Content by

Promise Tracker เมื่อคำสัญญา.. ไม่ได้มีไว้ใช้แค่ตอนหาเสียง

เลือกตั้งทีไร.. ก็จะเห็นแต่ละพรรคการเมืองออกมาขายนโยบาย (บางทีก็เหมือนขายฝัน) ‘สัญญา’ ว่าหากได้รับเลือกแล้วจะทำนั่นทำนี่ให้ 🤞

ปฎิเสธไม่ได้ว่า สำหรับประชาชนหลายคน คำสัญญาหรือนโยบายเหล่านั้น ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งเหมือนกันนะ

แต่พอเลือกตั้งไปแล้ว เป็นกันไหม.. ที่ส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนโดนเท 💔 ที่เคยมาหาบ่อยๆ ก็หายหน้า ที่หาเสียงกันไว้ก็ติดตามไม่ได้ ว่าลงมือทำอะไรกันไปบ้างเพื่อรักษาคำพูดที่เคยให้ เลวร้ายสุดๆ ถึงขั้นปฏิเสธว่าไม่เคยพูดเลยก็มี (ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม~)

ในหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ความรับผิดชอบของนักการเมือง (Accountability) และ การมีส่วนร่วมของประชาชน (Civic Engagement) จึงมีเครื่องมืออย่าง Promise Tracker ที่พัฒนาโดยภาคประชาชน หรือในหลายประเทศก็มีภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เพื่อเปิดข้อมูลและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน ได้รับรู้ ติดตาม และสามารถทวงถาม ‘คำสัญญาของนัก/พรรคการเมือง’ ที่ให้ไว้ได้สะดวกขึ้น เพื่อไม่ปล่อยให้คำสัญญา.. มีไว้ใช้แค่ตอนหาเสียงเพียงอย่างเดียว

ลองมาดูกันดีกว่าว่า มีเครื่องมือ Promise Tracker ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจการบ้าน และทวงถามคำสัญญาของนัก/พรรคการเมืองในประเทศไหนบ้าง

🇹🇭 Promise Tracker by WeVis

เท่าที่รู้มา ยังไม่เคยเห็นที่ที่รวบรวมคำสัญญาของนัก/พรรคการเมืองไทยเอาไว้เป็นชิ้นเป็นอัน และเพราะไม่อยากอกหักกับการเมืองและการเลือกตั้งไทยอีก องค์กรภาคประชาชนอย่าง WeVis เลยทดลองทำแพลตฟอร์มสำหรับติดตามคำสัญญาช่วงหาเสียง โดยเริ่มจากการรวบรวมนโยบาย/คำสัญญาทั้งหลายที่พรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้(เคย)เข้าไปนั่งในสภาจากการเลือกตั้งปี 2562 มารวมไว้ และทีมงานก็พยายามสืบค้นจากฐานข้อมูลรัฐสภาและสื่อต่างๆ ว่าคำสัญญาเหล่านั้น ได้ถูกดำเนินการมากน้อยแค่ไหน และเปิดโอกาสให้แชร์ไปทวงถามคำสัญญาได้ ซึ่งประชาชนหรือพรรคการเมือง ก็สามารถรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาได้ทาง Feedback Form เพื่อช่วยให้แพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์ขึ้น เผื่อไว้เป็นตัวช่วยสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

https://promisetracker.wevis.info/

🇺🇸 Biden Promise Tracker by Politifact

เหมือนจะเป็นธรรมเนียมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการมาตั้งแต่สมัยบารัค โอบามา, โดนัลด์ ทรัปม์ มาถึง โจ ไบเดน ที่พอรับตำแหน่งปุ๊บ ทีมประธานาธิบดีเอง ก็จะขึ้นเว็บไซต์เพื่อสื่อสารกับประชาชนว่า 100 นโยบายแรกที่ให้ความสำคัญคืออะไร และอัพเดทว่าทำอะไรไปบ้างใน 100 วันแรกที่รับตำแหน่ง แต่องค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Politifact เองก็ตามประกบเพื่อตรวจสอบเช่นกัน (ดูเว็บไซต์ของไบเดนที่ปิดไปแล้วย้อนหลังได้ที่ https://web.archive.org/web/20211220214048/https://trackbiden.com) โดยวิธีการก็คือเอานโยบายที่ประธานาธิบดีประกาศนั่นแหละ เป็นตัวตั้ง แล้วใช้ทีมข่าว Fact-checking เพื่อหาผลลัพธ์ที่จับต้องได้มารายงาน พร้อมระบุสถานะของคำสัญญา ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ไหนที่ตั้งไว้

https://www.politifact.com/truth-o-meter/promises/biden-promise-tracker/

🇨🇦 Polimeter by Vox Pop Lab

ในแคนาดา Center for Public Policy Analysis (CAPP) ก็ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม Vox Pop Labs รวมเอานโยบาย/คำสัญญาของแต่ละพรรคการเมืองที่โปรโมตในช่วงเลือกตั้ง ทั้งบน Official Website และเอกสารต่างๆ ที่ส่งให้สื่อ แล้วเอามาแยกประเภทเพื่อติดตาม ที่น่าสนใจ Polimeter นี้ คือไม่ได้มีแค่การติดตามสัญญาระดับประเทศ แต่ยังมีการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เพื่อติดตามนโยบาย/คำสัญญาระดับท้องถิ่น อย่างใน Ontario, New Brunswick หรือ Quebec ด้วย

https://www.polimeter.org/en

🇧🇷🇨🇱 Del Dicho al Hecho by Ciudadanía Inteligente

องค์กรภาคประชาสังคมในละตินอเมริกา ก็ทำแพลตฟอร์ม Del Dicho al Hecho ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘From Saying to Doing’ ที่รวบรวมเอาคำแถลงนโยบายของประธานาธิบดี Sebastián Piñera (สมัยยังดำรงตำแหน่ง) มาตรวจการบ้านว่ามันมีการออกเป็นกฎหมาย/นโยบายที่บังคับใช้จริงแค่ไหน แถมลิงก์ต่อไปให้ดูร่างกฎหมาย/โปรเจกต์แบบเป็นรูปธรรม และตรวจแบบละเอียดแบบปีต่อปีกันเลยทีเดียว

https://deldichoalhecho.cl

🇮🇷 Rouhani Meter by ASL19

กลุ่ม Civic Tech ในอิหร่าน ก็พัฒนาเครื่องมือมาเพื่อตรวจสอบและติดตามการทำงานของประธานาธิบดี Hassan Rouhani เช่นกัน เว็บดูง่ายๆ คลีนๆ แบ่งคำสัญญาเป็น 4 หมวด (Foreign Policy, Economy, Domestic Policy, และ Socio-cultural Matters) กับอีก 6 สถานะ (ชอบตรงที่มีหน้า Rouhani แสดงอารมณ์ตามสเตตัสด้วย) โดยแต่ละคำสัญญามีรายละเอียดสั้นๆ พร้อม Timeline ความคืบหน้าง่าย แถมให้คนโหวตอัพคำสัญญาที่สนใจให้ขึ้นมาหน้าแรกได้ด้วย

https://rouhanimeter.com/en/

🇬🇳 Lahidi by ABLOGUI

ฝั่ง West Africa ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างของประเทศกินี (Guinea) ก็มีแพลตฟอร์มให้ประชาชนติดตามนโบยาย/คำสัญญาของคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ได้ ส่วนที่พิเศษขึ้นมาก็คือนอกจากแบ่งหัวข้อ (Topic) และสถานะ (Status) ได้คล้ายๆ กับแพลตฟอร์มอื่นแล้ว ยังมีการแบ่งประเภทของคนสัญญาเป็นมิติของนายกรัฐมนตรี และแบ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แล้วยังเลือกดูว่าคำสัญญานั้นเกี่ยวกับท้องที่ไหน (locality) ได้อีกด้วย

https://www.lahidi.org/

🇪🇸 OJITO (Observatorio Joven de Inclumplimiento Político)

สุดท้ายเป็นโปรเจกต์ของเยาวชนในประเทศสเปน ที่มีความในใจเฉพาะเรื่อง และต้องการติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ ในรัฐสภา เพื่อให้รักษาสัญญา/นโยบายที่เคยให้ไว้ โดยงานนี้จะโฟกัสตามธีม 6 เรื่องหลักๆ คือ LGTBIQ+, ผู้อพยพ, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, ความยากจนในเด็ก, การว่างงานของวัยเริ่มทำงาน

https://ojito.politicalwatch.es/#/