Content by

, ,

ข้อมูลงบประมาณแบบนี้ คนไทยจะได้กี่โมง?!

โปร่งใส (Transparency) – เข้าถึงง่าย (Accessibility) – ใช้งานได้จริง (Usability) คือขั้นต่ำที่สุด ที่ประชาชนอย่างเราๆ คาดหวังกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และหนึ่งในชุดข้อมูลนั้นก็คือ ‘การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน’

เมื่อพูดถึงคำว่า งบประมาณ บางคนอาจจะตั้งคำถาม ว่าเราจะรู้เรื่องงบประมาณของภาครัฐไปทำไม และถึงจะตอบคำถามได้ว่าเพราะเราคือประชาชนผู้เสียภาษี เราจึงมีสิทธิในการปกป้องเงินเหล่านี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นได้ หลายคนก็อาจจะท้อ เพราะพอตั้งใจจะติดตาม มีความเห็น และตรวจสอบเรื่องงบประมาณ ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงและเข้าใจยากเหลือเกิน

จริงๆ แล้ว งบประมาณเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก หรือแค่ถูกทำให้เข้าใจยากกันแน่?

ใน Open Budget Survey 2021 ของ International Budget Partnership (IBP) องค์กรช่วยพัฒนาการจัดสรรงบประมาณในแต่ละประเทศให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากประชาชน ระบุคะแนนของประเทศไทยในแต่ละด้านดังนี้

  • Participation เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมขนาดไหน ได้ 11/100 คะแนน
  • Budget Oversight หน่วยงานกำกับดูแล ทำงานได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน ได้ 59/100 คะแนน
  • Transparency ข้อมูลงบเปิดเผยต่อสาธารณะแค่ไหน ทันเวลาใช้งานรึเปล่า ได้ 58/100 คะแนน

ซึ่งถ้าดูในรายละเอียดรายงาน จะเห็นเลยว่าที่คะแนนต่ำขนาดนี้ เพราะการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณยังอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจและใช้งานยาก รวมถึงยังพยายามสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนไม่เพียงพอ อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนยังมีน้อยมาก จึงอาจจะพูดได้ว่า ที่งบประมาณเป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะยังไม่โปร่งใส เข้าถึงง่าย และใช้งานได้จริง

ดังนั้น ภาษีไปไหน.. จึงไม่ใช่เพียงแค่คำถามของประชาชน แต่เป็นหน้าที่ที่หน่วยงานรัฐ ทั้งผู้รับผิดชอบหลักอย่างสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานรัฐไหนก็ตามที่ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินภาษี ที่ต้องทำให้เรื่องงบประมาณเข้าใจง่ายขึ้น ยิ่งในยุคดิจิทัลที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเปิดเผยข้อมูลให้รัฐโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนได้ เราจึงยิ่งคาดหวังมากขึ้น ว่าเราจะมีหนทางติดตามภาษีและการใช้จ่ายงบประมาณที่เข้าถึง เข้าใจ และเข้าใช้ง่าย

ก่อนประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้น ชวนวาดภาพฝันผ่านตัวอย่างที่น่าสนใจจากหลายประเทศ เพื่อกระตุกให้หน่วยงานรัฐก้าวข้ามกรอบการทำงานแบบเดิมๆ และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและติดตามการใช้ภาษีของเราทุกคน


🇺🇸 USA SPENDING

https://www.usaspending.gov

เว็บไซต์นี้เป็นผลผลิตมาจากการออกกฎหมาย Federal Funding Accountability and Transparency Act (FSRS) ในปี 2006 เพื่อแก้ปัญหาข้อมูลงบประมาณของรัฐที่ไม่สมบูรณ์ ขาดมาตรฐาน และกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ  ทำให้ประชาชนเข้าถึงและค้นหาได้ยาก โดยหลังจากการสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการออกกฎหมาย Digital Accountability and Transparency Act (DATA Act) เพิ่มในปี 2014 เพื่อสร้างมาตรฐานในการรายงานข้อมูล รวมถึงการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลให้มีคุณภาพ 

ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณที่เปิดเผยในเว็บไซต์นี้ ประกอบด้วยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร (ใครได้เท่าไหร่) และงบประมาณที่ใช้จริง โดยมีข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้เปรียบเทียบผ่านช่วงเวลาหรือติดตามโครงการระยะยาวได้ ที่น่าสนใจคือมีการจำแนกการใช้จ่ายตามมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ตามหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับกระทรวง ไปจนถึงหน่วยงานย่อยภายในแต่ละกระทรวง
  • ตามพื้นที่ ตั้งแต่ระดับรัฐไปจนถึงเขตการปกครอง
  • ตามประเภทของธุรกิจที่รับเงินจากรัฐ เช่น ธุรกิจโดยผู้หญิง ธุรกิจโดยชนกลุ่มน้อย ธุรกิจโดยทหารผ่านศึก ธุรกิจไม่แสวงหาผลกำไร
  • ตามลักษณะงาน เช่น สวัสดิการสังคม สุขภาพ การศึกษา ขนส่งสาธารณะ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร พลังงาน
  • ตามประเภทของงบประมาณ เช่น สัญญา (Contract) ทุน (Grant) สินเชื่อ (Loan) ประกัน (Insurance)
  • ข้อมูลการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ Covid-19 โดยเฉพาะ

โดยนำเสนอข้อมูลผ่านลิสต์รายการและ Visualization ที่เข้าใจง่าย เน้นให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหางบประมาณตามมิติที่สนใจ แบบค่อยๆ เจาะลึกจากภาพรวมไปสู่รายการย่อยได้ (ตัวอย่าง) ที่ดีโดนใจคือแต่ละรายการย่อย แสดงข้อมูลการใช้งบประมาณละเอียดถึงระดับประวัติการโอนเงินแต่ละครั้ง (ตัวอย่าง)

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • ความละเอียดและครบถ้วนของข้อมูล : มีข้อมูลจากกว่า 100 หน่วยงานรัฐ, บริษัทที่ได้เงินจากรัฐกว่า 17 ล้านแห่ง และรายการใช้งบประมาณกว่า 140 ล้านรายการ
  • ความเป็นปัจจุบันของข้อมูล : ข้อมูลในเว็บไซต์มีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ หน่วยงานส่งมาให้โดยตรงตามที่ระบุไว้ใน DATA Act ซึ่งมีการอัปเดตรายเดือน และการดึงข้อมูลมาจากระบบต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งมีการอัปเดตภายใน 1-2 วัน หลังจากหน่วยงานส่งข้อมูลเข้าระบบ
  • การอำนวยความสะดวกให้นำข้อมูลไปใช้ต่อ: มี API และ Open Source ใน Github
  • เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการปูพื้นฐานเรื่องงบให้กับประชาชน : ไม่ว่าจะเป็นการมี Tutorial Video สอนการใช้งานเว็บไซต์ มีการอธิบายโครงสร้างงบประมาณ ที่มาข้อมูล และการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ อย่างรัดกุม เข้าใจง่าย ด้วยภาษาและวิธีนำเสนอที่เป็นมิตรต่อประชาชนทั่วไป (Data Source) รวมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์เฉพาะอยู่ในทุกจุดของเว็บไซต์ โดยสามารถเลือกระดับภาษาได้ ว่าต้องการภาษาทั่วไป (Plain Language) หรือภาษาทางการ (Official Definition)


🇰🇷 OPEN FISCAL DATA

https://www.openfiscaldata.go.kr/op/en/index

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของเกาหลีใต้ ทำเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณในแต่ละปีของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และงบประมาณสำหรับการศึกษาท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดมีข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2007 โดยในเว็บไซต์จะมี

  • ข้อมูลรายได้ ประกอบด้วย
    • การเปลี่ยนแปลงของรายได้จากอดีตถึงปัจจุบัน
    • จำนวนและสัดส่วนรายได้แบ่งตามประเภทแหล่งที่มา เช่น ภาษีประเภทต่างๆ รายได้ที่ไม่ใช่ภาษี เงินอุดหนุน 
  • ข้อมูลรายจ่าย ประกอบด้วย
    • การเปลี่ยนแปลงของรายจ่ายจากอดีตถึงปัจจุบัน
    • จำนวนและสัดส่วนรายจ่าย แบ่งตามมิติต่างๆ ได้แก่
      • ตามลักษณะงาน เช่น สวัสดิการสังคม การศึกษา การป้องกันประเทศ ฯลฯ โดยในแต่ละลักษณะงาน สามารถแบ่งประเภทย่อยได้อีก 1 ระดับ เช่น การศึกษา แบ่งออกเป็นระดับปฐมวัย ระดับอุดมศึกษา การศึกษาทั่วไป และการศึกษาตลอดชีพ
      • ตามเมือง เช่น โซล ปูซาน
      • ตามประเภท เช่น ค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงาน การใช้สินค้าและบริการ ดอกเบี้ย เงินอุดหนุน สวัสดิการสังคม
      • ตามกระทรวง
  • ข้อมูลดุลการคลัง ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนรายได้-รายจ่ายจากอดีตถึงปัจจุบัน
  • ข้อมูลหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธาณะจากอดีตถึงปัจจุบัน และจำนวนหนี้สาธารณะแบ่งตามประเภท เช่น หนี้ขาดดุล หนี้ทางการเงิน
  • ข้อมูลทรัพย์สินของชาติ เช่น จำนวน-มูลค่าพื้นที่ มูลค่าอาคาร/สิ่งก่อสร้าง
  • สถิติเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น 
    • เงินคงเหลือ
    • การลงทุนของกองทุนบำนาญ
    • อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนบำนาญ
    • สถานะหนี้สินที่ได้รับการค้ำประกัน
  • สถิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น อัตราผลตอบแทนตลาด, อัตราดอกเบี้ย, การฝากเงินและสินเชื่อ, ปริมาณเงินหมุนเวียน, อัตราแลกเปลี่ยน, หุ้น, พันธบัตร, อัตราการเติบโต, รายได้ของครัวเรือน, จำนวนประชากร

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • สามารถสำรวจข้อมูลทางสถิติต่างๆ ผ่านแผนภูมิที่เข้าใจง่าย
  • สามารถดาวน์โหลดข้อมูลเฉพาะส่วนได้ ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดข้อมูลก้อนใหญ่ และมีหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งไฟล์ภาพ pdf, csv, excel
  • มีการแบ่งเว็บไซต์ออกเป็น 2 ส่วนหลักตามประเภทผู้ใช้งาน คือ สรุปภาพรวม สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และรายละเอียดเชิงลึก สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ 
  • มีสถิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ นอกเหนือจากเรื่องงบประมาณ รวมไว้ในที่เดียว


🇰🇷 MY BUDGET

https://www.mybudget.go.kr

นอกจากเว็บไซต์เปิดเผยข้อมูลงบประมาณ ในเกาหลีใต้ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสด้วย

ในประเทศเกาหลีใต้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2012 และหลังจากที่ Park Won Soon ผู้มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในขบวนการภาคประชาสังคม ขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโซลในปี 2014 ระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมได้ผลักดันไปข้างหน้าอย่างเข้มข้นมากขึ้น และเว็บไซต์นี้ที่จัดทำโดยกระทรวงการคลัง (Ministry of Strategy and Finance) เพื่อสร้างงบประมาณแบบมีส่วนร่วมนั้น จะมีข้อมูลเหล่านี้ ให้ประชาชนเกาหลีใต้สามารถทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมได้

  • การปูพื้นฐานให้ประชาชนก่อน ตั้งแต่การแนะนำระบบการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม
  • กระบวนการพิจารณา 
    • ประชาชนเสนอโครงการ 
    • ตรวจสอบความเป็นไปได้โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 
    • ผู้เสนอ+ ผู้เชี่ยวชาญ+หน่วยงานรัฐ+คณะกรรมการ ร่วมกันพัฒนาโครงการ 
    • คณะกรรมการเอาโครงการทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณา ไปให้สาธารณะโหวตเพื่อจัดลำดับความสำคัญ 
    • ประเมินจาก 4 เกณฑ์ คือ ความเป็นไปได้, ประสิทธิผล, ประโยชน์สาธารณะ, เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ
  • แผนการดำเนินงานระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของประชาชนประจำปีงบประมาณในแต่ละปี
  • รายชื่อโครงการและข้อมูลโครงการที่ได้รับการเสนอ
  • รายชื่อโครงการและข้อมูลโครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • ประชาชนเกาหลีใต้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ แสดงความคิดเห็น หรือร่วมอภิปรายข้อเสนอแนะโครงการได้
  • ผู้เสนอโครงการสามารถติดตามสถานะการยื่นหรือความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับพิจารณาจากกระทรวงต่าง ๆ ได้
  • สามารถดูโครงการย้อนหลังได้ถึงปีงบประมาณ 2020 โดยค้นหาผ่านคำที่เกี่ยวข้อง หัวข้อ หรือชื่อผู้เสนอได้
  • มีวีดีโอเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบงบประมาณภายในประเทศเกาหลีใต้ด้วย


🇿🇦 VULEKAMALI

https://vulekamali.gov.za/

แม้ประเเทศแอฟริกาใต้จะถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของ Open Budget Index ในปี 2017 ด้านการเปิดเผยงบประมาณ แต่จำนวนคนที่เข้ามาใช้งานข้อมูลในเว็บไซต์สำนักงบประมาณยังคงมีจำนวนน้อย เว็บไซต์นี้จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยสำนักงบประมาณ ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน IMALI YETHU เพื่อเผยแพร่ข้อมูลงบประมาณในรูปแบบที่ใช้งานง่ายขึ้น เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการงบประมาณ และทำให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลได้

ในเว็บไซต์จะมีข้อมูลงบประมาณ จำแนกได้เป็น 2 มิติ

  • แบ่งตามลักษณะงาน เช่น สาธารณสุข, การเรียนรู้และวัฒนธรรม, ค่าใช้จ่ายในการบริการหนี้, การพัฒนาเศรษฐกิจ, การพัฒนาสังคม, การพัฒนาชุมชน, สันติภาพและความมั่นคง, บริการสาธารณะทั่วไป
  • แบ่งตามหน่วยงาน (ตัวอย่าง) โดยข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
    • แผนการใช้งบ (Plan) ประกอบด้วย
      • สัดส่วนการใช้งบรายกิจกรรม/โครงการ
      • สัดส่วนการใช้งบรายหมวดเศรษฐกิจ เช่น การบริหารจัดการ, กิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาชน, การอพยพ, การสนับสนุนสถาบันและการโอนเงิน
    • การใช้งบ (Implement) ประกอบด้วย
      • จำนวนเงินรวมจากการทำธุรกรรมของแต่ละหน่วยงานรายเดือน
      • ตัวชี้วัดของการใช้งบแต่ละหมวดเศรษฐกิจ โดยแสดงเป้าหมายของแต่ละตัวชี้วัด และผลลัพท์จากการประเมิน เป็นรายไตรมาส
    • ทบทวนการใช้งบ (Review) ประกอบด้วย
      • ข้อมูลการใช้งบย้อนหลัง 4 ปี และแผนการใช้ล่วงหน้า 2 ปี
      • เปรียบเทียบงบที่วางแผน และ งบที่ใช้จริง ของแต่ละปีย้อนหลังถึงปี 2020
      • เปรียบเทียบงบที่วางแผน และ งบที่ใช้จริง เป็นรายโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตัดสินใจ ติดตาม และตรวจสอบงบประมาณ สอดคล้องกับบริบทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ ที่มีรายละเอียดจัดเต็มมาก

  • โครงการสำคัญของแต่ละเทศบาล (ตัวอย่าง)
    • สถานะโครงการ เช่น เริ่มต้น ศึกษาความเป็นไปได้ ประกวดราคา ก่อสร้าง เสร็จสิ้น พักชั่วคราว ยกเลิก
    • งบประมาณที่ใช้ – งบที่วางแผนจะใช้ในแต่ละปี – งบที่เบิกจ่ายจริงในแต่ละปี
    • ประเภทสิ่งก่อสร้าง เช่น ขนส่งสาธารณะ ระบบบำบัดน้ำเสีย
    • ประเภทการลงทุน เช่น สร้างใหม่ พัฒนาปรับปรุง
    • หน่วยงานที่รับผิดชอบ
  • โครงการทั่วไป (ตัวอย่าง)
    • พิกัดของโครงการ
    • แหล่งทุน
    • หน่วยงานที่รับผิดชอบ
    • บริษัทที่เกี่ยวข้อง
    • งบประมาณที่ใช้ – งบที่วางแผนจะใช้ในแต่ละปี – งบที่เบิกจ่ายจริงในแต่ละปี
    • ไทม์ไลน์การก่อสร้าง (วันที่เริ่ม – วันที่คาดว่าจะเสร็จ)

อีกทั้งยังรวมช่องทางไปดูข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ในเว็บไซต์อื่นๆ (ตัวอย่าง) เช่น รายชื่อผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายที่ถูกห้ามทำธุรกิจกับรัฐ คำขอเพื่อละเว้นขั้นตอนการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หรือคำขอขยายและต่ออายุสัญญา

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • สามารถดูสรุปภาพรวมการใช้งบประมาณแบ่งตามลักษณะงาน แล้วสำรวจต่อได้ว่างบที่เกี่ยวแต่ละลักษณะงานถูกจัดสรรไปให้ แต่ละเทศบาลเป็นสัดส่วนเท่าไหร่
  • ค้นหาการใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานได้ (ตัวอย่าง)
  • ค้นหาโครงการก่อสร้างภาครัฐผ่านการเสิร์ชชื่อ หรือกรองด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น หน่วยงาน สถานะโครงการ ปีงบประมาณ แหล่งทุน (ตัวอย่าง)
  • มีคู่มืออธิบายการวางแผนและการบริหารจัดการการปฏิบัติงานของรัฐบาล เพื่อให้บริการที่ดีขึ้นกับประชาชนด้วย
  • ข้อมูลการใช้งบรายหน่วยงาน ที่มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามปฏิทินงบประมาณ คือ แผนการใช้งบ การใช้งบ และทบทวนการใช้งบ ทำให้ประชาชนเห็นภาพกระบวนการงบประมาณไปด้วย
  • มี Tutorial Video และ บทความ Guideline สอนการใช้งานเว็บไซต์ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการงบประมาณ
  • มีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น รับ feedback จากผู้ใช้งาน เพื่อนำไปพัฒนาให้ตอบสนองตามความต้องการประชาชน และสามารถรายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ หรือแม้แต่ตั้งกระทู้ถกเถียงเกี่ยวกับข้อมูลที่แสดงในเว็บไซต์ได้
  • มีการเปิดเผยข้อมูลให้นำไปใช้ต่อได้ง่ายในรูปแบบ API


🇪🇸 DECIDIM

https://decidim.org

Decidim (ที่แปลว่า ‘We Decide’) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจัดสรรงบประมาณและโครงการสาธารณะที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ถูกพัฒนาขึ้นที่บาร์เซโลนาเมื่อปี 2016 ก่อนถูกนำไปใช้ในหลายๆ เมืองในสเปน รวมถึงในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ตัวอย่างการใช้งานที่ Barcelona

https://www.decidim.barcelona

สภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการร่างแผนปฏิบัติเพื่อการบริหารท้องถิ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยสภาเทศบาลได้ให้ประชาชนเสนอแนวทางในการจัดสรรงบประมาณของสภาเทศบาลเมือง โดยมีประชาชนร่วมลงคะแนนเสียงมากถึง 160,000 คน และเสนอแผนการจัดสรรงบมากกว่า 10,860 แผน

ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ เว็บไซต์นี้กลายเป็นช่องทางสำหรับประชาชน ในการเสนอกิจกรรมต่างๆ ผ่านการรวบรวมลายเซ็น (ขั้นต่ำประมาณ 80,000 ชื่อ) เพื่อนำเสนอสู่สภาเทศบาลเมือง ให้ดำเนินการบางสิ่งเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม โดยประชาชนและสภาเทศบาลเมืองจะประชุมกันเป็นประจำ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสมอ โดยข้อเสนออาจเป็นการดำเนินงานเชิงพื้นที่ หรือเชิงประเด็นต่าง ๆ (เช่น สภาสตรี สภาวัฒนธรรม สภาการศึกษา) ในกรณีที่ผู้รับผิดชอบประเด็นเฉพาะที่ขาดหายไป พลเมืองสามารถร้องขอให้มีการสร้างองค์กรการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นนั้นๆ ได้ด้วย

นอกจากข้อเสนอจากฝั่งประชาชนแล้ว เว็บไซต์นี้ยังเป็นช่องทางการประชุมและเจรจาตามปกติระหว่างประชาชนและสภาเทศบาลเมือง เพื่ออภิปรายนโยบายของเทศบาลด้วย

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • มี Tutorial Video และ บทความ Guideline สอนการใช้งานเว็บไซต์ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม
  • คำอธิบายวิธีการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ริเริ่มหรือในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงที่ชัดเจน สอนเป็น Step-by-step
  • สามารถดูรายละเอียดการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นของแต่ละโครงการได้ พร้อมพิกัดสถานที่
  • สามารถยื่นข้อเสนอแก้ไขเอกสารต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการได้
  • สามารถลงคะแนน ร่วมแสดงความคิดเห็น และติดตามความคืบหน้าของโครงการได้แบบเรียลไทม์ 
  • มีให้ดาวน์โหลดข้อมูลเปิด ในรูปแบบไฟล์ csv และพัฒนาโปรเจกต์เป็น Open Source ใน GitHub 

ตัวอย่างการใช้งานที่ Madrid

https://decide.madrid.es/

คล้ายกันกับที่บาร์เซโลนา เมืองแมดริดก็นำแพลตฟอร์มนี้มาใช้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทำงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรับข้อเสนอการปรับปรุงเมือง การเปิดให้เสนอกฎหมาย การปรึกษาหารือก่อนที่จะมีการดำเนินกิจการใดๆ รวมถึงช่วยจัดสรรงบประมาณผ่านการโหวต เพื่อหาโครงการที่เหมาะสมตรงต่อความต้องการที่ตอบโจทย์ประชาชน

👀 สิ่งที่น่าสนใจในเว็บไซต์นี้

  • สามารถเลือกดูข้อมูลตามแต่ละขั้นตอนการพิจารณาได้ ซึ่งทำให้เห็นกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกรายละเอียด 
  • มีช่องทางรวบรวมปัญหาให้คนแต่ละพื้นที่มาถกเถียง/สนับสนุนกัน
  • เสนอการดำเนินการใหม่ต่อสภาเทศบาลเมืองได้ โดยหากข้อเสนอของพลเมืองได้รับการสนับสนุนจาก 1% ของผู้ที่มีอายุเกิน 16 ปีที่ลงทะเบียนในเมืองมาดริด สภาเทศบาลเมืองจะเรียกการลงคะแนนเสียงของพลเมือง หากมีผู้เห็นชอบมากกว่าต่อต้าน รัฐบาลท้องถิ่นจะศึกษาความเป็นไปได้โดยมีเป้าหมายในการนำไปใช้ในเมือง
  • สามารถดูหัวข้อและคะแนนโหวตย้อนหลังได้


เราเชื่อว่าทุกภาพฝันที่หยิบยกมาเล่าในที่นี้ ไม่ได้ไกลเกินความจริงที่ประเทศไทยจะไปถึง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารในแต่ละขั้นตอนให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และเข้าใช้ง่าย หรือการพยายามช่องทางการมีส่วนร่วม-ปรึกษาหารือระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้การตัดสินใจใช้เงินทุกบาท คุ้มค่าและมีคุณค่ากับส่วนร่วมมากที่สุด

เข้าใจกระบวนการพิจารณางบประมาณที่นี่ https://wevis.info/thaibudgetprocess
ดูและดาวน์โหลดข้อมูล ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย 2567 ที่นี่ https://wevis.info/budgetviz67