ถ้าพูดถึงเลือกตั้ง พลาดไม่ได้ที่เราจะไม่พูดถึงตัวละครเอกอย่าง ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (ECT)’ องค์กรอิสระที่มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการให้มีการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
หากยังจำกันได้ ในการเลือกตั้งปี 62 การทำงานของ กกต. ชุดนี้ถูกตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการบอกยอดผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผิด แจกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดเขต บัตรเขย่ง บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ที่ไม่ถูกนำมานับรวมเพราะจัดส่งไม่ทัน ไปจนถึงรายงานล่าผลช้าโดยอ้างว่าไม่มีเครื่องคิดเลข
ในการเลือกตั้งปี 66 ที่กำลังจะมาถึง กกต. ชุดเดียวกันนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อ และดูเหมือนว่าจะยังสามารถรักษามาตรฐานการทำงานอันเป็นตำนานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง 😜
WeVis อยากชวนทุกคน (รวมถึงเธอด้วย กกต. ) มาดูกันว่าองค์กรที่มีคำขวัญห้อยท้ายว่า “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” ถูกวิจารณ์การทำงานในประเด็นอะไรบ้างพูดถึงอย่างไรบนโลกออนไลน์ โดยสำรวจจากข้อความทั้งหมดในฐานข้อมูลที่มีคำว่า “กกต” หรือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ปรากฏคู่กับคำที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเด็น
การแบ่งเขตเลือกตั้ง
ใน 6,691 ข้อความที่มีคำว่า “แบ่งเขต” พบ 634 ข้อความที่มีคำว่า “ประหลาด” / “แปลก” / “พิลึก” / “พิสดาร” / “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจาก 2 เหตุการณ์ คือ
- การประกาศจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละจังหวัด ของ กกต. ในวันที่ 24 ม.ค. 66 โดยนับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีผู้โต้แย้งและขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ในวันที่ 3 มี.ค. 66 ให้การแบ่งเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. ไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย
- การประกาศเขตเลือกตั้ง 400 เขตและจำนวน ส.ส. อีกรอบ ในวันที่ 16 มี.ค. 66 ซึ่งถูกหลายพรรคการเมืองออกมาทักท้วงว่าเป็นการลากเส้นแบ่งเขตที่เสี่ยงผิดกฏหมาย และอาจเข้าข่ายการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นธรรม หรือ Gerrymandering ที่ผู้มีอำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งการแบ่งเขตแบบใหม่นี้ส่งผลต่อความผูกพันระหว่างผู้แทนเขตและประชาชนในพื้นที่ เพราะผู้สมัครอาจต้องบอกลาประชาชนที่เคยทำพื้นที่ไว้ ในขณะที่ต้องขยายไปทำพื้นที่ใหม่ ที่เคยอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น
การรายงานผล/นับคะแนน
ใน 4,134 ข้อความที่มีคำว่า “รายงานผล” / “นับคะแนน” พบ 1,046 ข้อความที่มีคำว่า “ไม่ไว้ใจ” / “โกง” / “ทุจริต” / “ไม่โปร่งใส” / “สกปรก”
ในวันที่ 11 ม.ค. 66 ที่ประชุม กกต. ไม่เห็นชอบการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบเรียลไทม์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประสานและได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการสร้างระบบนานเกือบปีจนแล้วเสร็จ โดยให้เหตุผลว่า ไม่เชื่อว่าระบบนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีตที่ทำให้การรายงานผลคลาดเคลื่อนได้ และหากระบบล่ม หรือโดนโจมตีระบบ ก็ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบ กลายเป็นปัญหามาตกหนักที่ กกต. รวมถึงงบในการจัดทำราว 20 ล้านบาทนั้น เป็นงบที่สูงเกินไป
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจบนโลกโซเชียล โดยมองว่าการต้องรอผลเลือกตั้งจาก กกต. ถึง 5 ชั่วโมงหลังปิดหีบ อาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตผลเลือกตั้ง รวมถึงการที่ กกต. อ้างว่า 20 ล้านเป็นงบที่แพงนั้น ถูกโต้กลับโดย ส.ส.รังสิมันต์ว่า กกต.ได้รับอนุมัติงบถึงเกือบ 6 พันล้านบาท เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด รวมถึงมีการนำงบ 20 ล้านบาทที่ กกต. อ้างว่าแพง ไปเปรียบเทียบกับงบอื่นๆ ที่มองว่าได้ประโยชน์น้อยกว่า ทั้งนี้ภาคสื่อและประชาชนจึงมีการระดมทุนจัดทำระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์และนับคะแนนการเลือกตั้งด้วยตัวเอง หนึ่งในนั้นคือโครงการของ Vote62 “Protect your Vote” ที่กำลังเปิดรับอาสาสมัครรจับตาและรายผลการนับคะแนนเลือกตั้งอยู่ทาง https://www.vote62.com
บัตรเลือกตั้ง
ใน 2,969 ข้อความที่มีคำว่า “บัตรเลือกตั้ง” พบ 670 ข้อความที่มีคำว่า “งง” / “สับสน” / “ปวดหัว” / “ยุ่งยาก” / “ห่วย”
โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดจากการที่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในรอบนี้ มีประเด็นที่สร้างภาระให้กับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ได้แก่
- หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. แต่ละเขต และหมายเลขพรรคต้นสังกัด เป็นคนละหมายเลขกัน ยากแก่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองเพื่อให้ประชาชนจดจำได้
- บัตรเลือกตั้งส.ส. แบบแบ่งเขต ไม่มีชื่อผู้สมัคร และไม่มีชื่อ-โลโก้ของพรรคการเมือง มีเพียงหมายเลข ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการจำเลขผิด ซึ่ง กกต. ได้ให้เหตุผลสำหรับกรณีนี้ว่าเป็นการประหยัดงบ ให้สามารถพิมพ์บัตรเพียงแบบเดียวแล้วใช้ได้กับทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้งล่วงหน้า
ใน 2,783 ข้อความที่มีคำว่า “เลือกตั้งล่วงหน้า” พบ 474 ข้อความที่มีคำว่า “ล่ม” / “ลงทะเบียนไม่ได้”
ช่วงวันที่ 27 มี.ค.- 9 เม.ย. กกต. ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขต-นอกเขต-นอกราชอาณาจักร ทางเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/regoutvote/ ซึ่งในคืนสุดท้าย เว็บไซต์ดังกล่าวมีปัญหาการเข้าถึงในช่วงเวลาประมาณ 17:00 น. จนถึงก่อนเที่ยงคืนประมาณ 10 นาที รวม 7 ชั่วโมง ทำให้อาจมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ ทั้งนี้ กกต. มีอำนาจขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดยกฏหมายให้เวลาถึง 30 วันก่อนเลือกตั้ง (14 เม.ย.) แต่ กกต. ก็ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว
การเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ
ใน 1,652 ข้อความที่มีคำว่า “ดูงาน” พบ 681 ข้อความที่มีคำว่า “งบ” / “เงิน” / “ภาษี”
วันที่ 12 เม.ย. มีรายงานเรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 6 คน เดินทางไปศึกษาดูงานเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศโซนแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในขณะที่ กกต. ขยันประหยัดงบส่วนอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น การทำระบบรายงานผลเรียลไทม์ และการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แต่กลับผลาญงบไปกับการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลาที่ใกล้เลือกตั้งแบบนี้ โดยหนึ่งในรายจ่ายที่น่าสนใจ คือ งบในการจัดซื้อของที่ระลึกเกือบ 2 แสนบาท
สุดท้ายนี้ อยากชวนทุกคนที่กำลังรู้สึกเป็นกังวลกับการทำงานของ กกต. ในตำนานชุดนี้ มาช่วยกันพิทักษ์ความถูกต้องในกระบวนการเลือกตั้ง โดยสามารถสมัครเป็นอาสาจับตาการนับคะแนนในวันที่ 14 พ.ค. 66 ได้ที่ https://www.vote62.com
ดาวน์โหลดข้อมูลไปอ่านตัวอย่างประโยคเต็มๆ ที่พูดถึง กกต. ได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1Q139X5ZaK0fGj5P-2oARK9r8am5IylzZ
ที่มาข้อมูล :
ฐานข้อมูลของ Wisesight ที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะทาง Social Media 6 ช่องทาง คือ Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, Forum และ Tiktok โดยทำการเก็บข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลในช่วง 1 ม.ค – 15 เม.ย. 66