WeVis องค์กรพัฒนาเทคโนโลยีภาคประชาชนร่วมกับ The Citizen Congress Watch (CCW) องค์กรตรวจสอบรัฐสภาไต้หวัน ประสานความร่วมมือร่วมลงนามข้อตกลง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดตั้งเครือข่ายตรวจสอบรัฐสภา หรือ Parliamentary Monitoring Organizations (PMOs) และพัฒนามาตรวัดความโปร่งใสของรัฐสภา เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปและสร้างความโปร่งใสให้กับระบบรัฐสภาในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในระดับภูมิภาค
ตลอดระยะเวลา 3 วัน (26-28 พฤศจิกายน 2567) พวกเราทีม WeVis ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะทำงานจาก CCW และได้จัดวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และสื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับบริบทและความสำคัญของการตรวจสอบความโปร่งใสในระบบรัฐสภาไทย
วันแรก (26 พฤศจิกายน 2567) WeVis เปิดบ้านต้อนรับ CCW นำโดย ธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะทำงานจากองค์กร Citizen Congress Watch (CCW) ไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจและเป้าหมายในการส่งเสริมความโปร่งใสของภาครัฐและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเสนอเว็บไซต์ Parliament Watch (https://parliamentwatch.wevis.info) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงานของภาคการเมืองและรัฐสภาไทย นอกจากนี้ ยังมีการหารือร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมไทย ได้แก่ iLaw, 101PUB และ HAND Social Enterprise เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์และบทเรียนในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมืองในประเทศไทย ทั้งในด้านการสื่อสาร การรณรงค์ และการระดมทุน
วันที่สอง (27 พฤศจิกายน 2567) WeVis, CCW (Taiwan), สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO), Lente (Philippines) และสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อการต่างประเทศ (NDI) ประเทศไทย เยือนรัฐสภา ร่วมพูดคุยกับภาคการเมือง โดยในช่วงเช้า คณะได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา สว.เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ และคุณจิรานุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกวุฒิสภา บอกเล่าประสบการณ์ในการได้มาซึ่งตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาผ่านการเลือกตั้ง สว. 2567 แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานของกิจการรัฐสภาไทยในแง่ของการเปิดเผยข้อมูล ความท้าทายในกระบวนการสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารรัฐสภาไทย และความโปร่งใสของงบประมาณของรัฐบาล นอกจากนี้ยังร่วมกันพูดคุยเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศ
ในช่วงบ่าย ทางคณะได้มีมีโอกาสเข้าพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน 3 ท่าน ได้แก่ สส.พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และสส.ภัสริน รามวงศ์ พูดคุยถึงความพยายามในการขับเคลื่อนรัฐสภาไทยให้โปร่งใสโดยใช้กลไกสภาและคณะกรรมาธิการทั้งในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่เอกสารการประชุม การถ่ายสดการประชุมคณะกรรมาธิการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่นำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา รวมถึงหารือแนวทางในการส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับภูมิภาค
วันที่สุดท้าย (28 พฤศจิกายน 2567) WeVis และ CCW เปิดพื้นที่พูดคุยกับสื่อมวลชนชั้นนำของไทย ได้แก่ ThaiPBS, The Standard และ Rocket Media Lab เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในการติดตามและรายงานข่าวการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์และออนแอร์ การระดมทุน การทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และความท้าทายด้านเสรีภาพในการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับนักการเมือง และบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐสภา
การลงนามความร่วมมือระหว่าง WeVis และ CCW ไต้หวันในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความโปร่งใสในระดับภูมิภาค พวกเราตั้งใจที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาระบบรัฐสภาโปร่งใสและเปิดกว้างต่อการตรวจสอบจากประชาชน ผ่านการสร้างเครือข่าย PMOs และการนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ยังส่งผลถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
เยี่ยมชมเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในกระบวนการรัฐสภาของประเทศไทยได้ที่ : Parliament Watch (https://parliamentwatch.wevis.info)
#จนกว่าสภาจะโปร่งใส #ParliamentWatch