Content by

งาน Open Data การเมืองไทย คุยอะไรกันบ้าง

งาน “Open Data การเมืองไทย” จัดขึ้นเนื่องในวัน International Open Data Day หรือวันข้อมูลเปิดสาธารณะ ซึ่งตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของข้อมูลสาธารณะ (Open Data) และส่งเสริมให้เกิดการรับนโยบายข้อมูลเปิดและนำไปใช้ต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวการเมือง และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง 

กิจกรรมจัดขึ้น ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.30 น. โดยทีม WeVis และบริษัท พันซ์อัพ เวิล์ด ร่วมกับ บริษัท แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)  มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF Thailand) และสถาบันพระปกเกล้า ภายในงานประกอบไปด้วยวงเสวนา 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2566 นิทรรศการผลงานข้อมูลการเมืองจากทาง WeVis และบูธกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยของ iLaw และ FNF Thailand

กิจกรรมการเสวนาดำเนินรายการโดย คุณธนิสรา เรืองเดช ผู้ก่อตั้ง WeVis โดยในวงเสวนาที่ 1 พูดคุยในหัวข้อ Pre-Election : Open Data for Fair Election ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ประกอบไปด้วย คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) คุณกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง คุณไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และคุณพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER 

บรรยากาศวงเสวนาที่ 1 หัวข้อ Pre-Election : Open Data for Fair Election

การเสวนาเริ่มต้นจาก “การทบทวนการเลือกตั้งในปี 2562” ตั้งแต่ในเรื่องของกฏกติกาและระบบเลือกตั้ง รูปแบบการรายผลคะแนน และการคำนวณคะแนนของ กกต. ว่ามีประเด็นปัญหาในเรื่องใดบ้าง รวมถึงคำถามที่ภาคประชาชนยังต้องการคำอธิบายจาก กกต. นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการนับคะแนนผลการเลือกตั้ง การรายงานผลในรูปแบบ Rapid Report และความน่าเชื่อถือของผลคะแนนแบบ Real Time ที่เป็นมิติใหม่ของการทำงานของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปีดังกล่าว

ในช่วงแรกของการเสวนา ผู้เสวนาได้สรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านคำอธิบายสองคำคือ “ความโปร่งใส” และ “คำชี้แจง” ของ กกต. ในการเลือกตั้งปี 2562 โดยถือเป็นบทเรียนให้ กกต. และพรรคการเมืองอย่างมหาศาล ซึ่งโยงไปถึงคำถามสำคัญในการพัฒนาเรื่องความพร้อมและข้อกังวลของ กกต. ในการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะถึงนี้ ผู้ร่วมเสวนาปิดท้ายวงเสวนาโดยกล่าวข้อเสนอในเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเลือกตั้งโดยการช่วย กกต. ทำงาน การเปิดเผยข้อมูลของผู้สมัครที่ กกต. ควรทำเป็นไฟล์ดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย และมีการเปิดเผยผลการนับคะแนนการเลือกตั้งรายหน่วยอย่างโปร่งใส 

ในวงเสวนาที่ 2 พูดคุยในหัวข้อ Post-Election : Open Data for Open Parliament ข้อมูลเปิดเพื่อสภาที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ประกอบไปด้วย คุณปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล คุณปกาสิต จำเรือง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำนักสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คุณณัฐภัทร เนียวกุล Project Manager HAND Social Enterprise และคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ Nation Group โดยในวงเสวนานี้ผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนจากสื่อ หน่วยงานสารสนเทศ  และพรรคการเมือง การเสวนามุ่งถกประเด็นการพูดคุยในเรื่องข้อมูลเปิดที่ได้มาจากสภา ประเด็นพูดคุยในช่วงแรกจึงเป็นการแสดงความเห็นในมุมความคาดหวังในเรื่องของข้อมูลเปิดที่มาจากสภา ได้แก่ รายการข้อมูลที่เปิดเผย รูปแบบของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยว่าสามารถเข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวกและนำไปต่อยอดต่อได้มากน้อยแค่ไหน ประโยชน์ของชุดข้อมูลเปิด รวมไปถึงความโปร่งใสของสภาในฐานะองค์กรที่มีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของชุดข้อมูลด้วยเช่นกัน จากนั้นผู้เสวนาต่อยอดประเด็นในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นต่อข้อมูลเปิดดังกล่าว เช่น ความต้องการให้สื่อท้องถิ่นและสื่อภาคพลเมืองติดตามการทำงานของ ส.ส. และในช่วงสุดท้าย วงเสวนาปิดประเด็นการพูดคุยโดยตอบคำถามว่าหากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดได้ง่าย ผลกระทบในด้านบวกต่อการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนจะเกิดขึ้นในด้านไหนบ้าง

บรรยากาศวงเสวนาที่ 2 หัวข้อ Post-Election : Open Data for Open Parliament

ทั้งนี้ ภายในกิจกรรมยังมีบูธนิทรรศการผลงานจากทาง WeVis ในชื่อ Promise Tracker โปรเจกต์ที่นำข้อมูลคำสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นไว้ มาจัดแสดงให้เห็นว่ามีคำสัญญาเรื่องไหนบ้างที่ถูกผลักดันเกิดเป็นนโยบาย และคำสัญญาไหนที่หล่นหายไปและไม่ถูกพูดถึงในสภา พร้อมทั้งบูธกิจกรรมจาก Partner ได้แก่ Campaign “Protect Our Vote – จับตาการเลือกตั้ง 66” โดย iLaw และบูธการ์ดเกมเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยโดย FNF Thailand

นิทรรศการ Promise Tracker ผลงานจากทาง WeVis
บูธ Campaign Protect Our Vote – จับตาการเลือกตั้ง 66 โดย iLaw
บูธการ์ดเกมเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตย โดย FNF Thailand

ติดตามชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ : https://fb.watch/jhiP-mVv4S/

#WeVisElection66 #opendataday2023