เลือกตั้งทีไร.. ก็จะเห็นแต่ละพรรคการเมืองออกมาขายนโยบาย (บางทีก็เหมือนขายฝัน) ‘สัญญา’ ว่าหากได้รับเลือกแล้วจะทำนั่นทำนี่ให้ 
ปฎิเสธไม่ได้ว่า สำหรับประชาชนหลายคน คำสัญญาหรือนโยบายเหล่านั้น ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งเหมือนกันนะ
แต่พอเลือกตั้งไปแล้ว เป็นกันไหม.. ที่ส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนโดนเท ที่เคยมาหาบ่อยๆ ก็หายหน้า ที่หาเสียงกันไว้ก็ติดตามไม่ได้ ว่าลงมือทำอะไรกันไปบ้างเพื่อรักษาคำพูดที่เคยให้ เลวร้ายสุดๆ ถึงขั้นปฏิเสธว่าไม่เคยพูดเลยก็มี (ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม~)
ในหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ความรับผิดชอบของนักการเมือง (Accountability) และ การมีส่วนร่วมของประชาชน (Civic Engagement) จึงมีเครื่องมืออย่าง Promise Tracker ที่พัฒนาโดยภาคประชาชน หรือในหลายประเทศก็มีภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เพื่อเปิดข้อมูลและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน ได้รับรู้ ติดตาม และสามารถทวงถาม ‘คำสัญญาของนัก/พรรคการเมือง’ ที่ให้ไว้ได้สะดวกขึ้น เพื่อไม่ปล่อยให้คำสัญญา.. มีไว้ใช้แค่ตอนหาเสียงเพียงอย่างเดียว
ลองมาดูกันดีกว่าว่า มีเครื่องมือ Promise Tracker ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจการบ้าน และทวงถามคำสัญญาของนัก/พรรคการเมืองในประเทศไหนบ้าง
Promise Tracker by WeVis

เท่าที่รู้มา ยังไม่เคยเห็นที่ที่รวบรวมคำสัญญาของนัก/พรรคการเมืองไทยเอาไว้เป็นชิ้นเป็นอัน และเพราะไม่อยากอกหักกับการเมืองและการเลือกตั้งไทยอีก องค์กรภาคประชาชนอย่าง WeVis เลยทดลองทำแพลตฟอร์มสำหรับติดตามคำสัญญาช่วงหาเสียง โดยเริ่มจากการรวบรวมนโยบาย/คำสัญญาทั้งหลายที่พรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้(เคย)เข้าไปนั่งในสภาจากการเลือกตั้งปี 2562 มารวมไว้ และทีมงานก็พยายามสืบค้นจากฐานข้อมูลรัฐสภาและสื่อต่างๆ ว่าคำสัญญาเหล่านั้น ได้ถูกดำเนินการมากน้อยแค่ไหน และเปิดโอกาสให้แชร์ไปทวงถามคำสัญญาได้ ซึ่งประชาชนหรือพรรคการเมือง ก็สามารถรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาได้ทาง Feedback Form เพื่อช่วยให้แพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์ขึ้น เผื่อไว้เป็นตัวช่วยสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง
https://promisetracker.wevis.info/
Biden Promise Tracker by Politifact

เหมือนจะเป็นธรรมเนียมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการมาตั้งแต่สมัยบารัค โอบามา, โดนัลด์ ทรัปม์ มาถึง โจ ไบเดน ที่พอรับตำแหน่งปุ๊บ ทีมประธานาธิบดีเอง ก็จะขึ้นเว็บไซต์เพื่อสื่อสารกับประชาชนว่า 100 นโยบายแรกที่ให้ความสำคัญคืออะไร และอัพเดทว่าทำอะไรไปบ้างใน 100 วันแรกที่รับตำแหน่ง แต่องค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Politifact เองก็ตามประกบเพื่อตรวจสอบเช่นกัน (ดูเว็บไซต์ของไบเดนที่ปิดไปแล้วย้อนหลังได้ที่ https://web.archive.org/web/20211220214048/https://trackbiden.com) โดยวิธีการก็คือเอานโยบายที่ประธานาธิบดีประกาศนั่นแหละ เป็นตัวตั้ง แล้วใช้ทีมข่าว Fact-checking เพื่อหาผลลัพธ์ที่จับต้องได้มารายงาน พร้อมระบุสถานะของคำสัญญา ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ไหนที่ตั้งไว้
https://www.politifact.com/truth-o-meter/promises/biden-promise-tracker/
Polimeter by Vox Pop Lab

ในแคนาดา Center for Public Policy Analysis (CAPP) ก็ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม Vox Pop Labs รวมเอานโยบาย/คำสัญญาของแต่ละพรรคการเมืองที่โปรโมตในช่วงเลือกตั้ง ทั้งบน Official Website และเอกสารต่างๆ ที่ส่งให้สื่อ แล้วเอามาแยกประเภทเพื่อติดตาม ที่น่าสนใจ Polimeter นี้ คือไม่ได้มีแค่การติดตามสัญญาระดับประเทศ แต่ยังมีการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เพื่อติดตามนโยบาย/คำสัญญาระดับท้องถิ่น อย่างใน Ontario, New Brunswick หรือ Quebec ด้วย

Del Dicho al Hecho by Ciudadanía Inteligente

องค์กรภาคประชาสังคมในละตินอเมริกา ก็ทำแพลตฟอร์ม Del Dicho al Hecho ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘From Saying to Doing’ ที่รวบรวมเอาคำแถลงนโยบายของประธานาธิบดี Sebastián Piñera (สมัยยังดำรงตำแหน่ง) มาตรวจการบ้านว่ามันมีการออกเป็นกฎหมาย/นโยบายที่บังคับใช้จริงแค่ไหน แถมลิงก์ต่อไปให้ดูร่างกฎหมาย/โปรเจกต์แบบเป็นรูปธรรม และตรวจแบบละเอียดแบบปีต่อปีกันเลยทีเดียว
Rouhani Meter by ASL19

กลุ่ม Civic Tech ในอิหร่าน ก็พัฒนาเครื่องมือมาเพื่อตรวจสอบและติดตามการทำงานของประธานาธิบดี Hassan Rouhani เช่นกัน เว็บดูง่ายๆ คลีนๆ แบ่งคำสัญญาเป็น 4 หมวด (Foreign Policy, Economy, Domestic Policy, และ Socio-cultural Matters) กับอีก 6 สถานะ (ชอบตรงที่มีหน้า Rouhani แสดงอารมณ์ตามสเตตัสด้วย) โดยแต่ละคำสัญญามีรายละเอียดสั้นๆ พร้อม Timeline ความคืบหน้าง่าย แถมให้คนโหวตอัพคำสัญญาที่สนใจให้ขึ้นมาหน้าแรกได้ด้วย
Lahidi by ABLOGUI

ฝั่ง West Africa ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างของประเทศกินี (Guinea) ก็มีแพลตฟอร์มให้ประชาชนติดตามนโบยาย/คำสัญญาของคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ได้ ส่วนที่พิเศษขึ้นมาก็คือนอกจากแบ่งหัวข้อ (Topic) และสถานะ (Status) ได้คล้ายๆ กับแพลตฟอร์มอื่นแล้ว ยังมีการแบ่งประเภทของคนสัญญาเป็นมิติของนายกรัฐมนตรี และแบ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แล้วยังเลือกดูว่าคำสัญญานั้นเกี่ยวกับท้องที่ไหน (locality) ได้อีกด้วย
OJITO (Observatorio Joven de Inclumplimiento Político)

สุดท้ายเป็นโปรเจกต์ของเยาวชนในประเทศสเปน ที่มีความในใจเฉพาะเรื่อง และต้องการติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ ในรัฐสภา เพื่อให้รักษาสัญญา/นโยบายที่เคยให้ไว้ โดยงานนี้จะโฟกัสตามธีม 6 เรื่องหลักๆ คือ LGTBIQ+, ผู้อพยพ, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, ความยากจนในเด็ก, การว่างงานของวัยเริ่มทำงาน