของนักการเมืองในพื้นที่อยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ หากนำสถิติการเลือกตั้งอื่น ๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 มีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 38,341,644 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,214,120 คนทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 74.8% มาเทียบกับการเลือกตั้ง อบจ. 2563 ที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 29,274,372 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,573,974 คน หรือคิดเป็น 62.8% มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิต่อผู้มีสิทธิห่างกันถึง 12% เพราะอะไรตัวเลขจึงหายไปมากขนาดนี้ ? เหตุผลที่มาสามารถอธิบายกรณีที่เกิดขึ้นนี้ อาจประกอบไปด้วย

  1. กกต. ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต และไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
  2. ข้อกังวลต่อการเสี่ยงติดโควิด-19 แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนและยกเลิกมาตรการ Lockdown ทั่วทั้งจังหวัดแล้ว แต่หลายจังหวัดยังอยู่ในการคุมเข้ม เนื่องจากยังเกิดคลัสเตอร์ตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น คลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาคร และคลัสเตอร์บ่อนการพนันในจังหวัดโซนภาคตะวันออก จึงมีการสั่งคัดกรองและระงับไม่ให้มีการเดินทางจากพื้นที่ดังกล่าว แม้ว่าจะมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเพื่อลดความแออัดและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนอุ่นใจมากพอที่จะเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งเพราะกังวลว่าอาจทำให้ตนเสี่ยงติดเชื้อได้
  3. การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ก่อนหยุดยาวช่วงปีใหม่ อาจทำให้หลายคนไม่สะดวกลางานเพื่อไปเลือกตั้งแล้วกลับมาทำงานอีกครั้ง แทนที่จะสามารถลางานกลับบ้านในช่วงหยุดยาวและไปเลือกตั้ง อบจ. ในคราวเดียวกัน
  4. ข้อสุดท้ายคือ คนอาจไม่ได้สนใจและไม่ตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเลือกไปแล้วไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นเพียงแต่หน้าเดิม ๆ นามสกุลเดิม ๆ

แม้อุปสรรคในปี 2563 จะมากมาย แต่ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ สถานการณ์ข้างต้นก็คลี่คลาย เป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่อีกครั้ง WeVis จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนกลับบ้านไปเลือกตั้ง อบจ. ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  1. งบประมาณ อบจ. มากจากภาษีที่เราจ่าย โดยรายได้หลักของ อบจ. มาจาก ‘ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ’ แล้วจัดสรรให้ท้องถิ่น รายได้ส่วนนี้มีสัดส่วนสูงที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% ของรายรับทั้งหมดของ อบจ. ในฐานะประชาชนผู้จ่ายภาษี คงน่าเสียดายหากไม่ออกไปใช้สิทธิเลือก นายก อบจ. ที่ถูกใจ เข้ามาบริหารงบประมาณในส่วนนี้
  2. เป็นการแสดงออกว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงจังหวัด หรือต้องการเห็นสิ่งใหม่ ๆ เช่น เปลี่ยนโฉมหน้า นายก อบจ. ที่อาจเน้นการรักษาตำแหน่งให้ตัวเองหรือเครือญาติมากกว่ามุ่งเน้นการพัฒนาจังหวัด
  3. นายก อบจ. เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในจังหวัดมากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มีภารกิจหลักเป็นตัวแทนของคนในจังหวัดไปพูดคุยในสภา ซึ่งต้องรอมติจากที่ประชุมรัฐสภาโดยใช้ระยะเวลานานกว่า โดย นายก อบจ. จะเป็นผู้ที่สามารถลงพื้นที่ได้โดยตรงและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เช่นเดียวกันกับผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ อย่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต.
  4. หากไม่ไปใช้สิทธิ เราอาจเสียสิทธิในการลงสมัครหรือเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองและการเข้าชื่อถอดถอนต่าง ๆ เพราะทำผิด พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นฯ สิทธิที่เสียไปมีทั้งสิ้น 6 ประการ ดังนี้
    • สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. สว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
    • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
    • เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
    • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
    • ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

‘นักการการเมืองจากบ้านใหญ่’ ‘คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย’ ปัญหานี้แก้ไขได้หากทุกคนพร้อมใจกันเปลี่ยนแปลง 1 กุมภาฯ เข้าคูหา กาเลือกนายก อบจ. ที่คุณต้องการ

บทความโดย

พีรกิตติ์ ศรีกุล – Project Coordinator Intern

อ้างอิง