‘ผมต้องไป เพราะระบบบอกให้ไป’
ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ชายไทยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องไปรับเลือกเกณฑ์ทหารยังต้องนั่งลุ้นจับใบดำใบแดงกันอยู่ หนึ่งในเกมเสี่ยงโชคของกองทัพไทยที่เกิดขึ้นทุก ๆ ต้นเดือนเมษายน คือการเกณฑ์กำลังพลไปรับใช้ชาติอย่าง ‘มีเกียรติมีศักดิ์ศรี’
จำนวนของทหารเกณฑ์ในแต่ละปีที่กองทัพต้องการ เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 89,517 นาย

*จำนวนความต้องการทหารเกณฑ์โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2563-2568 (ข้อมูลจากการชี้แจงของกองทัพบกต่อคณะกรรมาธิการทหาร)*
จาก ‘พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124’ ที่นับว่าเป็นการเกณฑ์ทหารครั้งแรกของสยาม และต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497’ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ กว่า 120 ปีที่กองทัพไทยยังมีการบังคับเกณฑ์ด้วยระบบ ‘ผมต้องไป เพราะระบบบอกให้ไป’ ตั้งแต่ จะได้เป็นทหารไหม ? แล้วถ้าได้เป็น จะต้องไปอยู่หน่วยไหน ? และไปทำอะไร ?
จากข้อมูลของระบบบังคับเกณฑ์ที่มีอย่างจำกัดนี้ เราขอชวนคุณไปคิดต่อว่า ‘ระบบเกณฑ์ทหาร’ ที่กองทัพไทยใช้อยู่ มี ‘เกณฑ์’ ในการเกณฑ์กำลังพลแบบไหน และตอบโจทย์ความต้องการกำลังพลของกองทัพได้จริงหรือไม่
แง้มดูหลักคิด ‘กองทัพไทยต้องการคนแบบไหน’ ?
หลักคิดพื้นฐานเมื่อองค์กรหนึ่ง ๆ ต้องการรับคนเข้าทำงาน คือวางเงื่อนไขว่า ‘เราต้องการคนแบบไหน’ และ ‘ไปทำงานอะไร‘ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่ตรงกับความต้องการ
นอกเหนือจากหลักเกณฑ์เรื่องอายุ สัดส่วนร่างกาย เงื่อนไขสุขภาพและจิตใจ และสถานะทางกฎหมายบางประเภท เช่น ไม่เป็นพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือได้รับการยกเว้นด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ดูเหมือนว่ากองทัพไทยยังไร้หมุดหมายของ ‘ลักษณะกำลังพลที่ต้องการ’ อย่างแน่ชัด

หลักคิดการได้มาซึ่งทหารเกณฑ์ของกองทัพ มีการกำหนดอย่างไรกันแน่ ?

พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 มาตรา 43(2) ระบุว่า ‘สภากลาโหม’ สามารถกำหนดว่าแต่ละปีต้องการกำลังพลมากเท่าไหร่
และจากข้อมูลเปิดฉบับ ‘ล่าสุด’ ของสภากลาโหมคือ ผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 9/2566 (พุธที่ 4 ตุลาคม 2566) (เขียนเมื่อ เมษายน 2567) มีเพียงแค่ผลการสรุปว่า
“มีการบรรจุและสรุปวาระสำคัญคือ การปรับปรุงรูปแบบการตรวจเลือกทหารกองประจำการ เพื่อนำไปสู่รูปแบบสมัครใจในอนาคต และปรับลดอัตราทหารกองประจำการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของกองทัพ “
โดยไม่ได้กล่าวถึงจำนวนและลักษณะของกำลังพลที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี จากระบบการเกณฑ์ที่ใช้มาแล้ว 120 ปีนี้ เรามีข้อมูลจากคำชี้แจงของผู้บัญชาการทหารบกต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในปี 2567 ที่กล่าวไว้ว่า
“กองทัพคำนวณอัตราการบรรจุกำลังพลจากจำนวนหน่วยที่มีอยู่ โดยแต่ละหน่วยจะต้องมีทหารเกณฑ์เข้าไปสังกัดหน่วยละ 9 คน “
ทำให้เราทราบถึงที่มาของจำนวนตัวเลขทหารเกณฑ์ที่กองทัพตั้งเป้าต้องการในแต่ละปีได้
แต่สิ่งที่กองทัพไม่ได้เปิดเผยและดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงในการให้คำตอบมาอย่างต่อเนื่องคือ กองทัพมี ‘จำนวนหน่วย’ เท่าไหร่ และเป็นหน่วยของ ‘สังกัด’ ไหนบ้าง
ในมุมนี้ เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า กองทัพระดมกำลังพลจากความต้องการของหน่วยผ่านการบังคับเกณฑ์ โดยสาธารณชนไม่สามารถรู้ถึงจุดประสงค์ของการเกณฑ์ว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ส่งผลทำให้เราไม่ทราบด้วยว่า แท้จริงแล้วกองทัพต้องการคนแบบไหน ? เพียงแค่มีร่างกายที่กำยำตามเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน หรืออยากได้คนที่มีความสามารถตรงกับหน่วยที่ต้องการรับไปเป็นกำลังพล ?
ไม่มีเกณฑ์ แต่คนไทยยังต้องเกณฑ์ ?
เมื่อกองทัพไม่ได้ ‘คัดเลือก’ คนเพื่อเข้าไปสังกัดหน่วยตามที่เปิดรับ (ซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่) ตามศักยภาพที่เหมาะสมกับสังกัดหน่วยนั้น ๆ แต่ ‘เกณฑ์’ เลือกผ่านการสุ่มพลทหารไปสังกัดหน่วยต่าง ๆ ที่ในบางครั้งก็เปิดโอกาสให้พลทหารแจ้งความประสงค์เลือกสังกัดหน่วยบ้าง หรือกำหนดหน่วยที่ต้องไปสังกัดให้เองตั้งแต่ต้นบ้าง
ในมุมนี้ กองทัพกำลังต้องการ ‘กำลังพล’ จริง ๆ หรือแค่ต้องการ ‘จำนวน’ ให้ครบตามที่กำหนด ? ถ้าหลักคิดยังไม่ประจักษ์ชัด วิธีเกณฑ์ที่ใช้อยู่จะสร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพได้มากแค่ไหน ?
ปรับเกณฑ์ในการเกณฑ์อย่างไร ให้ได้คนที่ใช่แบบชัวร์ ๆ

ถ้าประเทศไทยยังไม่มีไอเดียว่าจะเกณฑ์คนอย่างไร หรือยังไม่ชัดเจนว่าต้องการคนแบบไหน ลองมาดูว่าประเทศอื่นมีการออกแบบระบบกันอย่างไรบ้าง
หลายประเทศมีการออกแบบระบบเกณฑ์ทหารให้สอดคล้องกับความสามารถของคน เช่น การคัดเลือกจากความพร้อม ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือเปิดโอกาสให้คนเลือกหน่วยงานที่เหมาะกับตัวเอง ตัวอย่างเช่น
สิงคโปร์ ที่มีระบบเกณฑ์ทหารภาคบังคับ (National Service) แต่ให้ผู้เข้ารับการเกณฑ์เข้ารับการทดสอบและการประเมินทางร่างกายและจิตใจด้วยเงื่อนไข Physical Employment Standard (PES) ที่มีการวัดผลออกมาเป็นตัวคะแนนเพื่อจัดระดับความเข้มข้นของการฝึกและหน่วยงานที่เหมาะสมผ่าน 8 ระดับการวัดผล
หรือ เกาหลีใต้ ที่มีโปรแกรมทางเลือกสำหรับผู้มีทักษะเฉพาะ เช่น ‘Cyber Operations Command’ สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ หรือคนที่มีความสามารถด้านดนตรีสามารถเข้าร่วม ‘Military Band’ แทนการเข้าประจำการในหน่วยรบได้
หรืออย่าง อิสราเอล หนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการบังคับเกณฑ์ทหารโดยไม่จำกัดเพศสภาพ ซึ่งใช้ระบบ Selective Draft หรือการเกณฑ์ที่คัดสรรคนไปลงหน่วยต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้คนที่มีการศึกษา หรือถนัดด้านเทคโนโลยีได้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดนวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศได้
คำถามที่อยากชวนคิดต่อคือ กองทัพไทยต้องการ ‘คนที่เหมาะสม’ หรือแค่ ‘คนที่มีอยู่’ ?
อาจถึงเวลาที่กองทัพไทยต้องเลิกคิดเรื่อง ‘ปริมาณ’ พลทหารที่ต้องการ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับ ‘คุณภาพ’ ของกำลังพล ด้วยการทบทวน ‘เกณฑ์ความต้องการ’ ว่าควรมีตัวชี้วัดหรือหลักเกณฑ์อะไรบ้างที่สามารถกำกับการได้มาซึ่งพลทหารที่ตอบสนองต่อกลไกในการสร้างศักยภาพของกองทัพให้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิง
- พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
- ผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 9/2566 (พุธที่ 4 ตุลาคม 2566)
- ผบ.ทบ. ชี้แจงอัตรากำลังพลทหารเกณฑ์ กมธ.งบ 67
- บทความโดย The101 World ทหาร(เกณฑ์)มีไว้ทำไม? : เสียงของความฝันและความจริงต่อการปฏิรูปกองทัพไทย
- บทความโดย The Matter สมัครใจรับใช้ชาติ บริการสังคม เลือกคนให้เหมาะกับงาน ชวนดู 5 โมเดลเกณฑ์ทหารในต่างประเทศ
- Kinds of the Military Service System
- Pre-enlistee IPPT and NS duration