Content by

เกิดอะไรขึ้นใน Open Data Day 2025?

งาน “Open Data Day 2025” จัดขึ้นเนื่องในวัน International Open Data Day (วันข้อมูลเปิดสาธารณะ) ซึ่งตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 1-7 มีนาคม 2568 WeVis ได้ตีความเนื้อหาหลักให้สอดคล้องไปกับธีมประจำปีอย่าง Polycrisis (Intersectionality of problems) รังสรรค์ออกมาเป็นชื่องาน Open Data Day 2025 – น้ำท่วม ฝุ่นควัน ไฟป่า: ถอดสมการ ”ภัยพิบัติไม่รู้จบ” ของไทยด้วยข้อมูล 📊

Open Data Day 2025 – น้ำท่วม ฝุ่นควัน ไฟป่า: ถอดสมการ ”ภัยพิบัติไม่รู้จบ” ของไทยด้วยข้อมูล 📊 ไม่เพียงแต่เป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันข้อมูลเปิดสาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของ WeVis ในการส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านการเข้าถึง Open Data กิจกรรมจัดขึ้น ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.30 น. โดยทีม WeVis กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน บริษัท พันซ์อัพ เวิล์ด ร่วมกับศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ภายใต้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) และศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101PUB ) ภายในงานประกอบไปด้วย 3 ส่วนกิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. เวทีเสวนา Policy Forum  น้ำท่วม-ฝุ่นควัน-ไฟป่า: ถอดสมการ ”ภัยพิบัติไม่รู้จบ” ของไทยด้วยข้อมูล
  2. Mini Exhibition “Sonification” “ฟัง” 🎧 เสียงของ “ข้อมูล” 📈
  3. Project Showcase Talk เปิดเบื้องหลังงาน Data มองปัญหาภัยพิบัติผ่านข้อมูล” 

กิจกรรมส่วนแรก เวทีเสวนา Policy Forum  น้ำท่วม-ฝุ่นควัน-ไฟป่า: ถอดสมการ ”ภัยพิบัติไม่รู้จบ” ของไทยด้วยข้อมูล เวทีเสวนาครั้งนี้ เจาะลึกปัญหาการจัดการภัยพิบัติที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ผ่านมุมมองของการใช้ข้อมูล โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ว่า “ข้อมูล” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับนโยบายและกลยุทธ์การรับมือภัยพิบัติได้อย่างไร? ผ่านการร่วมถกประเด็นสำคัญของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ตรงในการจัดการภัยพิบัติ 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ทวิดา กมลเวชช (รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร), สมบัติ บุญงามอนงค์ (ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา), รศ.ชูโชค อายุพงศ์ (หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และ ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ (ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินรายการโดย บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เวทีเสวนาครอบคลุม 3 ประเด็นหลักที่สำคัญต่อการจัดการภัยพิบัติด้วยข้อมูลในประเทศไทย ได้แก่ แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเพื่อจัดการภัยพิบัติ บทบาทของข้อมูลในการจัดการภัยพิบัติในบริบทของประเทศไทย และก้าวต่อไปในการใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการภัยพิบัติในอนาคต การพูดคุยนี้มีเป้าหมายเพื่อถอดสมการ “ภัยพิบัติไม่รู้จบ” ของไทย ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและการปฏิบัติงาน 

 อนาคตของการจัดการภัยพิบัติด้วยข้อมูล ควรมี ‘การบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน’ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน
โดยเฉพาะการสร้างระบบ Open Data ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

รศ.ทวิดา กมลเวชช

การจัดการภัยพิบัติในประเทศไทยเผชิญปัญหาสำคัญหลายอย่าง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ‘การขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐ’
ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาว 

 สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)

อีกปัญหาหนึ่งคือ ‘ข้อมูลที่มีอยู่มากมายแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ’ แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากที่สุด แต่ข้อมูลจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ หรือขาดการแปลงข้อมูลให้เป็นสารที่เข้าใจง่าย ส่งผลให้การเตือนภัยและการบริหารสถานการณ์ไม่สามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

รศ.ชูโชค อายุพงศ์

ข้อมูลเป็นหนึ่งส่วนสำคัญในการใช้จัดการภัยพิบัติ ข้อมูลเป็นสาร สิ่งที่สำคัญคือสื่อในการสื่อสาร ‘สาร’ เหล่านี้
สิ่งที่ได้ฟีดแบ็กกลับมา ประชาชนใช้งานไม่ได้จริง ‘ไม่ได้พลาดที่ไม่มีข้อมูล แต่พลาดที่ข้อมูลที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า’

ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์

เวทีเสวนา Policy Form ทำให้เราได้รับรู้ว่า ประเทศไทยมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการจัดการภัยพิบัติ แต่สิ่งที่ยังขาดคือ การนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขคือ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่ายสำหรับประชาชน และการออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสามารถดำเนินการในประเด็นเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจะมีระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความสูญเสีย และเพิ่มความพร้อมของประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต


กิจกรรมส่วนที่สอง Mini Exhibition “Sonification” “ฟัง” 🎧 เสียงของ “ข้อมูล” 📈กระบวนการแปลงข้อมูลให้กลายเป็นเสียง ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถสำรวจผลลัพธ์และสถิติความเสียหายจากภัยพิบัติวนเวียนไม่รู้จบของไทย “น้ำท่วม-ฝุ่นควัน-ไฟป่า” เพื่อเข้าใจความอันตรายของวิกฤตการณ์เหล่านี้มากยิ่งขึ้น 🔥  จากข้อมูล 3 ชุดภัยพิบัติ ได้แก่ 

  • พื้นที่ความเสียหายจากน้ำท่วมทั่วประเทศไทย
  • แนวโน้มมลพิษทางอากาศ PM2.5
  • พื้นที่เผาไหม้สะสมจากไฟป่าในเก้าจังหวัดภาคเหนือ

โดยผู้เข้าชมสามารถที่จะเพลิดเพลินนิทรรศการได้ใน 3 ขั้นตอน ฟัง-วาด-เทียบ

  1. ฟัง : สวมหูฟัง เพื่อ ใช้หู ของเรา ฟังข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติตัวร้ายทั้ง 3 วิกฤตการณ์ 
  2. วาด : ลองวาดกราฟตามความสูงต่ำของเสียงที่ได้ยิน 
  3. เทียบ : เปิดกระดาษออกเพื่อดูเฉลย เทียบว่าสิ่งที่คิดและกราฟจริงนั้น ใกล้เคียงกันแค่ไหน


กิจกรรมส่วนที่สาม Project Showcase Show and Talk:  เบื้องหลังงาน Data มองปัญหาภัยพิบัติผ่านข้อมูล” กว่า 10 โปรเจกต์ จาก 9 องค์กรได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้แนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านภัยพิบัติของประเทศไทยผ่านชิ้นงานหลากปัญหา หลายหัวข้อภัยพิบัติ 

9 องค์กรขับเคลื่อนการทำงานด้านข้อมูล : Punch Up, Boonmee Lab, DataHatch, Landometer, Viz Craft Studio, Rocket Media Lab, คณะก้าวหน้า, และ Digital4Peace Foundation (มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ) โดยมีชิ้นงานด้านข้อมูลภัยพิบัติที่น่าสนใจถึง 12 ชิ้นงาน

รับชม Live ถ่ายทอดสด Policy Form และ Project Showcase Show and Talk ย้อนหลังได้ที่ Live Open Data Day 2025


ข้อมูลเปิด (Open Data) ไม่ได้เป็นเพียงแค่โอกาส แต่นี่คืออนาคต

เราเชื่อว่า “ข้อมูล” คือกุญแจสำคัญในการไขปริศนาเหล่านี้… ข้อมูลจะช่วยให้เราเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริง… คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า… และวางแผนรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

WeVis ยังคงมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับการจัดงาน Open Data Day นี่คือโอกาสในการสนับสนุนนโยบายข้อมูลเปิด เพื่อให้สังคมไทยเข้าใกล้ความโปร่งใส เข้าถึงได้ง่าย และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น