การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ผ่านไปแล้ว 3 เดือน แต่จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่รู้ซะทีว่าใครได้เป็นนายกฯ แถมดูท่าพรรคที่ “ชนะเลือกตั้ง” หรือได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกต่างหาก
(อัปเดต 17 สิงหาคม 2566)
หากเราตั้งต้นว่าบุคคลที่จะดำรงนายกรัฐมนตรี ควรจะเป็น “ผู้แทน” ที่ยึดโยงกับเสียงประชาชนซึ่งสะท้อนผ่านการเลือกตั้ง มันคงน่า “อ้าว” อยู่ไม่น้อย เพราะกว่า 90 ปีนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป มีหลายครั้งที่พรรคที่ได้ที่นั่ง สส. สูงสุด “พลิกล็อก” ไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี …มันเกิดอะไรขึ้นกันละเนี่ย 🧐
กี่ครั้งแล้ว ที่เกิด “ความพลิกล็อก” ในหน้าประวัติศาสตร์การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย และ อะไร คือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง บทความนี้จะชวนทุกคนมาร่วมสำรวจไปพร้อม ๆ กัน
90 ปีผ่านไป คนไทยได้นายกฯ ไม่ตรงกับ “ผลเลือกตั้ง” ไปแล้ว 8 ครั้ง
การลงมติเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 8 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500)
“ความพลิกล็อก” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พรรคสหภูมิ ครองที่นั่ง สส. สูงสุด และเตรียมเสนอชื่อ สุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ หัวหน้าพรรคชาติสังคม กังวลว่าพรรคสหภูมิซึ่งเป็นพรรคที่ตนสนับสนุนจะไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ จึงยุบรวมพรรคสหภูมิ พรรคเสรีมนังคศิลา สส. อิสระไม่สังกัดพรรค และ สส. ประเภทแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ให้มาเข้ากับพรรคชาติสังคม และรวมเสียงเพื่อลงมติให้ จอมพลถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคชาติสังคม เป็นนายกรัฐมนตรี
การลงมติเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2518)
เขยิบมายังปี 2518 ที่ชัยชนะการเลือกตั้งตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่สามารถรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งให้ที่ประชุม สส. “ไว้วางใจ” การแถลงนโยบายของพรรคได้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค จึงต้องพ้นจากตำแหน่งว่าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ที่ประชุม สส. จึงจัดให้มีการลงมติเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 โดยชัยชนะตกเป็นของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม ซึ่งรวมเสียงกับพรรคเล็กหลายพรรคจนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้พอดิบพอดีแทน
การลงมติเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2522) ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2526) และ ครั้งที่ 14 (พ.ศ. 2529)
ระหว่างปี 2522-2529 เป็นช่วงเวลาที่ “ความพลิกล็อก” ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ให้อำนาจ สว. ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารปี 2520 ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และอนุญาตให้สามารถเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” (นายกฯ ที่ไม่ได้เป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง) ได้ สิ่งที่ตามมาคือ พรรคที่ได้ที่นั่ง สส. สูงสุด แม้จะรวมเสียงกับพรรคอื่น ๆ แล้วเพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภาได้ นำไปสู่การ “หลีกทาง” แก่นายกรัฐมนตรีคนเดิมซึ่งล้วนเป็น “นายกฯ คนนอก” ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัย ได้แก่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และ พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ตามลำดับ
จริง ๆ แล้ว สถานการณ์แบบนี้เกือบจะดำเนินติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 ในการลงมติเลือกนายกหลังการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 15 (พ.ศ. 2531) หาก พล.อ.เปรม ไม่ประกาศวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ส่งผลให้ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย ได้ดำรงนายกรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่นายกฯ มาจากพรรคที่ได้ที่นั่งสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร
แต่ไม่ทันไร ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดมา “ความพลิกล็อก” ก็มาเยือนอีกหน
การลงมติเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 16 (มีนาคม พ.ศ. 2535)
ในครั้งนี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ตกเป็นของพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งครองจำนวนที่นั่ง สส. สูงสุด และสามารถรวมเสียงกับพรรคร่วมจนเป็นเสียงข้างมากในสภาได้ เนื่องจาก ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นหนึ่งใน “บุคคลต้องห้าม” ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะไม่ออกวีซ่าเดินทางเข้าประเทศให้ เพราะมีความใกล้ชิดกับผู้ค้ายาเสพติด ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 ที่บังคับใช้อยู่ ณ ขณะนั้น อนุญาตให้เสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” ได้ พรรคสามัคคีธรรมและพรรคร่วมรัฐบาลจึงร่วมกันเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผู้นำการรัฐประหารปี 2534 ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
การลงมติเลือกนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 26 (พ.ศ. 2562) และ ครั้งที่ 27 (พ.ศ. 2566)
กระโดดข้ามมายังช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ผลปรากฎว่า พรรคที่ครองจำนวนที่นั่ง สส. สูงสุดจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด ไม่สามารถเอาชนะเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ เนื่องจาก สว. ที่แต่งตั้งโดยคสช. มีสิทธิลงมติเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส. ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 โดยในครั้งที่ 26 แม้พรรคเพื่อไทยจะครองที่นั่งมากที่สุดในสภา แต่จากการรวมเสียงลงมติของ สส. พรรคการเมืองที่สนับสนุนขั้วรัฐบาล คสช. เดิม ร่วมกับ สว. เก้าอี้นายกฯ จึงตกเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหนุน พล.อ. ประยุทธ์ อดีตหัวหน้า คสช. เป็น “นายกฯ คนนอก” ในขณะที่ครั้งที่ 27 พรรคก้าวไกล ไม่สามารถครองเสียง “รับรอง” ในรัฐสภาได้ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และถูกที่ประชุมวินิจฉัยให้ไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกคนเดิมซ้ำได้อีก (ข้อมูลวันที่ 17 สิงหาคม 2566)
ถามว่า อะไร คือจุดร่วมของ “ความพลิกล็อก” เหล่านี้ …ความหักมุม? ความน่าถอนหายใจ? นั่นอาจจะเป็นคำตอบส่วนบุคคล แต่เราอยากชวนมามองลึกลงไปในเชิงกลไก ว่าในแต่ละครั้งที่ผลการลงมติเลือกนายกฯ เกิดการ “พลิกล็อก” ได้มี “กติกาพิเศษ” อะไร ถูกสอดไส้ไว้ในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?
ชวนมองย้อนถึง “รัฐธรรมนูญ” — กฎกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกผู้มีอำนาจ “ปรับเปลี่ยนแก้ไข”
สังเกตได้ว่า “ความพลิกล็อก” ของผลการลงมติเลือกนายกฯ มักเกิดภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย ”บุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร”
พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ การรัฐประหาร เท่ากับ การยกเลิกรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ ณ ขณะนั้น และแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มอบอำนาจแก่คณะรัฐประหารในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับประกาศใช้ในเวลาถัดมา ดังนั้น กฎกติกาเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกสภาในการลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงสามารถถูกคณะรัฐประหาร “ปรับเปลี่ยนแก้ไข” ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยที่ผ่านมา การ “พลิกล็อก” ผลการลงมติเลือกนายกฯ มักเป็นผลจาก “กติกาพิเศษ” 2 ข้อ ที่ถูกใส่เข้ามาในรัฐธรรมนูญภายหลังการรัฐประหาร ได้แก่
- การเพิ่มอำนาจสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ให้สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งส่งผลต่อจำนวน “เสียงขั้นต่ำ” ในการเป็นเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นหลาย ๆ ครั้ง พรรคที่ “ชนะการเลือกตั้ง” จึงไม่สามารถรวมเสียงเพื่อชนะแรงต้านจาก สส. ขั้วตรงข้ามรวมกับสมาชิกแต่งตั้งได้
- การเพิ่มบทบัญญัติให้สภาสามารถเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” มาดำรงตำแหน่งแทนที่นายกรัฐมนตรีที่เป็น สส. จากการเลือกตั้งทั่วไปได้ อาจสังเกตได้เช่นกันว่า นายกฯ คนนอกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา มักมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะในทางตรง คือ เป็นบุคคลระดับผู้บัญชาการในคณะรัฐประหาร (ได้แก่ จอมพลถนอม พล.อ.เกรียงศักดิ์ พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์) หรือในทางอ้อม คือ เป็นบุคคลที่คณะรัฐประหารให้ความไว้วางใจ (ได้แก่ พล.อ.เปรม)
พูดได้ว่าหากเราสามารถลบ “กติกาพิเศษ” เหล่านี้ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ก็อาจ ลด ช่องทางที่ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจะ “พลิกล็อก” อีกในอนาคตก็ได้
ซึ่งก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า ถ้าจะเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีไทยจะมาจากการเลือกตั้งทางตรง โดยไม่ต้องผ่านการลงมติในสภา (ลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.) เพื่อ ปิดตาย ทุกช่องทางของการ “พลิกล็อก” ผลการเลือกนายกรัฐมนตรีลง จะเป็นไปได้แค่ไหนนะ?
เป็นไปได้ไหม นายกฯ จากการเลือกตั้งทางตรง?
สำหรับประเทศไทยที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เราต้องย้อนพิจารณาใน 2 หลักการสำคัญ ดังนี้
- หลักการเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่ได้แต่งรับการแต่งตั้งโดย “ประมุขของรัฐ” คือ พระมหากษัตริย์ (ในบริบทปัจจุบันคือ การลงพระปรมาภิไธย เพื่อรับรองมติการเลือกนายกรัฐมนตรีของสภาผู้แทนราษฏร หรือรัฐสภาในบางกรณี) หรือ ประธานาธิบดี กล่าวโดยง่ายคือ นายกรัฐมนตรี จะเป็น “คนละคน” กับประมุขของรัฐ
- หลักการตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance) อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กล่าวคือ รัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) และรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) จะไม่แยกขาดจากกัน แต่จะมีกลไกการ “ตรวจสอบ” ซึ่งกันและกัน เพื่อ “ถ่วงดุล” ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอำนาจเหนือกว่า ยกตัวอย่างเช่น การที่ สส. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ ตลอดจน การที่นายกรัฐมนตรี มีที่มาจากกระบวนการออกเสียงลงมติของ สส. (หรือรัฐสภาในบางกรณี) นั่นเอง
กล่าวโดยง่ายคือ หากนายกรัฐมนตรีของไทยมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะขัดกับหลักการที่นายกฯ ต้องมีที่มาจากรัฐสภา และต้องผ่านกระบวนการ “แต่งตั้ง” (เชิงสัญลักษณ์) จากประมุขของรัฐนั่นเอง
ต้องโน้ตไว้ด้วยว่า ปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบการเลือก นายกรัฐมนตรี ทางตรง มีแค่การเลือก ประธานาธิบดี ทางตรงเท่านั้น อีกอย่างคือ ประเด็นการขัดกันของสถานะ “ประมุขของรัฐ” จะเป็นข้อถกเถียงสำคัญในการใช้ระบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางตรงในประเทศไทยอย่างเดาได้ไม่ยาก
ดังนั้น ในเมื่อการ “หยิบจับ” กับระบบเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในบริบทปัจจุบัน การพิจารณาแก้ไข “กติกาพิเศษ” ในรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สามารถรักษาฐานอำนาจของตนเองอยู่ในสภาไปได้ในระยะยาว ก็อาจพร่าเลือนหนทาง “พลิกล็อก” ผลการเลือกนายกรัฐมนตรี และนำพาประเทศไทยให้เข้าใกล้ประชาธิปไตยเต็มใบได้ ไม่ช้าก็เร็ว
📣 ร่วมส่งเสียงในประชามติภาคประชาชน เพื่อรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ลงชื่อได้ ที่นี่ ตั้งแต่วันนี้ – 20 สิงหาคม 2566
แหล่งที่มา
- การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย
- รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ที่มา ‘นายกฯ คนนอก’ กลไกสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารสามยุค
- ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ’21 ต้นแบบกติกาที่ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ
- ใครร่างนั้นสำคัญไฉน?: เปรียบเทียบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามชุดในรอบ 20 ปี
- “เลือกตั้งนายกฯ” ได้ไหม? : คำอธิบายในทางหลักการว่าด้วยที่มาของ “นายกรัฐมนตรี” ในระบบรัฐสภา