‘นายก อบจ.’ ตำแหน่งนี้อาจจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ ส.อบจ. นี่ เขาเป็นใครกันนะ ? เตรียมพร้อมกลับบ้านเพื่อเข้าคูหา กาคนที่ชอบในศึก #เลือกตั้งอบจ. 2568 เพราะการเลือกครั้งนี้ เรามีสิทธิกากบาทเลือก ‘นักการเมืองท้องถิ่น’ มากกว่า 1 คน 🤩
ตามหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ให้ประชาชนมีอำนาจ ‘ปกครองและตัดสินใจ’ เพื่อบริหารความต้องการของเขตพื้นที่ท้องถิ่นตัวเองได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องอาศัยองค์กรจากศูนย์กลาง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ จึงต้องมีการจัดการเลือกตั้ง เพื่อเลือก ‘ผู้บริหารท้องถิ่น’ และ ‘สมาชิกสภาท้องถิ่น’ มาบริหารงานและใช้งบประมาณพัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบทุก ๆ 4 ปี หรือเมื่อครบวาระ
ในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด อย่างการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมาถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ประชาชนในเขตพื้นที่ต้องเลือก ‘ผู้บริหารท้องถิ่น’ ซึ่งก็คือ ‘นายก อบจ.’ และ ‘สมาชิกสภาท้องถิ่น’ หรือ ‘สมาชิกสภา อบจ.’ (เรียกสั้น ๆ ว่า ส.อบจ.) มาบริหารงานในเขตพื้นที่จังหวัดในอีก 4 ปีข้างหน้า
ก่อนกลับบ้านเข้าคูหา WeVis ขออาสาพาไปรู้จัก ‘ส.อบจ.’ ตำแหน่งนี้ต่างจาก ‘นายก อบจ.’ อย่างไร ? เขาเป็นใครและเกี่ยวอะไรกับเรา ?
โครงสร้างการบริหารของ อบจ. ประกอบด้วย นายก อบจ. เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมี ส.อบจ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจพิจารณาออกกฎระเบียบต่าง ๆ และพิจารณาการจัดสรรงบประมาณของจังหวัด
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร | สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ |
---|---|
ที่มา ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ถ้าดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง | ที่มา ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี |
จำนวน 1 คน ต่อ 1 จังหวัด | จำนวน ส.อบจ. ของแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนไม่เท่ากัน โดยจะอิงจากสัดส่วนจำนวนประชากรในจังหวัด ดังนี้ • ประชากรไม่เกิน 500,000 คน มี ส.อบจ. ได้ 24 คน • ประชากรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 มี ส.อบจ. ได้ 30 คน • ประชากรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 มี ส.อบจ. ได้ 36 คน • ประชากรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 มี ส.อบจ. ได้ 42 คน • ประชากร 2,000,000 คนขึ้นไป มี ส.อบจ. ได้ 48 คน |
เขตเลือกตั้ง ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง | เขตเลือกตั้ง ใช้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง โดยใน 1 อำเภอสามารถมีมากกว่า 1 เขตเลือกตั้ง อิงจากสัดส่วนจำนวนประชากรในอำเภอ ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีจํานวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันมากที่สุด |
หน้าที่ – ควบคุมและบริหารกิจการของ อบจ. – กำหนดนโยบายและการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ – สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบจ. – วางระเบียบเพื่อให้งานของ อบจ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย | หน้าที่ – ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ผ่านการตั้งกระทู้ถามนายก อบจ. ในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ – เสนอข้อสอบถามต่อประธานสภา อบจ. เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ – จัดตั้งกรรมการสามัญ/วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาสอบสวนประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจ – เสนอและพิจารณาร่างข้อบัญญัติของ อบจ. เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าใบอนุญาต รายได้อื่น ๆ – พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและรายจ่ายเพิ่มเติม |
โดยสรุปแล้ว ใน 1 จังหวัด ต้องมีนายก อบจ. 1 คน และมี ส.อบจ. ตามสัดส่วนจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด
การเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 นี้ เราในฐานะประชาชน มีสิทธิไปเลือกผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งก็คือ นายก อบจ. จำนวน 1 คน เพื่อเข้าไปบริหารงบประมาณจังหวัด และเลือกคนที่ไปตรวจสอบการทำงานของนายก อบจ. ซึ่งได้แก่ ส.อบจ. อีกจำนวน 1 คน จาก ‘เขตเลือกตั้ง’ ที่เราใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อไปพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของจังหวัดที่จะกำหนดว่าเงินภาษีที่เราจ่ายจะถูกใช้จ่ายในประเด็นไหนบ้าง
🤔 เช็กกันสักนิด จังหวัดไหนมี ส.อบจ. ได้เท่าไหร่ ?
ถ้าหากอ้างอิงจากสถิติจำนวนประชากรในปี 2566 โดยระบบสถิติทางการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง แต่ละจังหวัดจะมีจำนวน ส.อบจ. ที่พึงมีดังนี้
ภาคกลาง
จังหวัด | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
กำแพงเพชร | 704,948 | 30 |
ชัยนาท | 316,220 | 24 |
นครนายก | 260,117 | 24 |
นครปฐม | 924,521 | 30 |
นครสวรรค์ | 1,021,883 | 36 |
นนทบุรี | 1,308,092 | 36 |
ปทุมธานี | 1,219,199 | 36 |
พระนครศรีอยุธยา | 822,106 | 30 |
พิจิตร | 521,907 | 30 |
พิษณุโลก | 841,729 | 30 |
เพชรบูรณ์ | 967,421 | 30 |
ลพบุรี | 729,697 | 30 |
สมุทรปราการ | 1,372,970 | 36 |
สมุทรสงคราม | 187,993 | 24 |
สมุทรสาคร | 592,033 | 30 |
สระบุรี | 638,826 | 30 |
สิงห์บุรี | 201,439 | 24 |
สุโขทัย | 577,866 | 30 |
สุพรรณบุรี | 826,391 | 30 |
อ่างทอง | 270,726 | 24 |
อุทัยธานี | 322,273 | 24 |
ภาคตะวันออก
จังหวัด | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
จันทบุรี | 536,436 | 30 |
ฉะเชิงเทรา | 730,543 | 30 |
ชลบุรี | 1,618,066 | 42 |
ตราด | 227,052 | 24 |
ปราจีนบุรี | 499,563 | 24 |
ระยอง | 771,189 | 30 |
สระแก้ว | 562,902 | 30 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
กาฬสินธุ์ | 968,065 | 30 |
ขอนแก่น | 1,779,373 | 42 |
ชัยภูมิ | 1,113,378 | 36 |
นครพนม | 714,284 | 30 |
นครราชสีมา | 2,625,794 | 48 |
บึงกาฬ | 420,487 | 24 |
บุรีรัมย์ | 1,573,230 | 42 |
มหาสารคาม | 937,915 | 30 |
มุกดาหาร | 351,595 | 24 |
ยโสธร | 528,878 | 30 |
ร้อยเอ็ด | 1,284,836 | 36 |
เลย | 635,142 | 30 |
ศรีสะเกษ | 1,450,333 | 36 |
สกลนคร | 1,142,657 | 36 |
สุรินทร์ | 1,367,842 | 36 |
หนองคาย | 514,021 | 30 |
หนองบัวลำภู | 506,872 | 30 |
อำนาจเจริญ | 374,137 | 24 |
อุดรธานี | 1,558,528 | 42 |
อุบลราชธานี | 1,869,608 | 42 |
ภาคใต้
จังหวัด | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
กระบี่ | 482,121 | 24 |
ชุมพร | 508,857 | 30 |
ตรัง | 637,017 | 30 |
นครศรีธรรมราช | 1,540,953 | 42 |
นราธิวาส | 819,162 | 30 |
ปัตตานี | 737,077 | 30 |
พังงา | 267,057 | 24 |
พัทลุง | 520,598 | 30 |
ภูเก็ต | 423,599 | 24 |
ยะลา | 549,946 | 30 |
ระนอง | 193,371 | 24 |
สงขลา | 1,431,959 | 36 |
สตูล | 325,470 | 24 |
สุราษฎร์ธานี | 1,075,788 | 36 |
ภาคเหนือ
ชื่อ | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
เชียงราย | 1,298,977 | 36 |
เชียงใหม่ | 1,797,075 | 42 |
น่าน | 472,722 | 24 |
พะเยา | 458,287 | 24 |
แพร่ | 426,331 | 24 |
แม่ฮ่องสอน | 287,644 | 24 |
ลำปาง | 711,478 | 30 |
ลำพูน | 398,440 | 24 |
อุตรดิตถ์ | 439,629 | 24 |
ภาคตะวันตก
จังหวัด | จำนวนประชากร | จำนวน ส.อบจ. ที่พึงมี |
---|---|---|
กาญจนบุรี | 895,281 | 30 |
ตาก | 691,714 | 30 |
ประจวบคีรีขันธ์ | 550,977 | 30 |
เพชรบุรี | 483,668 | 24 |
ราชบุรี | 864,746 | 30 |
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การนับจํานวนประชากรเพื่อนํามาใช้พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งระบุไว้ว่า “ให้นับจํานวนประชากรจากประกาศจํานวนราษฎรของสํานักทะเบียนกลางที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งมาใช้พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง” ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า จำนวน ส.อบจ. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีในการเลือกตั้ง อบจ. 2568 นั้นต้องอ้างอิงจากสถิติจำนวนประชากรที่ประกาศในปี 2567
จำนวนประชากรโดยละเอียดนั้นต้องมา ‘รีเช็ก’ กันอีกที แต่โดยคร่าว ๆ แล้ว จำนวน ส.อบจ. พึงมี ของแต่ละจังหวัดคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากยอดเดิม
🤷♀️ จะทราบได้อย่างไรว่าเราต้องเลือก ส.อบจ. เขตไหน และเลือกใครได้บ้าง ?
กฎหมายไม่ได้ระบุว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.และ ส.อบจ. ต้องมีสังกัดพรรคการเมืองเหมือนกับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผู้สมัครจึงสามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ รวมถึงตัวผู้สมัคร ส.อบจ. เองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังกัดของผู้สมัครนายก อบจ. เช่นเดียวกัน
โดยภายในระยะเวลาอย่างน้อย 25 วันก่อนการเลือกตั้ง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะกําหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้ง นั่นหมายความ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 เราจะได้รู้กันว่าอำเภอที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่นั้นมีจำนวนเขตเลือกตั้งเท่าไหร่ เขตที่เรามีภูมิลำเนาอยู่นั้นเป็นเขตที่เท่าไหร่ และสามารถเลือกผู้สมัคร ส.อบจ. คนไหนได้บ้าง
ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้ง อบจ. ของคุณ ที่เว็บไซต์นี้