Content by

จากคน (ช่วง) เดือนตุลา สู่บุคลากรการเมืองยุคปัจจุบัน

“คน (ช่วง) เดือนตุลา” คือคนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” และ “6 ตุลาคม 2519”

“คน (ช่วง) เดือนตุลา” ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตนั้น หลายคนยังมีบทบาทด้านงานการเมืองช่วงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในฝั่งฝ่าย และสถานะที่แตกต่างกันออกไป

ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชวนดู “14 คน (ช่วง) เดือนตุลา” ที่ยังเป็นส่วนหนึ่งกับกลไกการเมือง รวมถึงยังทำงานกับพรรคการเมืองซึ่งมีบทบาทในรัฐสภา และรัฐบาลสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา 2

จากการค้นหาข้อมูลพบว่า “คน (ช่วง) เดือนตุลา” ที่ยังมีบทบาทด้านงานการเมืองอย่างชัดเจนในปัจจุบัน มีจำนวนอย่างน้อย 14 คน ซึ่งข้อมูลที่พบสะท้อนสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 : คน (ช่วง) เดือนตุลาในงานการเมืองปัจจุบัน อดีตเคยต่อต้านอำนาจเผด็จการมาก่อน ในฐานะ “คนนอกสภา” เป็นส่วนมาก

จุดร่วมอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 2 เหตุการณ์ คือการต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำกองทัพทหารที่ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศไทย และทำลายประชาธิปไตยไทยยาวนานกว่า 10 ปี โดยช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มุ่งเน้นขับไล่รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องตนเอง และทำรัฐประหารรัฐบาลตนเองเพื่อสืบทอดอำนาจ ส่วนช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มุ่งเน้นต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการอำนาจนิยม ที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คน (ช่วง) เดือนตุลาที่ทำงานการเมืองในปัจจุบัน มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวช่วงนั้นชัดเจนอย่างน้อย 10 คน ส่วนมากมีสถานะเป็นนิสิตนักศึกษา หรือประชาชนผู้ร่วมการเคลื่อนไหว มีเพียง 1 คนเท่านั้น ที่มีบทบาทในงานการเมือง นั่นคือ “ชวน หลีกภัย” ซึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส. สมัยแรก จากจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปีพ.ศ. 2512 และมีส่วนร่วมกับ ส.ส. ฝ่ายค้านในการถล่มรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในรัฐสภา จนสุดท้ายจอมพลถนอมตัดสินใจทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2514

ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คน (ช่วง) เดือนตุลาที่ทำงานการเมืองในปัจจุบัน มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวช่วงนั้นชัดเจนอย่างน้อย 13 คน ซึ่งส่วนมากมีสถานะเป็นนิสิตนักศึกษา หรือประชาชนผู้ร่วมการเคลื่อนไหว มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่มีบทบาทในงานการเมือง นั่นคือ “ชวน หลีกภัย” ที่คราวนี้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จากจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปีพ.ศ. 2518 และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อปีพ.ศ. 2519 ที่ถูกมองว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ และ “ชำนิ ศักดิเศรษฐ์” ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จากจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในปีพ.ศ. 2518 รวมถึงได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย คนที่ 2

รวมถึงคน (ช่วง) เดือนตุลาที่ทำงานการเมืองในปัจจุบัน มักมีบทบาทการเคลื่อนไหวทั้งช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 2 เหตุการณ์ต่อเนื่องกัน โดยจะเห็นได้จากผู้ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จำนวน 9 จาก 10 คน ยังมีบทบาทต่อเนื่องไปถึงช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีเพียง 1 คนเท่านั้น ที่จากข้อมูลพบมีบทบาทเพียงช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั่นคือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และการต่อสู้ทางอุดมการณ์ด้วยพลังของประชาชนในฐานะคนธรรมดานอกสภา คือสิ่งที่มีมาตั้งแต่ในอดีต และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่คน (ช่วง) เดือนตุลาเหล่านั้น จะได้เข้าสู่งานการเมืองตามสิ่งที่ตนเองเชื่อ และเห็นว่าตรงกับความคิดของตนเองต่อไป

ประเด็นที่ 2 : คน (ช่วง) เดือนตุลาในงานการเมืองปัจจุบัน ที่เคยต่อต้านเผด็จการในอดีต หลายคนมีแนวคิดแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

จากคน (ช่วง) เดือนตุลาที่ยังมีบทบาทกับงานด้านการเมืองช่วงปัจจุบันจำนวน 14 คน ที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมสายทหารในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 2 เหตุการณ์นั้น กลายเป็นว่ามี 6 คน มาทำงานรับใช้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 รัฐบาลเผด็จการที่แปลงรูปโดยอาศัยการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยมีตำแหน่งกระจายตัวทั้งในอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร คือเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน เป็น ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. 1 คน เป็นคนทำงานใน ครม. 3 คน ได้แก่ ระดับรัฐมนตรี 2 คน และที่ปรึกษารัฐมนตรี 1 คน

ซึ่ง 6 คน ที่มาทำงานรับใช้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 นั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วพบความน่าสนใจในเรื่องราวของหลายคน เช่น

  • “ชวน หลีกภัย” ที่เป็น ส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด เป็นหนึ่งคนการเมืองผู้มีการเปลี่ยนสังกัดฝ่ายเมื่อเทียบจากช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 2 เหตุการณ์ (ต่อต้านเผด็จการ) กับสถานการณ์ปัจจุบัน (สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการแปลงรูป) ซึ่งอาจเป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่า พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทและจุดยืนที่ค่อนข้างแปรเปลี่ยนโอนอ่อนไปตามเหตุการณ์การเมืองช่วงต่าง ๆ
  • “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” จากที่เคยมีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งช่วงเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” และ “6 ตุลาคม 2519” รวมถึงยังเคยเข้าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ กลับกลายเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และรัฐมนตรีผู้ทำงานกับหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการแปลงรูปในปัจจุบัน ก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่า เวลาก็อาจเป็นตัวแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ในท้ายที่สุด

ส่วนอีก 8 คนที่ทำงานกับพรรคฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งเป็นเครือข่ายการเมืองสายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็มาจากที่หลายคนเป็นเครือข่ายซึ่งได้รู้จักกัน ตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 2 เหตุการณ์ ไปจนถึงช่วงที่บางส่วนเดินทางเข้าป่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ (เช่น พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช , ภูมิธรรม เวชยชัย , สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ซึ่งสุดท้ายคนเหล่านี้เข้าร่วมงานการเมืองด้วยกัน ตั้งแต่ช่วงที่มีการก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ซึ่งในเวลานั้น พรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ถือเป็นความหวังใหม่ของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย

และเมื่อพิจารณาย่อยลงไปพบว่า จากคน (ช่วง) เดือนตุลาที่ยังมีบทบาทกับงานด้านการเมืองช่วงปัจจุบันจำนวน 14 คน พบว่ามี 7 คน ที่เดินทางสู่ป่า เพื่อเข้าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พรรค (ที่ไม่เคยได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ) ซึ่งยึดแนวทางตามลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา และมีกระบวนการต่อสู้อำนาจรัฐเผด็จการอนุรักษ์นิยม โดยกลยุทธ์การใช้กำลังผ่านกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ 5 คน ทำงานกับพรรคฝ่ายค้าน (พรรคเพื่อไทย) ในปัจจุบัน และ 2 คนทำงานรับใช้ฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า คน (ช่วง) เดือนตุลาในงานการเมืองปัจจุบัน ที่เคยเข้าร่วม พคท. จุดยืนยังค่อนข้างเหนียวแน่น ไม่ไปฝักใฝ่เผด็จการแปลงรูปมากนัก

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า คน (ช่วง) เดือนตุลาที่ยังมีบทบาทกับงานด้านการเมืองช่วงปัจจุบัน แม้อดีตจะเคยเชื่อในอุดมการณ์อะไร หรือมีจุดยืนต่ออำนาจเผด็จการอย่างไร เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป การจะพิจารณาว่า โดยสรุปแล้วพวกเขาเชื่อหรือต่อสู้เพื่ออะไร ต้องดูการกระทำในปัจจุบันเป็นสำคัญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์เดือนตุลาส่งผลถึงการเมืองปัจจุบัน เพราะคน (ช่วง) เดือนตุลา ที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต หลายคนยังคงมีบทบาทในประวัติศาสตร์การเมือง ผ่านงานการเมืองในปัจจุบัน

และเมื่อเวลาผ่านไป คน (ช่วง) เดือนตุลาที่ยังทำงานด้านการเมือง ก็เลือกทางเดินตามจุดยืนในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนสลับขั้วความคิดอย่างชัดเจน และหลายคนก็รวมกลุ่มกันเพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่ตนเองยังเชื่อถืออยู่

ขอบคุณข้อมูลจาก