Content by

ประชาธิปไตยสึกหรอ เมื่อผู้ใช้กฎอัยการศึกเหลิง

เกาหลีใต้สั่นสะเทือนชั่วข้ามคืน เมื่อประธานธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk Yeol) ประกาศกฎอัยการศึกขึ้นมาในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยอ้างว่าเพราะต้องการปราบปรามกองกำลังต่อต้านรัฐและภัยคอมมิวนิสต์จากเกาหลีเหนือ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการจัดการกับการเมืองภายใน ที่น่าตกใจก็เพราะนี่ถือเป็นการประกาศกฎอัยการศึกในรอบ 45 ปีของเกาหลีใต้นับตังแต่ยุค ช็อน ดู-ฮวัน (Chun Doo-hwan) ในปี 2522 แต่ในครั้งนี้กลับจบอย่างรวดเร็วหลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีใต้ 190 คนจาก 300 คน ที่บางคนต้องปีนรั้วเพื่อเข้าไปในสภาเพราะเจ้าหน้าที่ทหารปิดล้อมอยู่ ได้โหวตลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังมีการประท้วงของประชาชนที่ไม่เห็นกับประกาศกฎอัยการศึก และเรียกร้องให้ ยุน ซอก-ยอล ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

กฎอัยการศึก (Martial Law) คือ ระบบกฎหมายในสถานการณ์ไม่ปกติ เป็นกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งบังคับใช้ในเฉพาะยามจำเป็นอันไม่อาจใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นได้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะขึ้นมามีอำนาจและทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่พลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปราม เพื่อทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ และต้องประกาศใช้ใน “ยามจำเป็น” เท่านั้น กฎอัยการศึกมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในประเทศไทยมีการตรากฎอัยการศึกครั้งแรกใน พ.ศ. 2450 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า กฎอัยการศึก ร.ศ. 126 โดยถอดแบบมาจากกฎอัยการศึกของประเทศฝรั่งเศส และกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกกฎอัยการศึก ร.ศ. 126 และตราเป็น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เนื่องจากอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ตรงกับระเบียบพิชัยสงครามและเพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันยุคมากขึ้น และได้แก้ไขเพิ่มเติมอีก 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 5 ได้แก้ไขใน พ.ศ. 2502

กฎอัยการศึกได้ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 และบัญญัติคล้ายคลึง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยมีใจความสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และยกเลิกใช้กฎอัยการศึก และหากมีเรื่องเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ทหารสามารถกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก

  • แต่มีเพียงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างขึ้นมาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนได้ลุกฮือออกมาไล่ขับเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ระบุบทบัญญัติว่าด้วยกฎอัยการศึกในมาตรา 193 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะมีผลใช้บังคับเกิน 30 วันได้อีก เป็นระยะเวลาเท่าใด ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภา ทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคสาม”

นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยที่รัฐสภาและวุฒิสภาเข้ามามีส่วนรวมตรวจสอบกฎอัยการศึกและกำหนดระยะเวลา เพราะรัฐธรรมนูญของไทยที่เหลือที่ตามมาไม่ได้ระบุถึงวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรานี้เพื่อสร้างการถ่วงดุลทางอำนาจระหว่างสภาและเจ้าหน้าที่ทหารเลย

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นกฎหมายสูงสุดและกฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงฐานรองรับให้กับกฎอัยการศึกที่มีอำนาจหน้าที่เต็มไม้เต็มมือ ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและขัดแย้งกับลำดับขั้นของกฎหมาย เพราะมาตรา 2 ระบุว่าหากมีการประกาศกฎอัยการศึก มีข้อกฎหมายที่ขัดกับกฎอัยการศึก ให้ใช้กฎอัยการศึกแทน เนื่องจากกฎอัยการศึกไม่เคยมีการปรับแก้มาตั้งแต่ปี 2502 หรือ 65 ปีมาแล้วทำให้ตัวกฎอัยการศึกไม่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นดั่งมรดกตกทอดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในโอกาสวันวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม ทาง Wevis ขอพาผู้อ่านทุกคนย้อนไปดูว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผ่านการประกาศใช้กฎอัยการศึกมาแล้วกี่ครั้ง ใครประกาศ ประกาศตอนไหน และใช้เพื่ออะไรบ้าง

ประเทศผู้ประกาศใช้ปีที่ประกาศสาเหตุประเภท
กัมพูชาลอน นอล31/05/2513ทำสงครามกับคอมมิวนิสต์สงคราม
กัมพูชาฮุน เซน10/04/2563Covid-19ปราบปรามความขัดแย้ง
ลาวนายพลภูมี หน่อสวรรค์10/08/2503ปราบปรามการรัฐประหารของร้อยเอกกองแล วีระสานรัฐประหาร
ไทยพระยาพหลพลพยุหเสนา12/10/2476กบฏบวรเดชปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยจอมพล ป. พิบูลสงคราม07/01/2484 สงครามอินโดจีนสงคราม
ไทยจอมพล ป. พิบูลสงคราม10/12/2484สงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2)สงคราม
ไทยจอมพล ป. พิบูลสงคราม30/06/2494กบฏแมนฮัตตันปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์16/09/2500รัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามรัฐประหาร
ไทยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์20/10/2501รัฐประหารยึดอำนาจจอมพล​ ถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)รัฐประหาร
ไทยพลเอกถนอม กิตติขจร17/11/2514รัฐประหารยึดอำนาจตนเองรัฐประหาร
ไทยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่06/10/2519รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชรัฐประหาร
ไทยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่20/10/2520รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียรรัฐประหาร
ไทยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์23/02/2534รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณรัฐประหาร
ไทยพล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 405/01/2547แก้ไขความขัดแย้งชายแดนใต้ปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยพล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 426/01/2547แก้ไขความขัดแย้งชายแดนใต้ปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยพล.ท. ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาคที่ 43/11/2548แก้ไขความขัดแย้งชายแดนใต้ปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน19/09/2549รัฐประหาร พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ20/05/2557ปรามปรามจลาจลปราบปรามความขัดแย้ง
ไทยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ22/05/2557รัฐประหารนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรัฐประหาร
ฟิลิปปินส์รามอน บลังโก30/08/2439มาตรการต่อต้านกลุ่มโจร และการปฏิวัติปราบปรามความขัดแย้ง
ฟิลิปปินส์เอมีลีโอ อากีนัลโด24/05/2441ประกาศเอกราชจากสเปนและจัดตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์สงคราม
ฟิลิปปินส์โฮเซ เป. เลาเรล21/09/2487ประกาศสงครามกับกองกำลังพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2สงคราม
ฟิลิปปินส์เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส23/09/2515ปราบปรามภัยคอมมิวนิสต์ปราบปรามความขัดแย้ง
ฟิลิปปินส์กลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย4/12/2552ปราบปรามตระกูลอัมปาตวน และจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับคดีสังหารหมู่คู่แข่งการเมือง 58 ในกินดาเนาปราบปรามความขัดแย้ง
ฟิลิปปินส์โรดริโก ดูเตอร์เต23/05/2560ปรามปรามความขัดแย้งในเกาะมินดาเนาปราบปรามความขัดแย้ง
อินโดนีเซียซูการ์โน18/12/2500ปราบปรามรัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PRRI)ปราบปรามความขัดแย้ง
อินโดนีเซียซูฮาร์โต2533ปราบปรามขบวนการอาเจะฮ์เสรีปราบปรามความขัดแย้ง
อินโดนีเซียนายพลวิรันโต2542ปรามปรามการแยกตัวเป็นอิสระของติมอร์ตะวันตกปราบปรามความขัดแย้ง
อินโดนีเซียเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี19/05/2546ปราบปรามขบวนการอาเจะฮ์เสรีปราบปรามความขัดแย้ง
อินโดนีเซียยูโด มาร์โกโน18/04/2562ปราบปรามชาวปาปัวตะวันตกและกองทัพปฏิบัติการปาปัวเสรีปราบปรามความขัดแย้ง
เมียนมาซอ หม่อง27/07/2553ปราบปรามการลุกฮือของประชาชนจากการประท้วงปราบปรามความขัดแย้ง
เมียนมาเต็งเส่ง18/02/2558ปราบปรามกลุ่มกบฏโกก้างปราบปรามความขัดแย้ง
เมียนมามิน อ่อง หล่าย01/02/2564รัฐประหารและปราบปราบกองทัพต่อต้านรัฐบาลปราบปรามความขัดแย้ง
เวียดนามใต้โง ดิ่ญ เสี่ยม21/8/2506ปราบปรามคอมมิวนิสต์ปราบปรามความขัดแย้ง
สิงคโปร์(ภายใต้บริติชมาลายา)อาเธอร์ เพอร์ซิวาล31/12/2485สงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2)สงคราม
หมายเหตุ : สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ University of Central Arkansas, Amnesty International สถาบันพระปกเกล้า และผู้จัดการออนไลน์

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั้งหมด 35 ครั้ง

  1. ประเทศที่ประกาศกฎอัยการศึกมากที่สุดคือ ไทย ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั้งหมด 16 ครั้ง ใช้เพื่อรัฐประหาร 8 ครั้ง กบฏ 2 ครั้ง สงคราม 2 ครั้ง แก้ไขความขัดแย้งชายแดนใต้ 3 ครั้ง และปราบปรามการชุมนุม 1 ครั้ง
  2. ประเทศที่รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ ประกาศทั้งหมด 6 ครั้ง ใช้เพื่อปราบปรามความขัดแย้ง 4 ครั้ง และในการสงคราม 2 ครั้ง
  3. ลำดับที่ 3 คือ อินโดนีเซีย ประกาศใช้ทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งใช้เพื่อปรามปรามความขัดแย้งทั้งหมด
  4. ลำดับที่ 4 คือ เมียนมาร์ ประกาศใช้ทั้งหมด 3 ครั้ง ใช้เพื่อปราบปรามการประท้วง 2 ครั้ง และรัฐประหาร 1 ครั้ง
  5. ลำดับที่ 5 คือ กัมพูชา ประกาศใช้ทั้งหมด 2 ครั้ง คือปราบปรามคอมมิวนิสต์ 1 ครั้ง และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19)
  6. และลำดับ 6 ร่วม ได้แก่ ลาว เวียดนามใต้ และสิงคโปร์ ประกาศใช้ทั้งหมด 1 ครั้ง ลาวใช้เพื่อตอบโต้การรัฐประหาร เวียดนามใต้ใช้เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ และสิงคโปร์ (ภายใต้บริติชมาลายา) ประกาศใช้สำหรับสงครามเอเชียบูรพา

อย่างไรก็ตาม กฎอัยการศึกไม่ได้เป็นเพียงกฎหมายเดียวที่มีการประกาศใช้เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง แต่ยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับที่มักใช้ควบคู่กัน ได้แก่ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

เปรียบเทียบกฎหมาย 3 ฉบับ

ประเด็นกฎอัยการศึกพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯพ.ร.บ. ความมั่นคง
สถานการณ์ที่ต้องใช้มีเหตุจำเป็น เช่นสงครามภายในหรือภายนอกมีสถานการณ์ฉุกเฉิกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิกร้ายแรงมีเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง
ผู้สามารถประกาศใช้-มีประกาศพระบรมราชโองการ
-ผู้บังคับบัญชาทหาร
นายกรัฐมนตรีครม. มีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. รับผิดชอบ
พื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งประเทศส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งประเทศครม.มีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. รับผิดชอบ
อำนาจตามกฎหมายเจ้าหน้าทหารมีอำนาจเหนือกว่าเจ้าหน้าที่พลเรือน และมีอำนาจเต็มที่ในการตรวจค้น ยึด ทำลาย
– ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา
-สั่งเคอร์ฟิว
-สามารถห้ามนำเสนอข่าวได้
-ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม
-ตรวจสอบจดหมาย โทรศัพท์ยับยั้งการสื่อสาร
-ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม
-ห้ามการใช้หรือเข้าอยู่ในสถานที่ที่กำหนด
-สั่งเคอร์ฟิว
-ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม
-ห้ามการใช้หรือเข้าอยู่ในสถานที่ที่กำหนด
การจับกุมและการควบคุมตัวจับกุมได้โดยไม่มีหมายจับ และควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล แต่ต้องไม่เกิน 7 วันต้องมีหมายจับในการจับกุม ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และสามารถขยายเวลาควบคุมได้ไม่เกิน 30 วันไม่มีอำนาจในการควบคุมตัว ใช้การควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ
ระยะเวลาจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการยกเลิกไม่เกิน 3 เดือนแต่สามารถขยายระยะเวลาได้จนกว่าเหตุความมั่นคงจะสงบ

ในประเทศมีการสั่งใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 9 ครั้ง ประกอบไปด้วย

เรื่องรัฐบาลวันที่ประกาศวันสิ้นสุดระยะเวลา (วัน)ความฉุกเฉิน
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสมัคร สุนทรเวช02/09/255114/09/255113ฉุกเฉิน
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสมชาย วงศ์สวัสดิ์27/11/25519/12/255113ฉุกเฉินร้ายแรง
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ11/04/255211/04/25521ฉุกเฉินร้ายแรง
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ12/04/255224/04/255213ฉุกเฉินร้ายแรง
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ07/04/255321/12/2553259ฉุกเฉินร้ายแรง
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองยิ่งลักษณ์ ชินวัตร21/01/255719/03/255758ฉุกเฉินร้ายแรง
การแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองประยุทธ์ จันทร์โอชา15/10/256322/10/25638ฉุกเฉินร้ายแรง
การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ประยุทธ์ จันทร์โอชา26/03/256330/09/2565919ฉุกเฉิน
การแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทักษิณ ชินวัตร20/07/2548ยังคงประกาศใช้งาน7082 (นับต่อเรื่อย ๆ )ฉุกเฉินร้ายแรง
อ้างอิง: กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ โดย อรรถสิทธิ์ กันมล

ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมือง 7 ครั้ง แก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1 ครั้ง และป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก 1 ครั้ง

การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ยาวนานที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกาศตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 นับตั้งแต่สมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร และดำเนินมากกว่า 19 ปี และการประกาศใช้ที่สั้นมากคือการใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองในสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีระยะเวลาทั้งหมด 1 วัน เนื่องจาก นปช. บุกเข้าไปในโรงแรมซึ่งเป็นพื้นที่จัดการประชุมอาเซียน

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง มีการประกาศใช้ทั้งหมด 43 ครั้ง ในกรณีดังต่อไปนี้

รัฐบาลปัญหาการชุมนุมทางการเมืองปัญหาชายแดนภาคใต้
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ164
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร84
ประยุทธ์ จันทร์โอชา9
เศรษฐา ทวีสิน1
แพทองธาร ชินวัตร1
อ้างอิง: กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ โดย อรรถสิทธิ์ กันมล

ผู้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคง มากสุดคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ไปทั้งหมด 20 ครั้ง เป็นการแก้ไขการชุมนุมทางการเมือง 16 ครั้ง และเพื่อควบคุมสถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้ 4 ครั้ง

และการประกาศใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อภัยความมั่นในชายแดนใต้ มักจะเป็นการต่ออายุ พ.ร.บ. ความมั่นคงไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในแต่ละพื้นที่ แต่มักจะแทนที่ให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงแทน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนให้พื้นที่บริเวณนั้นดีขึ้น

การประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้ความคิดเห็นว่า

“จริงๆ รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิหรือให้การคุ้มครองเอาไว้สูงกว่า แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบและการประกาศใช้กฎหมายพิเศษทำให้เกิดข้อยกเว้น แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องตระหนักด้วยว่า มีสิทธิบางประการที่ห้ามยกเว้น เช่น ห้ามซ้อมทรมาน ห้ามตัดขาดการติดต่อกับบุคคลภายนอก ฉะนั้นการห้ามเยี่ยมไม่สามารถทำได้ รวมทั้งการบันทึกรายชื่อบุคคลต้องสงสัยไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้คงต้องอาศัยการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและแก้ไขกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิประชาชนต่อไป”

จากสถิติการประการศใช้กฎอัยการศึกทั้งในไทยและประเทศในแถบอาเซียน มักประกาศไล่เลี่ยในช่วงเวลาเดียวคือช่วงสงครามเย็นและใช้เพื่อปราบปรามการลุกฮือของประชาชนโดยอ้าง “ความมั่นคงของรัฐ” ในขณะที่ไทยมักประกาศใช้ตอนทำการรัฐประหาร รวมไปถึงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานในจังหวัดชายแดนใต้ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสามารถใช้อำนาจต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงการฉีกรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นกฎหมายลำดับชั้นสูงสุดทิ้งและเขียนใหม่ทุกรอบเนื่องจากไม่เคยมีการปรับแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจของกฎอัยการศึกและกลไกจัดการคนทำรัฐประหาร

หากวันหนึ่งรัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์และมีกลไกในการป้องการการรัฐประหาร เอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้ เมื่อนั้นวันรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่แค่วันหยุดธรรมดา ๆ วันหนึ่ง แต่น่าจะมีความหมายในใจของคนไทยหลาย ๆ คนได้จริง

บทความโดย

พีรกิตติ์ ศรีกุล – Project Coordinator Intern

อ้างอิง

  • สิริญา แสงอำนาจ (2563) กฎอัยการศึก : ศึกษามโนทัศน์ สถานะ และการปรับใช้ในระบบกฎหมายไทย และระบบกฎหมายต่างประเทศ