สำรวจวันชาติประเทศราชาธิปไตย วันชาติไทยเปลี่ยนไปตามขนบจริงหรือไม่?
รู้มั้ยว่า.. วันชาติไทยถูก ‘เปลี่ยน’ เพราะเหตุผลที่ว่า “เราต้องเปลี่ยนตามประเทศอื่น เพราะเป็นขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 🤴🏻
วันที่ 24 มิถุนายนปีนี้ นอกจากจะเป็นวันครบรอบ 91 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยหรือสยามเดิม จากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่นำโดยกลุ่มคณะราษฎร วันนี้ก็ยังเคยถูกเฉลิมฉลองเป็นวันชาติไทยอีกด้วย! ก่อนที่วันชาติไทยจะถูกเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตามความเห็นที่ว่า
“เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป
โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย”
แล้วมันจริงมั้ยนะที่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเขาใช้วันชาติเป็นวันพระราชสมภพกัน? 🤔
24 มิถุนายน 2482 ปฐมฤกษ์วันชาติไทย
ถ้าปีนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ยังเป็นวันชาติอยู่ เราจะได้เฉลิมฉลองวันชาติไทยครบ “84 ปี”
หลังจากประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว 6 ปี รัฐบาลพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481
ระบุถึงเรื่องวันชาติว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ว่า การปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือน ดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น”
ทำให้วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม (ตำแหน่งของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น) ประเทศของเราได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยเป็นครั้งแรก! และยังได้เป็นวันสำคัญในการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญไปกว่านั้น ประเทศได้ถูกเปลี่ยนชื่อ ‘สยาม’ มาเป็น ‘ไทย’ จนถึงปัจจุบัน ตามกระบวนการการสร้างชาตินิยม จากประกาศรัฐนิยมในรัฐบาลสมัยหลวงพิบูลสงคราม
3 ปีแห่งความรื่นเริงในการเฉลิมฉลองวันชาติ
3 ปีแรกของการเฉลิมฉลองวันชาติไทย พ.ศ. 2482 – 2484 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการดื่มด่ำความสุขในการเฉลิมฉลองวันชาติ บรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในพระนครเป็นไปอย่างคึกครื้นและสนุกสนาน มีทั้งการเดินสวนสนาม จุดพลุ และมหรสพต่าง ๆ มากมาย และยังได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2483
แต่แล้วช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองก็ได้ผ่านพ้นไป ปัจจัยภายนอกอย่างสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเฉลิมฉลองวันชาติ การจัดงานไม่คึกครื้นเหมือนเช่นเคย ซ้ำยังดูจะซบเซามากลงไปกว่าเดิม จนเวลาได้ผ่านพ้นไปจนสิ้นสุดสงครามในปี พ.ศ. 2488 การเฉลิมฉลองวันชาติไทยในปีถัด ๆ มาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
วันชาติไทยที่ถูกเปลี่ยน
ความเลือนลางของความเป็นชาติโดยคณะราษฎร ที่ถูกพยายามทำให้ลืม
คนไทยได้รู้จักวันที่ 24 มิถุนายน ในนามของวันชาติมานานถึง 21 ปี จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ท้ายที่สุดคณะรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ได้มีความเห็นว่า การกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน “มีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ” และให้ถือเอา “วันพระราชสมภพ” (5 ธันวาคม) เป็นวันชาติไทยแทน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 และยังได้ยกเลิกวันหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน
“เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย”
เหตุผลที่ถูกระบุไว้เป็นหลักฐานทางราชการมีเพียงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่ามีเหตุผลอื่นใดซ่อนอยู่ใน
“ข้อไม่เหมาะสมหลายประการ” ตามความเห็นของคณะรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
เปลี่ยนวันชาติไทยตามประเพณีจริงหรอ?
ชวนสำรวจวันชาติอื่น ๆ ของประเทศราชาธิปไตย ประเทศไหนใช้วันอะไรบ้าง!
ชาติแต่ละชาติ ล้วนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป การมีวันชาติถือเป็นเครื่องมือในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันของคนในชาติ ให้มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถือเป็นการระลึกถึงประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติ ที่ผ่านเหตุการณ์การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันชาติที่ถูกกำหนดในแต่ละประเทศก็มีเหตุผลที่หลากหลาย บ้างก็เป็นวันพระราชสมภพของกษัตริย์ บ้างก็เป็นวันประกาศอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม หรือเหตุผลอื่น ๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และวันชาติยังเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนได้ว่าชาตินั้นให้ความสำคัญกับอะไร
แล้วจริงหรือไม่ที่ ‘ขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ จะต้องใช้วันพระราชสมภพของพระกษัตริย์เป็นวันชาติ หรือจริง ๆ แล้วมีปัจจัยหรือเหตุผลไหน ที่จะสามารถถูกยึดถือเป็นความสำคัญที่จะนำมาระลึกถึงเป็นวันชาติกันได้บ้างนะ? 🤔
สำรวจวันชาติประเทศราชาธิปไตย
ประเทศไหน กำหนดวันชาติจากอะไรบ้าง 🌏
วันชาติประเทศเหล่านี้สัมพันธ์กับระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจริงมั้ย?
จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า 43 ประเทศที่ปัจจุบัน และ 8 ประเทศในอดีต มีการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น สามารถแบ่งการใช้วันชาติได้ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1) วันที่ยึดโยงกับสถาบัน (ในฐานะประมุขของรัฐ) เช่น ไทย เนเธอร์แลนด์
2) วันประกาศเอกราช/วันปลดแอก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย
3) วันปฏิวัติ/ตั้งชาติใหม่/รวมชาติ เช่น ซาอุดิอาระเบีย
4) เหตุผลอื่น ๆ เช่น สเปน ใช้วันชาติเป็นวันที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา
5) ไม่มีวันชาติอย่างเป็นทางการ ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก (ที่ยกวันเฉลิมฉลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญให้เทียบเท่าวันชาติแทน)
รวมถึงประเทศที่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันชาติในขณะนั้น
หากนำมาประกอบกับเหตุผลของจอมพลสฤษดิ์ในขณะนั้น ก็ฟังดูมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย แต่หากจะบอกว่าคำพูดที่ว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนเพราะ ‘ขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ก็อาจจะไม่ถูกไปซะทีเดียว ประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตยในขณะนั้นและได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เคยใช้วันชาติที่ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์เลย เช่น อัฟกานิสถาน ลิเบีย กรีซ หรือแม้กระทั่งประเทศการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันอย่างสเปน ใช้วันชาติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยเช่นเดียวกัน
ซึ่งในประเทศไทยก็ถูกใช้มาแล้วทั้ง 2 วัน ทั้งวันที่ยึดโยงกับสถาบัน (5 ธันวาคม) และวันที่มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างวันปฏิวัติสยาม (24 มิถุนายน) การที่เราจะบอกว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะขนบประเพณีนี้จึงไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นมากสักเท่าไหร่นัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยนั้น ความสัมพันธ์ของประมุขและรัฐ ถือว่ามีความเข้มแข็งอยู่ไม่น้อย แต่อยู่ที่ว่าประเทศเหล่านี้จะให้ ‘ความสำคัญ’ กับสิ่งใดมากกว่ากัน
แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเป็นข้อสังเกตได้ในเหตุผลของการเปลี่ยนวันชาติของไทยนั้น หลาย ๆ การศึกษาได้บอกว่า อาจเป็นเพราะการที่จอมพลสลฤษดิ์ได้พยายามเพิ่มความชอบธรรมในการรัฐประหารให้กับตนเอง และพยายามเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันในขณะนั้น จึงทำให้หลักฐานการต่อสู้ของคณะราษฎร ค่อย ๆ ถูกลบล้างไป เหลือไว้เพียงแค่ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึก…
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.the101.world/thai-national-day-24th-june/
https://prachatai.com/journal/2021/12/96249
https://www.brandthink.me/content/thailand-4
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000116002
https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2013/02/26/a-surprising-map-of-the-worlds-national-holidays-only-two-countries-have-no-national-day/
https://timesofindia.indiatimes.com/india/Learning-with-the-Times-7-nations-still-under-absolute-monarchy/articleshow/3692953.cms?from=mdr&from=mdr
ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 สิงหาคม 2481
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/1322.PDF