24 มิถุนายน 2475 เช้าตรู่แห่งการพลิกประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย คณะราษฎร ได้ประกาศ ‘กำเนิดรัฐธรรมนูญ‘ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 9 ทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางประชาธิปไตยของไทยกลับเต็มไปด้วยคลื่นลม (แรง) จากหลากหลายความผันผวนทางการเมือง ทั้งการรัฐประหาร การช่วงชิงอำนาจ การยุบพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ไปจนถึงความพยายามในการสร้าง “กติกาใหม่” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่คำถามที่ยังสะท้อนอยู่ในใจของหลายคนคือ…
“ประชาธิปไตยไทยในวันนี้ อยู่ ณ จุดไหน? ใกล้จะเต็มใบแล้วหรือยังนะ?
WeVis ชวนทุกคนร่วมกัน “สำรวจสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศไทย” ผ่านการวิเคราะห์จาก ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดระดับประชาธิปไตยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่เพียงเพื่อดูว่าไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก แต่ยังเพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่า…
เรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือแค่ย่ำอยู่กับที่ ภายใต้ระบบที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยกันแน่?
🙌 ดัชนีประชาธิปไตย มาตราวัดอำนาจของประชาชน
ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) คือ ดัชนีชี้วัดสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ครอบคลุม 167 ประเทศทั่วโลก โดยจัดทำโดย Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยด้านเศรษฐกิจภายใต้ The Economist Group กลุ่มเจ้าของนิตยสาร The Economist
ในช่วงแรกของการเผยแพร่ Democracy Index จัดทำขึ้นทุกสองปี โดยรายงานฉบับแรกได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2006 ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นรายงานประจำปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา ปัจจุบัน รายงาน Democracy Index สามารถอ่านหรือดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ของ EIU ที่: https://www.eiu.com/n/global-themes/democracy-index/

วัดกันที่อะไร?: ถอดรหัสตัวชี้วัดและเกณฑ์การให้คะแนน
การประเมินสถานะประชาธิปไตยของแต่ละประเทศอ้างอิงจากตัวชี้วัด 5 ด้านหลัก ซึ่งครอบคลุมทั้งโครงสร้างและวัฒนธรรมทางการเมือง ได้แก่
- กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral Process and Pluralism)
- เสรีภาพของพลเมือง (Civil Liberties)
- หน้าที่ของรัฐบาล (The Functioning of Government)
- การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation)
- วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
คะแนนประชาธิปไตยจะถูกรวมจากตัวชี้วัดต่าง ๆ และแปลงเป็นคะแนนเต็ม 10 เพื่อจัดอันดับประเทศออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ (Full Democracies) 8-10 คะแนน
- ประเทศที่ประชาธิปไตยมีตำหนิ (Flawed Democracies) 6-7.9 คะแนน
- ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยม (Hybrid Regimes) 4-5.9 คะแนน
- ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (Authoritarian Regimes) ต่ำกว่า 4 คะแนน
ระบบคะแนนนี้ ไม่เพียงช่วยระบุสถานะของแต่ละประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงชี้ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ความท้าทาย และโอกาสในการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคงยิ่งขึ้น
😕 ผลสำรวจล่าสุด สถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลกน่าผิดหวัง?
อ้างอิงจากรายงาน ‘Democracy Index 2024: What’s wrong with representative democracy?‘ โดย The Economist ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา พบว่า …..
ในปี 2024 ประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่ในภาวะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่เสรีภาพทั่วโลกเสื่อมถอยลงนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19

ประชาธิปไตยโลกกำลังซบเซา?
จากการสำรวจพบว่ามีแค่ 37 ประเทศเท่านั้นที่มีคะแนนดัชนีประชาธิปไตยดีขึ้น แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีการปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย และมักเริ่มจากฐานคะแนนที่ต่ำ ในทางกลับกัน มีมากถึง 83 ประเทศที่คะแนนดัชนีประชาธิปไตยร่วงลง และในบางกรณีเป็นการลดลงในระดับที่มีนัยสำคัญ ส่วนอีก 47 ประเทศก็ยังคงนิ่งสนิท ไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงไปกว่าเดิม
นอกจากนี้ จำนวนประเทศที่จัดว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ’ ลดลงไปถึง 3 ประเทศ จากปี 2023 เหลือแค่ 71 ประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมองจากภาพรวมทั้งหมดแล้ว คะแนนเฉลี่ยของดัชนีประชาธิปไตยทั่วโลกลดลงเล็กน้อย จาก 5.23 ในปี 2023 เหลือ 5.17 ในปี 2024 (ลดไป 0.06 คะแนน) ถึงแม้จะลดลงไม่เยอะ แต่นี่อาจเป็นสัญญาณว่า ‘ประชาธิปไตยกำลังเผชิญกับความท้าทาย’

หมายเหตุ: ‘ประชากรทั่วโลก’ หมายถึง ประชากรรวมทั้งหมดของ 167 ประเทศ
(165 ประเทศและ 2 ดินแดน) ที่ครอบคลุมโดยดัชนี ที่มา: EIU
ระบอบอำนาจนิยมกำลังผงาด
แม้ว่าในปี 2024 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่ คะแนนเฉลี่ยของ 71 ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยกลับไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวัง
ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับในรายงาน ตอกย้ำแนวโน้ม การขยายตัวของระบอบอำนาจนิยมในระดับโลกที่สะท้อนโดยตรงถึงการถดถอยของประชาธิปไตย อย่างชัดเจน ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยมที่ผสมผสานระหว่างกลไกการเลือกตั้งกับพฤติกรรมแบบ ‘อำนาจนิยม’ และ ‘ระบอบเผด็จการ’ ทั้งสิ้น 36 ประเทศ
นอกจากนี้ ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ระบอบเผด็จการ’ ถึงทั้งสิ้น 60 ประเทศ เพิ่มขึ้น 1 ประเทศ จากปี 2023 เป็น 60 ประเทศในปี 2024 และหากเทียบย้อนหลังไปถึงปี 2014 พบว่าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 52 ประเทศในเวลาเพียงทศวรรษเดียว
แม้ประชาธิปไตยทั่วโลกจะซบเซา แต่ยังมีความหวังเสมอ

แผนภาพด้านบนแสดงให้เห็น แนวโน้มของคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละหมวดหมู่ของดัชนีประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก จนถึงปี 2024
ปรากฎลักษณะของการถดถอยในหลายด้านที่เป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เสรีภาพของพลเมือง’ (Civil Liberties) ลดลงมากที่สุดถึง 1.00 คะแนน และ ‘กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม’ (Electoral Process and Pluralism) ลดลง 0.66 คะแนน ในขณะที่ ‘หน้าที่ของรัฐบาล‘ (The Functioning of Government) และ ‘วัฒนธรรมทางการเมือง‘ (Political Culture) ก็มีแนวโน้มแย่ลงเช่นกัน โดยลดลง 0.47 และ 0.48 คะแนนตามลำดับ
ในเชิงภาพรวมอาจจะเป็นสัญญาณที่น่าใจหาย แต่ยังมีสัญญาณบวกจาก ‘การมีส่วนร่วมทางการเมือง’ (Political Participation) ซึ่งเป็นเพียงหมวดเดียวที่คะแนนเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว เพิ่มขึ้นถึง 0.74 คะแนนในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงการตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว รวมถึงกระแสการประท้วงของประชาชนในหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
นี่คือ ‘สัญญาณแห่งความหวัง‘ ที่ขัดแย้งกับ ‘กระแสการถดถอยของประชาธิปไตย’ สะท้อนถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนซึ่งเป็น ‘พลังสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง’ แม้จะอยู่ในบริบทที่ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก
🤔 แล้วสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยล่ะ เป็นยังไงบ้าง?

ประเทศไทย คว้าคะแนนรวม 6.27 คะแนน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ประเทศที่ประชาธิปไตยยังมีตำหนิ’ (Flawed Democracies) อยู่อันดับที่ 63 ของโลก และ ครองอันดับที่ 12 ในภูมิภาค จากทั้งหมด 28 ประเทศ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยยังคงไม่มั่นคง มีการผันผวนขึ้นลง เราเห็นคะแนนที่ลดฮวบลงช่วงที่มีรัฐประหารและการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร ต่อมา คะแนนดีขึ้น ภายหลังจากการเลือกตั้ง แต่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง คะแนนก็ยังคงอยู่ในกลุ่ม “ประชาธิปไตยมีตำหนิ” ซึ่งสะท้อนภาพรวมที่ว่า ประชาธิปไตยของไทยยังไม่สมบูรณ์ ยังปรากฎถึงปัญหาปัญหาและข้อจำกัดบางอย่าง
ประชาธิปไตยไทย
:
ตื่นแล้วแต่ยังติดล็อก? พลังการเมืองใต้เงาโครงสร้างครอบงำ
สถานการณ์ประชาธิปไตยไทยเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในระดับภูมิภาค

ดัชนีประชาธิปไตยปี 2024 เปรียบเทียบระหว่างค่าเฉลี่ยทั่วโลกและค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย ที่มา: EIU
ตัวชี้วัด 5 ด้าน | คะแนนประเทศไทย | ค่าเฉลี่ยภูมิภาค | การวิเคราห์จากแผนภาพ |
กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism) | 6.50 | 5.64 | สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค สะท้อนว่ามีการเลือกตั้งที่หลากหลาย แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น การแทรกแซงโดยองค์กรอิสระ หรือข้อจำกัดผู้สมัคร |
หน้าที่ของรัฐบาล (the Functioning of Government) | 5.00 | 5.19 | ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย บ่งบอกถึงความไม่โปร่งใส การแทรกแซงจากภายนอก หรือการไร้ประสิทธิภาพของระบบบริหาร |
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) | 8.33 | 5.20 | สูงโดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ย สะท้อนการตื่นตัวของพลเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ผ่านการชุมนุม รณรงค์ และใช้โซเชียลมีเดีย |
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture) | 5.63 | 5.29 | สูงกว่าเล็กน้อย แต่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับความหลากหลายทางความคิด การยอมรับกติกา และหลักประชาธิปไตยร่วมกันยังไม่มั่นคง |
เสรีภาพของพลเมือง (Civil liberties) | 5.88 | 5.25 | ดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่ยังมีข้อจำกัดด้านเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงออก และการใช้กฎหมายควบคุมการแสดงความเห็น |
จากตารางชี้ว่า ไทยมีจุดแข็งด้าน การมีส่วนร่วมทางการเมือง (8.33) และ เสรีภาพของพลเมือง (5.88) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค สะท้อนถึงกระแสตื่นตัวของประชาชนในการชุมนุม รณรงค์ และออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เสรีภาพยังถูกจำกัดในหลายด้าน ทั้งการแสดงออกทางการเมือง การชุมนุม เสรีภาพสื่อ หลักนิติธรรม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ในขณะเดียวกัน หน้าที่ของรัฐบาล (5.00) และ วัฒนธรรมทางการเมือง (5.63) ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนปัญหาด้านประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ระบบตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงความเป็นอิสระขององค์กรรัฐและรัฐบาลในการกำหนดนโยบาย
ทั้งนี้ แม้กระบวนการเลือกตั้งจะเปิดกว้างขึ้น แต่คะแนนในหมวด การเลือกตั้งและพหุนิยม (6.50) ยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน อันมีปัจจัยจากการเมืองแบบสืบทอดอำนาจ (dynastic politics) การยุบพรรคการเมือง ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ และประสิทธิภาพของการเลือกตั้งในระดับต่าง ๆ
โดยสรุป แม้ประชาชนจะแสดงพลังในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมการเมืองเก่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยยังไม่รุดก้าวหน้าอย่างเต็มที่ เหมือนประเทศที่กำลังพัฒนาหลาย ๆ แห่งบนแผนที่โลก
อย่างไรก็ดี การก้าวสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่อาจวัดได้จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ แต่รากฐานที่แข็งแรง คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างแข็งขัน ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิ วัฒนธรรมการเมืองที่เคารพความเห็นต่าง รวมถึงสนามการเลือกตั้งที่แข่งขันกันอย่างเท่าเทียม สุดท้ายแล้ว หนทางสู่ประชาธิปไตยเต็มใบของประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของในสังคมการเมืองไทย