Content by

Youth Dialogue : เยาวชนร่วมเติมจินตนาการ ต่อความฝันให้ประเทศไทย

เพราะเยาวชนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในกำหนดทิศทางของกติการ่วมกันอย่างรัฐธรรมนูญ

WeVis ร่วมกับ FNF Thailand, The 101 PUB, Eureka Global และ CROSSs ได้จัดกิจกรรม ‘Youth Dialogue on Dream Constitution เติมจินตนาการ ต่อความฝันให้ประเทศไทย’ ในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 9:00-16:00 น. ที่ห้อง Justice Design Studio ณ TIJ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้สนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงกับความฝันและความต้องการของตนเอง เพื่อให้เยาวชนมีความหวังว่าตนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของการร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญได้

กิจกรรมประกอบด้วยผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 40 คน อายุระหว่าง 15-25 ปี มาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาอย่างละครึ่ง


กิจกรรมในช่วงเช้า คือ Lego Serious Play: วาดภาพชีวิตในฝัน ที่ทีมงานจาก Eureka Global ได้ใช้กิจกรรมต่อตัวต่อเลโก้เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้จินตนาการถึงสังคมที่ตัวเองอยากเห็นผ่านการใช้ความหมายเชิงอุปลักษณ์ (metaphor) จากนั้นเล่าให้เพื่อนๆ ในกลุ่มฟัง เพื่อสะท้อนคุณค่าที่แต่ละคนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญออกมาให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ได้เห็น สร้างบรรยากาศที่ตั้งใจรับฟังกันและกัน และสานต่อไปสู่กิจกรรมช่วงสุดท้ายในช่วงเช้า คือการให้คนใน 4 กลุ่มได้รวมร่างเลโก้ของคนในกลุ่มเข้าเป็นเมืองในฝันเมืองเดียวกัน โดยไม่ละทิ้งคุณค่าสำคัญของคนแต่ละคนในกลุ่ม ได้ออกมาเป็นเมืองเลโก้ 4 แบบ ที่ผู้เข้าร่วมนำมานำเสนอเพื่อปิดท้ายรายการในช่วงเช้า
จินตนาการประเทศไทยในฝันทั้ง 4 แบบ แม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่มีประเด็นร่วมกันที่น่าสนใจ ได้แก่

  • การโอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภายใต้การรองรับทางกฎหมาย
  • ความปลอดภัยของแรงงาน ทั้งทางความมั่นคงในอาชีพและความปลอดภัยในการทำงาน
  • สิ่งแวดล้อมที่ดีในเมือง ที่ไปได้ด้วยกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
  • การเกษตร กู้คืนจุดแข็งในอดีตของไทย ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนจากรัฐหรือการพัฒนาเทคโนโลยี
  • การท่องเที่ยว ขับเน้นจุดแข็ง ดึงดูดคนต่างชาติเข้ามา พร้อมทั้งสนับสนุนความหลากหลายทางอาหาร วัฒนธรรม และผู้คน
  • กระจายอำนาจ ยกระดับศักยภาพในต่างจังหวัด เปิดโอกาสให้คนเก่งจากทั่วโลกไปทำงานในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยได้ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ
  • ความเท่าเทียมทางโอกาส รัฐสวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ทั่วถึง

คุณณฤดี คริสธานินทร์ CEO และกระบวนการจาก Euraka Global ได้ฝากแง่คิดที่น่าสนใจจากกิจกรรมนี้ไว้ว่า ‘Lego Serious Play เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออก ไม่มีความคิดใหญ่กว่าใคร และผลลัพธ์เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจและความรัก สองสิ่งนี้ต้องมาพร้อมกัน เพราะหากมีแต่อำนาจ จะไม่ได้ความหลากหลาย ถึงจะไปเร็วแต่ไม่ได้ไปด้วยกัน และหากมีแต่ความรักอย่างเดียว เราก็อาจจะไม่ได้ไปไหน กิจกรรมนี้ทำให้ทุกคนได้พูดและทุกคนเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือกันต่อไป’

กิจกรรมในตอนบ่าย กางทางเลือก มองรอบด้าน (Dream Con) คุณวิธี วิสุทธิ์อัมพร วิทยากรในช่วงบ่ายให้แต่ละทีมเลือกมา 1 ประเด็นฝัน จากเมืองในฝันที่ร่วมกันต่อด้วยเลโก้ เพื่อตั้งเป็น statement ว่า ใคร จะทำอะไร เพื่อใคร เพื่อจะได้บรรลุประเด็นฝันนั้น ซึ่งประเด็นหลักที่ผู้เข้าร่วมเลือกมา ได้แก่ การกระจายอำนาจ รัฐสวัสดิการ และเมืองสีเขียว

ต่อมา อ.ดร.วศิน ปั้นทอง ได้ออกมาเล่า 10 ข้อที่ต้องรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ในฐานะ “เครื่องมือ” ที่จะช่วยให้ statement นั้นได้รับการทำให้เกิดขึ้นจริงมาได้ เพราะหากเปรียบสังคมไทยเป็นบ้าน รัฐธรรมนูญก็เป็นโครงสร้างและรากฐานให้กับส่วนอื่น ๆ

เมื่อได้ฟังบรรยายแล้ว แต่ละกลุ่มระดมความคิดว่า ควรสร้าง “กติกา” อะไรบ้างเพื่อให้ statement ของกลุ่มเกิดขึ้นได้ เขียนลงโพสอิท จากนั้นนำโพสอิทมาจัดเรียงตามสเกลจากง่ายไปยาก ในการทำให้เกิดขึ้นจริง และเลือกโพสอิทที่ “ถ้าทำแล้วน่าจะเห็นผลมากที่สุด” มานำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ฟัง

ตัวอย่างกติกาที่ผู้เข้าร่วมเขียนมา ได้แก่

กลุ่มผลักดันการกระจายอำนาจ

  • ให้มีการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปก่อนการแก้กฎหมายใดๆ อย่างไม่เหลื่อมล้ำ ด้วยวิธีการเช่นการเสวนา
  • มีการศึกษาที่เท่าเทียม
  • มีหน่วยงานตรวจสอบรัฐบาลที่โปร่งใส
  • แก้ไขโครงสร้างอำนาจ ลดระดับอำนาจของส่วนกลาง
  • เลือกตั้งผู้ว่า

กลุ่มผลักดันการเมืองดี

  • รักษาความสะอาดของบ้านเมืองให้เป็นระเบียบขึ้น
  • ปรับกระบวนการเรียนการศึกษา
  • มองคนในสังคมเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา
  • มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คุ้มครองผู้เห็นต่าง วิพากษ์วิจารณ์กันได้
  • เยียวยาประชาชนกลุ่มที่ยากไร้ให้กลายมาเป็นประชาชนทั่วไป
  • กติกาที่คุ้มครองสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม
  • แก้รัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา
  • เงินต้องไม่สามารถเปลี่ยนความผิดให้กลายเป็นความถูกต้องได้
  • ศาล กฎหมาย เป็นธรรมเท่าเทียมกับทุกคน
  • กติกาที่ปกป้องประชาธิปไตยจากการกระทำใดๆ ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย เช่น การยึดอำนาจโดยกลุ่มบุคคล

กลุ่มผลักดันสิ่งแวดล้อมดี

  • ทุกคนทิ้งขยะให้ถูกที่ รู้จักแยกขยะ นำขยะมารีไซเคิลได้ และจัดการกำจัดขยะให้เหมาะสมกับแต่ละประเภท
  • ไม่เผาขยะในชุมชนหรือทิ้งลงคลอง
  • ลดปริมาณรถที่ใช้น้ำมันเพื่อลดมลพิษ
  • ผลักดันพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้า
  • พัฒนาขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว 
  • หากบ้านห่างจากที่ทำงาน 500 เมตร ควรเดินหรือปั่นจักรยานไปทำงาน
  • ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
  • เก็บภาษีการปล่อย CO2

กลุ่มผลักดันรัฐสวัสดิการ

  • มอบเงินประกันการว่างงาน
  • นำภาษีที่เก็บมาต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ
  • มอบทุนการศึกษาให้บุตรหลานแรงงานในทุกภาคส่วน
  • เพิ่มระบุสิทธิด้านสวัสดิการ (การศึกษา พยาบาล อาหาร ฯลฯ) ต้องใช้รูปแบบ “รัฐสวัสดิการ” ลงไปในรัฐธรรมนูญ
  • ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการให้เร็วขึ้น

ทีมงาน WeVis วางแผนจะนำ statement เหล่านี้ไปบรรจุร่วมอยู่ในแพลตฟอร์ม Dream Con เพื่อเปิดให้คนกลุ่มอื่นๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อยอดและถกเถียงต่อไป

หลังจากจบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้เขียนโปสการ์ดฝากส่งถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต จำนวน 29 ใบ และทีมงานได้เก็บเอาไว้เพื่อเตรียมส่งต่อ เมื่อมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในภายภาคหน้า

ตัวอย่างข้อความโปสการ์ดจากผู้เข้าร่วม