ถ้ายังจำกันได้ ย้อนกลับไปในปี 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดตัวหีบเลือกตั้งรุ่นใหม่ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง’62 ด้วยงบประมาณกว่า 12 ล้านบาท และถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วว่ามีราคาที่สูงเกินจริง อีกทั้งเมื่อถึงคราวทดสอบความแข็งแรงของหีบ ปรากฏว่าโยน 3 – 4 ครั้ง หีบก็แตกยับ จนถูกสังคมตั้งคำถามต่อไปว่างบประมาณกว่า 12 ล้านที่ใช้ไปนั้นคุ้มหรือไม่
จนมาถึงการเลือกตั้ง’66 ในปีนี้ กกต. ขานรับว่าขาดเทคโนโลยี แต่เชื่อมั่นในระบบ “คนดี” จากที่เดิมทีในการเลือกตั้ง’62 กกต. ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร). เพื่อรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอปพลิเคชัน Rapid Report แต่ในการเลือกตั้งรอบนี้ กกต. ไม่มีการรายงานผลเลือกตั้งออนไลน์ เพราะอ้างว่าแพงไปและเกรงว่าระบบจะล่ม หลายฝ่ายจึงเริ่มกังวลถึงความโปร่งใสของการเลือกตั้ง’66 ที่กำลังจะมาถึง จนภายหลัง กกต.ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่าจะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบ ECT Report โดยอาศัยความร่วมมือจากสื่อมวลชน
หากประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของประชาชน และเราทุกคนอยู่ท่ามกลางบริบทที่เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาชีวิต การเสริมสร้างประชาธิปไตยในทางหนึ่งจึงเกิดขึ้นได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมายกระดับการเลือกตั้ง ให้มีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และโปร่งใส
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนสังคมด้วยชุดข้อมูลเปิด พวกเราชาว WeVis ก็ยังสนใจในประเด็นเรื่องบทบาทของเทคโนโลยีกับการมีส่วนรวมของภาคประชาชน เลือกตั้ง’66 ประเทศไทยยังต้องพึ่งบัตรเลือกตั้ง ใช้ปากกาทำสัญลักษณ์บนกระดาษแล้วหย่อนลงหีบ แต่จะดีแค่ไหน หากในอนาคตของการเลือกตั้งไทยมีสมาร์ตคูหา? ชวนทำความรู้จักเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Electronic Voting (E-Voting) หรือเคยได้เห็นเครื่องเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electornic Voting Machine – EVM) ตามสื่อต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว หลายประเทศก็มีการใช้เทคโนโลยีประเภทนี้เข้ามาช่วยอำนวยการเลือกตั้ง เช่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็เคยมีโครงการเกี่ยวกับ EVM ในชื่อไทยว่า เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบ (Thai Voting Machine – TVM) แต่ก็อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเตรียมความพร้อม โดยมีการทดลองใช้กับการเลือกตั้งขนาดย่อม ๆ ตามหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และการเลือกตั้งภายในของพรรคการเมือง และในปัจจุบัน เครื่อง TVM ของ กกต. ถูกออกแบบพัฒนาจนมีทั้งหมด 4 รุ่น แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการกับการเลือกตั้งระดับชาติ
สมาร์ตคูหา: ให้ E-Voting เป็นก้าวแรก
ระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-voting เป็นการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการ “ลงคะแนนและนับผลคะแนนการเลือกตั้ง” ทดแทนการใช้บัตรเลือกตั้ง เพื่อปรับปรุงกระบวนการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและมีความประหยัดมากขึ้น โดยใช้เครื่อง EVM แทนการมีอยู่ของคูหาและเป็นบัตรเลือกตั้งภายในตัว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงแค่เข้าไปกดหมายเลขที่ปรากฏอยู่บนเครื่องเพียงเท่านั้น องค์ประกอบของเครื่อง EVM จึงประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นเครื่องลงคะแนน (Ballot Unit) สำหรับประชาชนที่ต้องกดเลือกผู้สมัคร และเครื่องรวมคะแนน (Control Unit) สำหรับรวมผลคะแนนของแต่ละหน่วยให้ถูกต้อง รวดเร็ว และโปร่งใส
ก้าวต่อไปคือ i-Voting ? เมื่อคูหาอยู่ที่ปลายนิ้ว
จริง ๆ แล้ว การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
1) การลงคะแนนผ่านเครื่อง EVM ตามหน่วยเลือกตั้งอย่างที่ได้อธิบายไป และ 2) การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ทางไกล หรือการลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet Voting (i-Voting)
i-Voting เป็นการลงคะแนนเสียงทางอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งประเทศที่เป็นต้นแบบและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการจัดเลือกตั้งแบบ i-Voting คือ เอสโตเนีย โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 และมีการปรับปรุงระบบให้สะดวกและง่ายต่อผู้ใช้สิทธิมาโดยตลอด แต่ระบบ i-Voting ที่เอสโตเนียใช้นั้น เป็นระบบที่เปิดให้ลงคะแนนได้เฉพาะกับการเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงอย่างเดียว โดยยังไม่สามารถใช้ระบบ i-Voting ในวันเลือกตั้งได้ ความพิเศษของระบบนี้คือ ประชาชนที่เลือกลงคะแนนผ่านระบบ i-Voting สามารถเปลี่ยนผลคะแนนโหวตของตัวเองก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ ในขณะที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใส่ของผลคะแนนได้ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมายกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านการเลือกตั้งได้อย่างชาญฉลาด
ทำไมจึงต้องใช้ EVM ทั้ง ๆ ที่การลงคะแนนโดยใช้บัตรเลือกตั้งก็ดีอยู่แล้ว?
จากข้อถกเถียงว่าตกลงแล้วเครื่อง EVM นั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไรและอำนวยความสะดวกต่อการเลือกตั้งในเรื่องไหนบ้าง วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียให้ดูกัน โดยถ้าเพียงแค่พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของตัวเครื่อง EVM แทนการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวแล้ว จะพบข้อดีและข้อเสียเบื้องต้นดังนี้
ข้อดี | ข้อเสีย |
กระจายเครื่องมือเลือกตั้งไปยังทุกเขตเลือกตั้งได้รวดเร็ว | ต้องอธิบายแนะนำวิธีการใช้งานล่วงหน้า |
ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ | มีความเสี่ยงหากเครื่องขัดข้อง เช่น ผลคะแนนเปลี่ยน |
ไม่มีบัตรเสีย เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเลือกกดหมายเลขใดหมายเลขหนึ่งของผู้สมัครหรือกดเลือกไม่ลงคะแนนเสียงบนเครื่อง EVM จากนั้นกด “ยืนยัน”เพื่อใช้สิทธิ หากลงคะแนนผิดก็สามารถกดเปลี่ยนหมายเลขก่อนการยืนยันได้ | ต้องมีแผนสำรองมารองรับหากเกิดปัญหา เช่น เครื่องค้าง ทำให้กระทบต่อเวลาเลือกตั้ง |
ลดเวลาที่ใช้ในการนับคะแนนและการรวมผลคะแนนเลือกตั้ง | มีความเสี่ยงหากเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต |
แต่จุดมุ่งหมายหลักของการใช้เครื่อง EVM นอกเหนือจากเหตุผลที่ต้องการยกระดับการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านความรวดเร็ว ความถูกต้องแม่นยำ และความโปร่งใสแล้ว การมีอยู่ของ EVM จะยังเพิ่มความคุ้มค่าและสร้างผลกระทบในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ อธิบายให้เข้าใจโดยง่ายคือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าผลดีและผลเสียตามที่กล่าวไป การใช้เครื่อง EVM จะสามารถลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์บัตรเลือกตั้งและค่าขนส่งเอกสารที่ต้องใช้ไปแต่ละหน่วยเลือกตั้งได้ในระยะยาว ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย และลดปริมาณและสถานที่ในการจัดเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การเปลี่ยนไปใช้เครื่อง EVM จึงเกิดความประหยัดในด้านการสร้างความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐได้นั่นเอง
อีกทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้จะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง จะเกิดการลงทุนในกระบวนการสร้างและพัฒนาเครื่องลงคะแนนในภาคเอกชน และมีการจ้างงานตามมา ในส่วนของภาครัฐเองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนในการปฏิบัติและวิธีการทำงานของกระบวนการประชาธิปไตยในการเลือกตั้งทั้งระบบ ภาคประชาชนจะสามารถเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น สังคมสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ส่งผลถึงการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
และในทางปฏิบัติ เครื่อง EVM ก็ยังสามารถลดจำนวนการลงคะแนนที่ไม่ถูกต้องหรือ‘บัตรเสีย’ได้ด้วย สามารถทราบผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องนับคะแนนข้ามวัน อีกทั้งจะยังช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการนับคะแนน นอกจากนี้ โดยปกติแล้วแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมี “บัตรทาบอักษรเบรลล์” ไว้อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเลือกตั้งที่มีมาตรฐานแต่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิ การใช้เครื่อง EVM ที่มีปุ่มอักษรเบรลล์ปรากฏบนตัวเครื่องพร้อมมีเสียงอธิบายวิธีการเลือกตั้งระหว่างลงคะแนน จึงถือเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่จะช่วยส่งเสริมการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้พิการทางสายตาได้ในระยะยาว
หากพูดถึงข้อเสีย คำถามในลำดับแรก ๆ จากผู้ใช้งานก็คงจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจาก มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่เครื่อง EVM จะขัดข้อง และต้องมีแผนสำรองอย่างไรถ้าหากเกิดความขัดข้องระหว่างการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีการทดลองและพัฒนาเครื่อง EVM ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ความขัดข้องก็เป็นเหตุสุดวิสัยและสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกา การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 เครื่อง EVM เกิดขัดข้องขึ้นมา หน้าจอสัมผัสของเครื่อง EVM รองรับการใช้งานได้ไม่ดีพอทำให้ผลคะแนนเด้ง ส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนใจไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะต้องรอต่อแถวเข้าหน่วยเลือกตั้งนานหลายชั่วโมง
หรือในกรณีของอินเดีย ที่ว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียจะยืนยันว่าเครื่อง EVM นั้นไม่สามารถถูกเจาะระบบเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงคะแนนเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุว่า ในปี 2014 เครื่อง EVM ถูกเจาะระบบ ทำให้ผลคะแนนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พรรคภารตียชนตากวาดที่นั่งเข้าสภาได้มากกว่าพรรคอื่น ๆ นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น ศาลจึงมีคำสั่งให้ติดตั้งเครื่องพิมพ์ผลการเลือกตั้งด้วยกระดาษ (voter-verifiable paper audit trails: VVPAT) เพิ่มเข้าไปในแต่ละหน่วยเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิเห็นผลคะแนน เพื่อความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
สำรวจดูประเทศที่มีการใช้เครื่อง EVM ในการเลือกตั้ง
ข้อมูลของ International Institute for Democracy and Electoral Assistance (International IDEA) ได้บันทึกผลสำรวจการใช้ E-Voting ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และพบข้อมูลที่น่าสนใจดังตารางนี้
ทวีป | จำนวนประเทศที่ทำการวิจัย | ใช้ E-Votingในการเลือกตั้งระดับชาติที่มีผลผูกพันทางการเมือง (การเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาหรือประชาธิปไตยทางตรง) | ใช้ E-Votingในการเลือกตั้งหน่วยย่อยระดับชาติที่มีผลผูกพันทางการเมือง (เช่น การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในระดับภูมิภาคหรือสำนักงานบริหาร) | ใช้ E-Voting ในการเลือกตั้งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ (เช่น การเลือกตั้งผู้นำสหภาพแรงงาน การลงประชามติที่ไม่มีผลผูกพัน) | ไม่มีการใช้ E-Voting ในการเลือกตั้ง |
แอฟริกา | 50 | 2 (4.0%) | 0 (0.0%) | 0 (0.0%) | 48 (96.0%) |
อเมริกา | 25 | 8 (32.0%) | 7 (28.0%) | 1 (4.0%) | 15 (60.0%) |
เอเชีย | 44 | 11 (25.0%) | 5 (11.4%) | 1(2.3%) | 31(70.5%) |
ยุโรป | 44 | 6 (13.6%) | 4 (9.1%) | 1 (2.3%) | 38 (86.4%) |
โอเชียเนีย | 15 | 1 (6.7%) | 1 (6.7%) | 1 (6.7%) | 12 (80.0%) |
รวม | 178 | 28 (15.7%) | 17 (9.6%) | 4 (2.2%) | 144 (80.9%) |
จากตารางข้างต้น ในปัจจุบันประเทศโดยส่วนมากยังไม่มีการเลือกตั้งผ่านระบบ E-Voting มีเพียงแค่ 34 ประเทศที่มีการใช้ E-Voting ในการเลือกตั้งจากทั้งหมด 178 ประเทศที่ทำการศึกษา ซึ่งคิดเป็น 19.1% บางประเทศมีการใช้ E-Voting มากกว่า 1 รูปแบบ ในขณะที่บางประเทศมีการใช้ E-Voting ในรูปแบบเดียว
หากพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนประเทศที่มีการใช้ E-Voting โดยพิจารณาจากทุกรูปแบบที่ใช้ในการเลือกตั้ง จะพบว่า ทวีปอเมริกาเป็นทวีปที่มีการใช้ E-Voting มากที่สุด ตามมาด้วยเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป โดยทวีปแอฟริกามีสัดส่วนจำนวนประเทศที่ใช้ E-Voting น้อยที่สุด คือ 2 ประเทศจาก 50 ประเทศที่ทำการวิจัย ซึ่ง 2 ประเทศดังกล่าวคือ คองโก และนามิเบีย
ข้อมูลที่น่าสนใจ
- ปานามา เป็นประเทศเดียวที่ใช้ E-Voting ในทุกรูปแบบการเลือกตั้ง (ทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติ เลือกตั้งย่อยในระดับภูมิภาค และในรูปแบบอื่น ๆ เช่นการลงประชามติ) แต่ระบบ E-Voting ถูกจำกัดการใช้งานได้แค่ในหน่วยเลือกตั้งที่ประจำไว้ในเขตเมืองหลวงทั้งหมด 10 เขตเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้ง ปานามายังมีการใช้ ระบบ i-Voting สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ต่างประเทศ
- ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ใช้ E-Voting (ใช้ในการเลือกตั้งระดับชาติ และเลือกตั้งย่อยในระดับภูมิภาค)
- ตัวอย่างประเทศที่มีการใช้ E-Voting มากกว่า 1 รูปแบบ เช่น สหรัฐอเมริกา เปรู อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส อินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศที่ใช้ระบบ E-Voting ผ่านเครื่อง EVM นั้น กระบวนการเลือกตั้งไม่ได้จบลงที่การโหวตในคูหาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีกระบวนการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและแม่นยำ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยผลคะแนนให้ประชาชนได้รับทราบจากแต่ละหน่วยเลือกตั้ง อย่างเช่นเครื่อง VVPAT ของอินเดีย
ในปัจจุบันประเทศที่กำลังทดสอบระบบ E-Voting ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สหราชอาณาจักร, อิตาลี, นอร์เวย์, กัวเตมาลา, อินโดนีเซีย, ฟินแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น หากการทดสอบระบบเป็นไปได้ด้วยดี ในอนาคตข้างหน้าอาจมีประเทศเปลี่ยนมาใช้ E-Voting เพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กกต. ที่มี TVM อยู่แล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานไปแล้วหลายครั้งนั้น การเริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ และจะเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งของไทยไปในทิศทางไหนบ้าง? อีกทั้ง ปัญหาเรื่อง “บัตรเขย่ง” “บัตรเสีย” ข้อกังขาเรื่องความโปร่ง ความล่าช้าและความไม่แม่นยำในการนับผลคะแนนเลือกตั้ง จะถูกแก้ไขด้วยระบบ E-Voting ด้วยหรือไม่?
ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายเลือกตั้ง และระบบเลือกตั้งที่ (เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา) ใช้ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าเครื่อง EVM จะสามารถตั้งค่าระบบการใช้งานเพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะสร้างความสับสนและเพิ่มภาระงานที่ต้องอธิบายแก่ประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิอย่างไร้ที่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.ect.go.th/trang/ewt_news.php?nid=112
- https://elect.in.th/e-voting/
- https://www.truedigital.com/post/
- https://www.idea.int/data-tools/question-view/742
- https://thaipublica.org/2019/03/election-electronics-vote/
- https://www.springnews.co.th/spring-life/822379
- https://techsauce.co/tech-and-biz/i-voting-online-voting-in-estonia
- http://www.atimedesign.com/webdesign/thailand-elect-2019/