หากพูดถึง ‘กองทัพ’ ภาพที่ควรจะเห็นคือกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อรับมือกับภัยความมั่นคงของชาติ มีความสามารถด้านยุทธวิธี สมรรถภาพกำลัง และการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในความเป็นจริง ‘กำลังพลที่มาจากการบังคับเกณฑ์’ ของกองทัพไทย มีคุณภาพมากเพียงพอ หรือได้รับการฝึกฝนให้มีความสามารถในการรับมือกับภัยความมั่นคงของชาติมากน้อยแค่ไหน ?
เมื่อทหารเกณฑ์ไทยอาจไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นกำลังรบ ?
ในแต่ละปี ชายไทยหลายหมื่นคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า ‘จับใบดำใบแดง’ บ้างก็อยากได้รับเลือกเป็นทหาร อีกส่วนอาจจะแค่อยากผ่านพ้นช่วงเลือกเกณฑ์ไปให้เร็วที่สุด
ไม่ว่าจะสมัครใจหรือถูกบังคับ คำถามสำคัญคือทหารเกณฑ์ได้รับการออกแบบให้กลายเป็นพลทหารที่มีคุณภาพได้มากเท่าที่ควรหรือไม่ เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกไปจนถึงการฝึกฝน
คุณภาพของกำลังพลที่มาจากการบังคับเกณฑ์ ‘เริ่ด’ หรือตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพมากแค่ไหน ลองไปดูกัน
‘เกณฑ์ทหาร’ ต้องการคนแบบไหน?
หากคุณเป็นชายไทย อายุครบ 21 ปี หรือระหว่าง 22-29 ปี แต่ยังไม่เคยจับใบดำใบแดง ถ้ามีรอบอกเกิน 76 ซม. (เมื่อหายใจออก) ส่วนสูงเกิน 146 ซม. ไม่มีโรคต้องห้าม ไม่พิการ ไม่เป็นพระสมณศักดิ์ และไม่ได้รับการยกเว้นจากหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) หรืออาชีพบางประเภทแล้ว ยินดีด้วย คุณผ่านสเปกเข้ารับการเกณฑ์ทหาร !

คุณสมบัติเหล่านี้คือ ‘สเปก’ พื้นฐานที่กองทัพต้องการจากการเกณฑ์กำลังพล จากเงื่อนไขที่ว่ามาทั้งหมด นอกจากอายุ สุขภาพร่างกาย และสถานะทางกฎหมายแล้ว ดูเหมือนว่ากองทัพไม่ได้สนใจเลยว่า คนที่เข้ามาจะมีทักษะหรือความสามารถอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านยุทธวิธี ความเข้าใจเทคโนโลยีที่จำเป็นในกองทัพ หรือแม้แต่ความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม คุณสมบัติเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่อยู่ในเกณฑ์การคัดเลือก
เมื่อเกณฑ์กำลังพลมาแล้ว กองทัพฝึกให้มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
หากอ้างอิงตาม ‘ระเบียบและหลักสูตรการฝึก’ ของการฝึกทหารใหม่ ในช่วงฝึกรวม 6 สัปดาห์แรกก่อนแยกย้ายไปหน่วยที่ต้องสังกัด พลทหารเกณฑ์ที่ได้รับการ ‘สุ่มเลือก’ ให้สังกัดกองทัพบก จะได้รับการฝึกฝนตามหลักสูตร 300 ชั่วโมง โดยมีสัดส่วนดังนี้
- กรรมวิธีรับทหารใหม่เข้าหน่วย 27 ชั่วโมง
- การฝึก 260 ชั่วโมง
- การตรวจสอบการฝึก 13 ชั่วโมง

หากเจาะลึกไปที่การฝึกเพียงอย่างเดียวที่ 260 ชั่วโมง พลทหารเหล่านี้ควรได้รับการฝึกในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
เรื่องที่ทำการฝึกสอน | เวลา (ชั่วโมง) | หากฝึกวันละ 7 ชม. จะอยู่ที่ประมาณกี่วัน |
---|---|---|
การฝึกทางยุทธวิธี | 57 | 8 วัน |
การใช้อาวุธ | 48 | 7 วัน |
การเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงทางร่างกาย | 48 | 7 วัน |
การฝึกเบื้องต้น | 39 | 6 วัน |
การสอนอบรม | 27 | 4 วัน |
การช่วยเหลือประชาชน | 21 | 3 วัน |
วิชาทหารทั่วไป | 20 | 3 วัน |
รวม | 260 | 37 วัน |
ในส่วนของพลทหารสังกัดทหารเรือ การฝึกอบรมฯ ในช่วงแรกจะใช้เวลา 8 สัปดาห์ก่อนเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของกองทัพเรือ โดยหัวข้อการฝึกจะประกอบด้วย
- การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า และบุคคลท่าอาวุธ
- การฝึกสวนสนาม
- การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
- การอบรมวิชาการเรือ , วิชาการอาวุธ , วิชาข้อบังคับ , วิชาสังคมและมนุษยศาสตร์ และการป้องกันความเสียหาย
ทั้งนี้ ไม่พบเอกสารระเบียบและหลักสูตรการฝึกอย่างที่กองทัพบกจัดทำไว้ เช่นเดียวกันกับกองทัพอากาศที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลระเบียบการฝึก
จากข้อมูลการฝึกฝนเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้ว พลทหารได้รับการฝึกที่สอดคล้องกับหลักสูตรมากน้อยแค่ไหน ?
ลองฟังเสียงจากผู้ที่เคยเข้ารับการฝึก ‘สิ่งที่เจอจริง’ ตรงปกกับ ‘สิ่งที่กองทัพบอกเล่า’ หรือไม่ ?
ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ประสบการณ์การเกณฑ์ทหารโดยอดีตทหารเกณฑ์ 3 นาย ว่าตลอดระยะเวลาการฝึก พวกเขาเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในเรื่องอะไรบ้าง สอดคล้องกับ ‘ระเบียบและหลักสูตรการฝึก’ มากน้อยแค่ไหน ?
Disclaimer: ข้อมูลนี้มาจากบทสัมภาษณ์ประสบการณ์การเกณฑ์ทหารโดยอดีตทหารเกณฑ์ 3 นายที่ไม่ประสงค์ออกนาม และเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ทหารเกณฑ์ทุกนายพบเจอในแบบเดียวกัน ทั้งนี้ ข้อสังเกตจากการสัมภาษณ์อาจสะท้อนมุมมองของทักษะที่พลทหารสามนายนี้เข้ารับการฝึก โดยไม่ได้เป็นตัวชี้วัดทักษะในภาพรวมของพลทหารเกณฑ์ทั้งหมด

ไดอารี่ชีวิตพลทหาร Lily Daisy และ Buttercup
พลทหาร (นามสมมุติ) | Lily | Daisy | Buttercup |
---|---|---|---|
สังกัด | อดีตพลทหารเรือ ผลัดที่ 3/66 | อดีตพลทหารเรือ ผลัดที่ 3/66 | อดีตพลทหารบก ผลัดที่ 2/66 |
ระยะเวลาเกณฑ์ | 1 ปี | 1 ปี | 1 ปี |
หากให้ลองแบ่งช่วงการฝึกตามความคิดของตัวเอง คิดว่าจะแบ่งช่วงการฝึกออกเป็นกี่ช่วง ? | 3 ช่วง | 3 ช่วง | 3 ช่วง |
ในแต่ละช่วงที่แบ่งมาให้ ได้รับการฝึกอะไรบ้าง ?
กดปุ่ม toggle เพื่ออ่านเนื้อหา
Lily (อดีตพลทหารเรือ)
ช่วงที่ 1: ปรับพื้นฐาน (2 เดือน)
จริง ๆ อยากใช้ชื่อว่าละลายพฤติกรรม แต่ถ้าให้เป็นทางการก็คงใช้ชื่อว่าปรับพื้นฐาน ผมฝึกที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ฯ ที่ชลบุรี 2 เดือนเต็ม ๆ
ผมจะ ‘ฝึก’ สลับกับ ‘เรียน’ ในเดือนแรก ต้องฝึกบุคคลท่ามือเปล่า คือฝึกท่าทั่วไป ท่าวันทยหัตถ์ ท่าทำความเคารพ ตามระเบียบพัก ซ้ายขวาหัน มีการเรียนท่าเดินและท่าวิ่งแบบแบบทหาร และขั้นสุดคือท่าเดินสวนสนามที่ต้องใช้ความพร้อมเพรียง ผมเรียกท่าเตรียมว่าท่าไอรอนแมน เอาจริง ๆ ผมเริ่มลืมไปแล้วว่าต้องทำยังไง เดือนที่สองคือฝึก บุคคลท่าอาวุธ ง่าย ๆ คือพลทหารจะได้ถือปืนจริงคนละกระบอก ในช่วงนี้ เราฝึกท่าทักทายแบบมีปืน เหมือนท่ามือแต่แค่มีปืนมาเพิ่มเฉย ๆ เน้นระเบียบ จริงๆ การฝึกปืนก็ไม่ได้ฝึกเพื่อใช้ยิง แต่ฝึกเพื่อใช้ทำอะไรบางอย่าง
เรียน คือต้องไปเรียนที่อาคารเรียน แบบเดียวกับการเรียนช่วงมัธยม จะมีวิชาปืน เรียนตั้งแต่กลไก น้ำหนัก ส่วนประกอบปืน วิชาระเบียบกองทัพเรือ เช่น การดูยศ ระเบียบการลา วิชาดับเพลิง มีทั้งปฏิบัติและทฤษฎี วิชาใช้เชือกเพราะทหารเรือจะมีการผูกเชือกที่เป็นวิชาเฉพาะ เรียนพายเรือ เรือโบราณที่ปัจจุบันไม่มีการใช้งานเรือประเภทนี้แล้ว วิชาเรดาร์ พวกอุปกรณ์นำทาง เช่น เข็มทิศ จริง ๆ คน (พลทหาร) ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากขนาดนั้น จะชอบหลับกัน ส่วนตัวผมคิดว่าครูฝึกก็ไม่ได้อยากมาสอน อยากมาขายของมากกว่า บางคนเอามะม่วงแถมพริกเกลือมาขาย ส่วนใหญ่จะขายขนมเพราะในค่ายไม่มีขาย ผมดีใจที่สุดตอนได้ซื้อโค้กเพราะหายากมาก ๆ
ก่อนจบจะมีการทดสอบ 3 ชุดคือ สอบท่ามือเปล่าทั้งหมด สอบท่าอาวุธทั้งหมด สอบการเรียกแถวเรียกว่าแถวชิด แต่ละกลุ่มจะโดนสุ่มให้ทดสอบ 1 ชุดแบบไม่รู้ล่วงหน้า ตัวชี้วัดคือทำแบบทดสอบในเวลาที่กำหนด ครูฝึกจะเป็นคนนำ คิดว่าประเมินครูฝึกด้วย สุดท้ายก่อนแยกย้ายจะมีเดินสวนสนาม ทั้งหมดที่ฝึกมาจะต้องโชว์ปิดหลักสูตร
ช่วงที่ 2: ปูพื้นฐานก่อนไปทำงาน (1 เดือน)
ผมย้ายไปฝึกหน่วยฝึกทหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทั้งเดือนนี้ได้ฝึกจริง ๆ แค่ 14 วัน ที่เหลือคือปล่อยให้กลับบ้าน กิจวัตรช่วงนี้จะต่างจากช่วงแรกเพราะเคร่งกฎระเบียบมากกว่า ในทุก ๆ เช้าจะมีการทบทวนการฝึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนไปเรียนที่ห้องเรียน ในช่วงนี้เสาร์อาทิตย์จะไม่มีเรียน
ผมเรียนการใช้คอมพิวเตอร์สำนักงาน การพิมพ์เอกสาร การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ดูพวกระเบียบต่าง ๆ เช่น ตราปั๊มเอกสารต่าง ๆ เอาจริง ๆ ผมแทบไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ เพราะครูไม่ค่อยอยู่ ที่ทำคือนั่งหลับในห้องเรียน ก่อนเรียนพลทหารจะต้องไปเบิกแล็ปท็อป เมื่อไม่ได้เรียนก็ต้องเปิดหาอะไรทำ บางวันนั่งดูคลิปคนเต้นใน TikTok บางคนก็หลับ
แต่บางวิชาก็สอนจริงจัง มีวิชาเรียนเสริมคือ วิชาชงเหล้า เป็นหลักสูตรการบริการ มีวิชาเรียนตัดผม ที่เป็นวิชาที่ไม่ได้อยู่ในเวลาเรียนปกติ แต่จะเป็นวิชาก่อนเข้าแถวก่อนสองทุ่ม สอนจริงจังมาก ตรงนี้ผมคิดว่าเอาไปทำเป็นอาชีพได้เลย
ช่วงที่ 3: ทำงาน (9 เดือน)
ผมเป็นพลทหารเรือห้องธุรการ หน่วยหนึ่งในกรุงเทพฯ
ช่วงนี้ต้องทำงานยาวจนกว่าจะปลดประจำการ ไม่มีการฝึกหรือการเรียนแล้ว ไม่มีตารางที่เป็นกิจวัตร
ช่วงแรก ๆ จันทร์ถึงศุกร์ ทำงานเหมือนออฟฟิศ ต้องรีบตื่นเพราะเจ้านายมาเช้า เลิกงานก็ตอนที่นายกลับ เสาร์อาทิตย์ได้หยุด วันหยุดราชการก็ได้หยุด
พออยู่ไปสักพักก็มีรุ่นน้องมา ผมก็เริ่มไปทำงานสายได้บ้าง สิ่งที่ทำคือเป็นงานจับฉ่ายที่สุดในโลก งานหลักคือทำเอกสาร ที่ทำก็จะมีให้ผมพิมพ์รายชื่อคนที่เข้าไปทำงานตามหน่วยต่าง ๆ จากกระดาษที่ได้มา บางวันพิมพ์เช็กยอด ทำเอกสารวนกับพลทหารคนอื่น ๆ
บางทีต้องไปเอาของตามที่นายสั่ง มีวันหนึ่งผมกำลังพิมพ์เอกสาร อยู่ ๆ ได้ไลน์จากหัวหน้าให้ไปเอาลูกชิ้นปลาสำหรับงานเลี้ยง ผมต้องนั่งรถแท็กซี่เพื่อไปเอาลูกชิ้นปลา แต่การทำงานพวกนี้ผมชอบมากเพราะหัวหน้าให้ทิปตลอด แต่ผมไม่เคยใช้ เก็บไว้จนปลดประจำการแล้วมานั่งนับก็ได้สามพันกว่าบาท
บางทีก็เป็นงานส่วนตัว เช่น ไปซื้อข้าวให้นาย ผมเกลียดมาก ๆ เพราะมีรีเควสต์เยอะ มันไม่ได้ลำบาก แต่มันก็ไม่ใช่หน้าที่ผม บางที่ต้องจัดจานล้างจานให้ด้วยนะ เหมือนเราต้องทำทุกอย่างที่เขาสั่ง


Daisy (อดีตพลทหารเรือ)
ช่วงที่ 1: ศูนย์ฝึกทหารใหม่ ที่เกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี (2 เดือน)
ช่วงนี้จะฝึกระเบียบวินัย ตารางกิจกรรมในแต่ละวันจะแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ หนึ่ง ‘เรียนในห้องเรียน‘ และสอง ‘ฝึกทหารราบ‘
การเรียนในห้องเรียนจะเป็นเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับทหาร เช่น ประวัติความเป็นมา บุคคลสำคัญ วิธีการดูยศ การทำความเคารพ กฎหมายทหาร และความรักชาติ บางทีก็ไม่ได้มีการเรียนแบบจริงจัง มีวิชาเรียนการใช้เชือกเงื่อน ซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะของทหารเรือ การพายเรือกรรเชียง และกายบริการแบบราชนาวี มีท่าพระราชทานด้วย
การฝึกทหารราบ จะแบ่งออกเป็นการฝึกสามอย่างภายในสองเดือนนี้ คือ หนึ่ง ‘บุคคลท่ามือเปล่า‘ เช่น ซ้ายขวาหัน วันทยหัตถ์ การถอดหมวก การเดิน การวิ่งและหยุด สอง ‘เรียนเรื่องการจัดแถว‘ หมู่แถวชิด มีวิธีการเรียงแถวหลายแบบ การเลิกแถว การพักแถว ส่วนตัวผมคิดว่ายากที่สุด เพราะใช้ความสามัคคีพร้อมใจของทุกคน และเป็นเรื่องที่มักโดนแดก (ลงโทษทางวินัย) สาม ‘บุคคลท่าอาวุธ‘ คือการฝึกท่าที่มีอาวุธ พัฒนาจากข้อหนึ่งอีกที
ที่เรียนมาจะมีการสอบสองอย่าง คือ การฝึกทหารราบ ที่จะสุ่มว่ากองร้อยไหนจะได้ท่าอะไร และสอบวิชาที่เรียน ซึ่งสุ่มเหมือนกัน แต่ละกองร้อยจะได้ไม่เหมือนกัน สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำคือ คือการเดินสวนสนาม เพื่อเดินพิธีปิดภาคการศึกษาเมื่อจบการฝึกสองเดือนแรก
ช่วงที่ 2: การฝึกแยกตามหน่วยสังกัด (1 เดือน)
ในช่วงก่อนไปฝึกตามแยกหน่วยสังกัด ครูฝึกจะแจ้งข้อมูลหน่วยสังกัดที่เปิดรับทหารเกณฑ์ จากนั้นจะให้พลทหารเลือกสองหน่วยที่ต้องการ อาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้
ในช่วงนี้ผมต้องไปฝึกเรียนที่โรงเรียนฝึกทหารแห่งหนึ่ง จะเป็นการเรียนหนังสือทั้งวัน ทั้งเช้าและบ่าย
สิ่งที่เรียนในช่วงนี้ คือเรียนแบ่งตามแผนกของการฝึก ซึ่งส่วนตัวได้ไปฝึกแผนกสำนักงาน ทั้งวันจะเรียนเกี่ยวกับเอกสาร วิธีการถ่ายเอกสาร ตราปั๊มเรื่องลับ จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนทั้งเดือน เพราะมีช่วงที่โรงเรียนหยุดด้วย
ช่วงเย็นหลังเรียนเสร็จจะมีการฝึกทหารราบสลับกับกายบริหารราชนาวี และกลางคืนก็มักจะโดนแดก (ลงโทษทางวินัย)
ช่วงที่ 3: ช่วงสังกัดหน่วย (9 เดือน)
ผมสังกัดหน่วยแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นพลบริการ 9 เดือนที่เหลือนี้คือการฝึกกรมที่สังกัด สิ่งที่ต้องทำคือ เป็นพ่อบ้านของกรม กวาดขยะ ดูแลความสะอาด ซื้อข้าวซื้อน้ำ ส่งและถ่ายเอกสาร รับหนังสือ ตามเวรที่ได้รับในวันนั้น บางวันถูกสั่งให้นั่งเฝ้าโต๊ะประชาสัมพันธ์
ช่วงนี้งานไม่ค่อยหนัก งานชิล ไม่ค่อยเหนื่อย โคตรจะสบาย แต่ก็มีช่วงที่เหนื่อยใจเพราะเป็นเหมือนบ่อรับอารมณ์ หรือบางครั้งก็มีเจ้านายมาระบายความในใจ ไม่ค่อยเหนื่อยกาย ที่เจอหนักสุดคือให้ลุกนั่ง 50 ครั้ง ซึ่งสิ่งที่เรียนมาจากโรงเรียนในช่วงที่ 2 ก็ไม่ค่อยได้ใช้ทำงานเท่าไหร่


Buttercup (อดีตพลทหารบก)
ช่วงที่ 1: ฝึกรวมทุกกองร้อย (1 เดือน)
ผมฝึกที่กองร้อยมณฑลทหารบกแห่งหนึ่งในภาคใต้ สิ่งที่ได้ฝึกคือ วิธีการเคารพผู้บังคับบัญชาที่ทหารใหม่ควรรู้ เรียนเรื่องประวัติที่เกี่ยวข้องกับทหาร และจะมีวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืน และมีการฝึกยิงปืนจากปืนจริง
ตอนนั้นมีการฝึกยิง 2 รอบ รอบแรกครูฝึกคัดเอา 25 คนที่ยิงแม่นที่สุด ผมเป็น 1 ใน 25 คนนี้ แล้วให้ไปยิงอีกรอบ คัดเอาแต่ 10 คนแรกที่ยิงดีที่สุด แต่ผมได้อันดับที่ 21 มันไม่ได้รู้สึกแย่เหมือนที่เขาว่ากันมา ครูฝึกที่ผมเจอเป็นคนเอาใจใส่พลทหาร ส่วนตัวผมคิดว่ามันอยู่ที่สังคมของแต่ละที่ด้วย
ช่วงที่ 2: สังกัดหน่วย ( 2 เดือน)
ผมสังกัดกองพันเสนารักษ์ ก็คือเหล่าทหารแพทย์ เขาสอนให้เราทำความรู้จักชนิดของยาที่ใช้ในแต่ละกรณี เช่น ยาสามัญ ยาเฉพาะทั่วไป และยาอันตรายเฉพาะที่แพทย์สั่งว่าต่างกันยังไง บอกประเภทของการฉีดยาว่ามี 4 ประเภทนะ คือฉีดชั้นผิวหนัง ฉีดใต้ผิวหนัง ฉีดกล้ามเนื้อ และฉีดเข้าเส้นเลือด
ช่วงนี้มีฝึกการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ฝึกการทำ CPR เรียนการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เบื้องต้น แต่จะมีแค่ให้จดและจำชื่อยา ไม่ได้มีการทดสอบ แค่จดและให้จำเผื่อเอาไปใช้ตอนญาติพี่น้องป่วย พวกฉีดยาก็ไม่ได้ทดสอบ แค่มาสอน
เครื่องมือที่ใช้บ่อยคือเครื่องวัดความดัน เขาสอนวิธีการอ่านค่าความดัน และการใช้ปรอทวัดไข้ ดูว่าต้องวัดอุณหภูมิยังไง
ก่อนจบจะมีการฝึกภาคสนาม คือทดสอบขนย้ายผู้ป่วยเสมือนช่วงสงคราม ช่วงนี้ฝึกเครียดมากเพราะกดดัน ต้องทำท่าแบกผู้ป่วยหลายแบบ เช่น แบกที่หลัง แบกโดยใช้เปลที่ต้องทำตามวิธีการให้ถูกต้องด้วย ส่วนตัวคิดว่าสนุก อาจจะตึงเครียดหน่อย แต่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ช่วงที่ 3: หน่วยกองร้อย (9 เดือน)
ผมไปประจำที่โรงพยาบาลค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคใต้ ผมได้รับตำแหน่งไปช่วยฝ่ายเวชระเบียน
ผมจะคอยจัดบัตรผู้ป่วย และส่งไปแผนกที่ต้องไปรักษา เล่าให้เห็นภาพคือ ผู้ป่วยยื่นบัตรที่หน้าห้องก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลให้อยู่แล้ว หน้าที่ที่ผมทำคือจัดหาแฟ้มให้ผู้ป่วย เมื่อหาหมอเสร็จผมก็จะจัดเก็บที่เดิม ในหนึ่งวันผมเจอคนไข้เยอะ มากเป็นพิเศษคือวันพุธ เพราะเป็นวันหมอนัด
จะมีการเข้าเวร โดยจะแบ่งเป็นผลัด เช่น คนนึงเข้าเวรหน้ากองร้อยทั้งวัน แต่ผลัดกลางคืนจะสลับกัน ผลัดละสามชั่วโมงถึงแปดโมงเช้า ทำหน้าที่เวรเปลหน้าห้องฉุกเฉินไว้อำนวยความสะดวกผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและอุบัติเหตุ ตอนที่เข้าเวรกลางคืนก็มีบ้างที่ว่าเผลอหลับไป แต่ก็แค่โดนติเตียน ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
ทุกเดือนจะมีการจัดกิจกรรม เช่น บริจาคเลือด พัฒนาชุมชน บริจาคสิ่งของให้คนที่ลำบาก และจะมีการฝึกวิชาชีพ เช่น ฝึกตัดผม ใครถนัดช่างก็ไปเรียนเกี่ยวกับพวกเครื่องยนต์ จบมาได้ประกาศนียบัตร แต่เสียดายผมไม่ได้ไปเพราะมีงานที่โรงพยาบาลตลอด

จากข้อสังเกตที่ได้มานี้ ในมุมหนึ่งอาจสะท้อนได้หรือไม่ว่า ‘ระเบียบและหลักสูตรการฝึก’ ในการฝึกฝนเบื้องต้นซึ่งมีระยะเวลาสั้น เน้นไปที่การ ‘ฝึกระเบียบวินัย’ และ ‘ฝนวิธีการเคารพผู้บังคับบัญชา’ เป็นหลัก โดยการฝึกฝนทักษะอื่น ๆ นั้นมีอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากพอในการเป็นกำลังพลที่เพรียบพร้อม
และเมื่อต้องย้ายไปประจำตามสังกัดหน่วยต่าง ๆ จนปลดประจำการ ในช่วงแรกนั้น พลทหารเกณฑ์เหล่านี้จะได้รับการฝึกแยกตามหน่วยที่สังกัด ขึ้นอยู่กับว่าสังกัดนั้นจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานอะไรบ้าง แต่ดูเหมือนว่าเป็นการแจ้งให้ทราบมากกว่าฝึกฝนเพื่อทดสอบและวัดผล ส่วนช่วงที่เหลือคือการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้สอดคล้องกับตำแหน่งตามหน่วยที่สังกัดอยู่ มากกว่าเสริมสร้างกองทัพให้มีคุณภาพมากขึ้น
เมื่อ ’สเปก’ กำลังพลที่กองทัพต้องการ และ ‘การฝึกของทหารเกณฑ์’ ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของกำลังพลเท่าที่ควรจะเป็น
หากมองลึกลงไปในระบบเกณฑ์ทหารไทย คำถามที่น่าคิดคือ เรากำลังสร้างกำลังพล หรือเพียงเติมคนให้ระบบเดินต่อไปได้ ?
กระบวนการเกณฑ์คัดเลือกและหลักสูตรฝึกทหารเกณฑ์ที่ใช้นี้ อาจไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังพลอย่างแท้จริง หากเป้าหมายของกองทัพคือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะด้านยุทธวิธี เทคโนโลยี หรือแม้แต่ความสามารถในการบริหารจัดการ การเกณฑ์และการฝึกที่มีอยู่นี้เพียงพอมากแค่ไหน ?
คงน่าเสียดายหากทหารเกณฑ์เป็นเพียงหนึ่งในฟันเฟืองของระบบราชการทหารที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้เพิ่มศักยภาพให้แก่กองทัพไทยมากเท่าที่ควรจะเป็น
หากเป็นเช่นนี้จริง นี่อาจะเป็นสิ่งที่กองทัพต้องทำการบ้านเพื่อปรับจุดบอดของการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่ให้เข้ากับบริบทสังคมที่ต้องการ มากกว่าเพียงแค่ ‘อยู่เพื่อลา มาเพื่อปลด’
อ้างอิง