Content by

กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว?

“กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” เป็นชื่องานแถลงทิศทางการทำงาน กทม. ตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เมื่อปี 2549 และมีหลักฐานขยี้ใจเป็นป้ายสโลแกนขนาดใหญ่โชว์อยู่ใจกลางเมืองมาตลอด 15 ปี

ถึงวันนี้ ใครมีชีวิตดีๆ ที่ลงตัวบ้างไหม?

ในขณะที่การ #เลือกตั้งกทม กำลังจะมาถึง อยากขอหยิบเอาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหา 5 ด้าน ที่ยังคงค้างคาใจชาว กทม. หลายสิบปี มาแบให้ว่าที่ผู้สมัคร #ผู้ว่ากทม และ #สมาชิกสภากทม ดูกันแบบเขตต่อเขต

พร้อมขอล่ะ.. ขอชีวิตที่ไม่ต้องดีเว่อร์ แต่ลงตัวอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมสำหรับทุกชีวิตที่ใช้อยู่ในมหานครแห่งนี้สักที

ปล. รอติดตามแพลตฟอร์มแบบ Interactive ได้ทาง wevis.info เร็วๆ นี้แหละ 🤭

🌊 กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่ครึ่งแข้ง 💦

สู้ๆ นะชาว ‘สาทร’ และ ‘ดินแดง’ 😢 กับการเป็นเขตที่น้ำท่วมสูงและท่วมบ่อยที่สุดใน กทม. เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

ข้อมูลระดับน้ำท่วมในปี 64 (เท่าที่ได้มาจากสํานักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร) ทำให้เราเห็นว่า

  • จริงๆ แล้ว ปี 64 เป็นปีที่สถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 62
  • สาทร’ เป็นเขตที่มีบันทึกน้ำท่วม 18 ครั้ง ระดับน้ำท่วมสูงสุดที่ 31.5 ซม. ซึ่งถ้าลุยก็ประมาณเท่าหัวเข่า ขณะที่ ‘บางคอแหลม’ ตามมาที่ 22.50 ซม. หรือราวครึ่งแข้ง
  • ดินแดง’ เป็นเขตที่มีบันทึกน้ำท่วมบ่อยที่สุดคือ 23 ครั้ง โดยระดับน้ำท่วมสูงสุดที่ 16.63 ซม. ซึ่งถ้าลุยก็สละชีพรองเท้าแน่นอน
  • หลายเขตที่ท่วมสูงและบ่อยในช่วงก่อนปี 62 อย่าง บางนา หลักสี่ ดุสิต หรือคลองเตย ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ว่า ราชเทวี (ท่วม 15 ครั้ง สูงสุด 16 ซม.) และ จตุจักร (ท่วม 11 ครั้ง สูงสุด 16.36 ซม.) แม้ไม่คว้าแชมป์ แต่ก็ดูสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่

ที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมเป็นอะไรที่คน กทม. ไม่ว่าเขตไหนเจอก็ปวดใจทุกที ได้แต่หวังว่าเราจะหาทางให้การจัดการสิ่งเหล่านี้ดีขึ้นได้ หลังคณะทำงานชุดใหม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา

💰 งบประมาณปี 64 ที่ใช้จัดการปัญหาน้ำท่วมคือ 877.3 ล้านบาท คิดเป็น 1.16% ของ งบ กทม. ทั้งหมด

Source : https://weather.bangkok.go.th
หมายเหตุ : ข้อมูลนี้มาจากรายงานสภาพน้ำท่วมขังบนถนนสายหลัก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำเท่านั้น กรณีซอยย่อยต่างๆ ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูล

🦦 กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่นอกจอก็น้ำเน่า 🛶

โอ๋นะ.. ชาว ‘คลองเตย’ 😢 ที่เป็นเขตที่มีค่า BOD (Biological Oxygen Demand) หรือค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ที่ใช้วัดความเน่าเสียของน้ำในคลอง เฉลี่ยสูงที่สุดถึง 31.21 ม.ก./ลิตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไปมาก

ซึ่งต้องบอกว่า จากข้อมูลค่าเฉลี่ยคุณภาพน้ำคลองในกทม. จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายเขตที่มีค่า BOD อยู่ในระดับสูง อย่างเช่น บึงกุ่ม ดินแดง หรือบางรัก จนน่าเป็นห่วงคุณภาพชีวิตชาว กทม. ที่อาจได้รับอันตรายจากการเดินทาง ทำกิจกรรมริมคลอง หรือสัมผัสแหล่งน้ำได้

การกำหนดเป้าหมายคุณภาพน้ำและวิธีการบำบัดอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นอีกภารกิจสำคัญสำหรับใครก็ตามที่คิดจะมาบริหารและบริการชาว กทม. ต่อไป

💰 งบประมาณปี 64 ที่ใช้กับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 1,124 ล้านบาท คิดเป็น 1.49% ของ งบกทม. ทั้งหมด

Source : https://webportal.bangkok.go.th/pipd/page/sub/21303/สถิติกรุงเทพมหานคร-2563

💨 กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่ต้องซื้ออากาศหายใจ 👃🏻

ยิ้มอ่อนกับเขต ‘เขตจอมทอง’ ที่มีสติถิค่า PM2.5 สูงสุดในปี 2564 ในขณะที่ทุกเขตใน กทม. ต้องเผชิญกับอากาศทำร้ายปอด 3 เดือน/ปี (ธ.ค. — ก.พ.)

ในขณะที่ค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่ 24 ชั่วโมง กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลายเขตใน กทม. กลับต้องสูดหายใจเอาค่ามลพิษที่สูงกว่ามาตรฐาน 2 เท่าเข้าปอดในเดือนมกราคม 64 อย่างเช่น บางนา สาทร ประเวศ บางขุนเทียน หนองแขม หรือ บางบอน เป็นต้น

💰งบประมาณปี 64 ที่ใช้กับการแก้ปัญหา PM 2.5 อยู่ที่ 1,411 ล้านบาท คิดเป็น 1.87% ของ งบกทม. ทั้งหมด

Source : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม

🌳 กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่ไร้ใบ 🍂

ตบไหล่ปลอบใจชาว ‘บางกอกใหญ่’ 😢 กับการเป็นเขตที่มีพื้นที่สีเขียวต่อคนน้อยที่สุด

จากฐานข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล พบว่า

  • เขต ‘บางกอกใหญ่’ มีพื้นที่สวนสาธารณะ (ในความรับผิดชอบของ สำนักงานสวนสาธารณะ และสำนักงานเขต) เฉลี่ยต่อคนน้อยที่สุด คือ 2.22 ตร.ม. /คน หรือเรียกได้ว่าเท่ากับยืนกางแขนก็แทบหมดสีเขียวแล้ว
  • เขต ‘บางกอกน้อย’ ก็แทบไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน เพราะมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 2.8 ตร.ม /คน สะเทือนใจแทนชาวฝั่งธนเหลือเกิน
  • ขยี้ซ้ำให้ปวดใจ เพราะเมื่อปี 2562 UDDC ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขพื้นที่สีเขียวที่ กทม. ประเมินนั้น ไม่ใช่สวนสาธารณะที่สามารถเข้าใช้งานได้จริงทั้งหมด เพราะนิยาม ‘พื้นที่สีเขียว’ ที่กำหนดโดยสำนักสวนฯ และสิ่งแวดล้อมนับรวมสวนแทบ ‘ทุกประเภท’

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กทม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้เปิดสวนสาธารณะอีก 9 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง และหวังจะผลักดันให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นกระจายอยู่ในชุมชน ยังไงฝากผู้ว่าฯ คนต่อไป สานต่อความฝันให้ชาวบางกอกใหญ่-น้อย ได้มีพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านหน่อยละกันนะ

💰 งบประมาณปี 64 ที่ใช้กับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 2,662 ล้านบาท คิดเป็น 3.53% ของ งบกทม. ทั้งหมด

Source : http://203.155.220.118/green-parks-admin/index.phphttps://theurbanis.com/public-realm/14/11/2019/237

🔍 กรุงเทพฯ.. ชีวิตดีๆ ที่ 404 Not Found 😱

บนเว็บไซต์ Bangkok Budgeting เสียงของประชาชนผู้ใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. 961 เสียง มาช่วยกันโหวตเมื่อปลายปี 2564 ว่าเรื่องอะไรใน กทม. ที่พวกเขาอยากให้พัฒนาเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งหลายเรื่องที่เราจะพยายามหา ‘ข้อมูลเปิด’ แบบละเอียด มีคุณภาพ และนำมาใช้งานต่อได้ (โดยไม่ต้องทำจดหมายขอแล้วขออีก) มาแผ่ให้ดูกันแบบเขตต่อเขต ปีต่อปี ต่อไป

ดังนั้น สิ่งที่สุดท้ายและสิ่งแรกที่พวกเรา #WeVis อยากฝากไปถึง #ผู้ว่ากทม และ #สมาชิกสภากทม ชุดต่อไป คือการ ‘เปิดเผยข้อมูล’ เมืองทุกๆ อย่างที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะวันนี้.. แม้แต่ “งบประมาณเบิกจ่ายใช้จริงๆ” ของ กทม. ยังไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้เลย!