ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทยทั้ง 26 ครั้ง การเมืองไทยผ่านหลากหลายวิธีการทดลองและพัฒนาระบบเลือกตั้งให้สอดคล้องกับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับ
รวมไปถึง เลือกตั้ง’66 เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ และมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสัดส่วนของ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นผลให้ระบบเลือกตั้งในรอบนี้แตกต่างออกไปจากระบบเลือกตั้งที่ใช้ในปี 62
การเข้าใจที่มาที่ไปของระบบเลือกตั้งจะทำให้เข้าใจบริบทของการเมืองไทยในแต่ละช่วงมากขึ้น เมื่อระบบเลือกตั้งเปรียบเสมือนเกมที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการคัดเลือกกลุ่มพรรคการเมืองเข้ารัฐสภา และในทุก ๆ ระบบเลือกตั้งที่ไทยเคยใช้มา ได้เปิดเผยข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่างแตกต่างกันออกไป
ชวนอ่านพัฒนาการระบบเลือกตั้งไทย ตั้งแต่เลือกตั้ง’44 จนถึงเลือกตั้ง’66 เลือกตั้ง 6 ครั้ง ใช้ 5 ระบบ แตกต่างมากน้อยขนาดไหน แล้วระบบเลือกตั้งแต่ละรูปแบบส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองประเภทไหน อย่างไรบ้าง
จุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกตั้งไทยเกิดขึ้นเมื่อระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (การเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อเลือก ส.ส. เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ) ถูกนำเสนอและใช้ครั้งแรกหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 นับว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่พลิกโฉมวงการการเมืองไทย เพราะจากเดิมมีเพียงแค่การเลือกตั้ง ส.ส. เขต แต่ระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้มีการเพิ่ม ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อหรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” เป็นครั้งแรก เพื่อเพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคให้ชัดเจนมากขึ้น
จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สู่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การเมืองไทยปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาแล้วกว่า 5 ระบบ ซึ่งมีความแตกต่างและความเหมือนในรายละเอียด เงื่อนไข และกฏกติกา
เปรียบเทียบระบบเลือกตั้งไทยจากรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน
ตารางเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งไทยจากรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 | ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ2550/1 | ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550/2 | ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560/1 | ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560/2 | |
ปีเลือกตั้ง ที่ใช้ (*=เลือกตั้งเป็นโมฆะ) | 2544 2548 2549* | 2550 | 2554 2557* | 2562 | 2566 |
จำนวนครั้งที่ได้ใช้ | 2 | 1 | 1 | 1 | ? |
จำนวนบัตรเลือกตั้ง | 2 ใบ | 2 ใบ | 2 ใบ | 1 ใบ | 2 ใบ |
ส.ส. ระบบแบ่งเขต | 400 | 400 | 375 | 350 | 400 |
ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ | 100 | 80 | 125 | 150 | 100 |
จำนวนรวม ส.ส. | 500 | 480 | 500 | 500 | 500 |
ประชาชนเลือก ส.ส. เขตได้ | 1 คน | 1-3 คน | 1 คน | 1 คน | 1 คน |
จำนวนหมายเลขพรรคที่ใช้ในบัตรเลือกตั้ง | ใช้เบอร์เดียวกัน | ใช้คนละเบอร์ | ใช้เบอร์เดียวกัน | – | ใช้คนละเบอร์ |
เงื่อนไขและเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ | ร้อยละ 5 ของผลโหวตรวมทั่วประเทศ | ไม่กำหนด | ไม่กำหนด | กำหนดตัวเลข ส.ส.พึงมี จากสัดส่วนคะแนนโหวตที่พรรคได้ | ไม่กำหนด |
สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ | สูตรหาร 100 คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 100 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น | ระบบสัดส่วน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มจังหวัดมี ส.ส. จากระบบสัดส่วนได้ 10 คน โดยนำคะแนนที่ทุกพรรคการเมืองได้รับในเขตเลือกตั้งนั้นมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมข้างต้น | สูตรหาร 125 คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 125 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น | สูตรหาร 500 คะแนนเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 500 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้ตัวเลขจำนวน ส.ส. พึงมี ของพรรคการเมือง จากนั้นให้หาผลต่างระหว่างที่นั่ง ส.ส. เขตที่พรรคการเมืองได้ กับจำนวน ส.ส.พึงมี จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น | สูตรหาร 100 คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 100 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น |
ส.ว. | เลือกตั้ง 200 คน แต่งตั้ง 0 คน รวม 200 คน | เลือกตั้ง 77 คน แต่งตั้ง 73 คน รวม 150 คน | เลือกตั้ง 77 คน แต่งตั้ง 73 คน รวม 150 คน | เลือกตั้ง 0 คน แต่งตั้ง 250 คน รวม 250 คน | ส.ว.ชุดเดิม เพราะมีวาระ 5 ปี |
พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด | ไทยรักไทย | พลังประชาชน | เพื่อไทย | เพื่อไทย | ? |
คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี | ต้องเป็น ส.ส. | ต้องเป็น ส.ส. | ต้องเป็น ส.ส. | ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง **เว้นแต่ในระหว่าง 5 ปีแรก มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สามารถเลือกจากคนที่ไม่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองได้ | ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง |
นายกที่ได้ | ทักษิณ ชินวัตร | สมัคร สุนทรเวช | ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร | ประยุทธ์ จันทร์โอชา | ? |
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540
บรรยากาศการเมืองไทยก่อนที่จะมีระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน คะแนนเลือกตั้งจะถูกนับจาก ส.ส. ระบบเขตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจากหลากหลายพรรค และมักจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ แต่เมื่อมีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของพรรคการเมือง รัฐบาลจากสภาที่ใช้ระบบนี้จึงมีความเข้มแข็งขึ้นจากผลการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองเข้าทำงานในสภาจำนวนไม่มาก และมีการแข่งขันเชิงนโยบายที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้ที่นั่งในสภาว่าต้องมีคะแนนเสียงขั้นต่ำ “ร้อยละ 5” เพื่อใช้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเลย ระบบนี้จึงเอื้อข้อได้เปรียบแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในขณะที่พรรคการเมืองที่จะเป็นทางเลือกใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นได้ยาก
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550/1
ภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 มีการปรับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบบเลือกตั้งจึงถูกเปลี่ยนไปด้วย ระบบใหม่นี้มีการปรับอัตราส่วนจำนวน ส.ส. ใหม่ โดยลดจำนวน ส.ส. ในสภาลงเหลือ 480 คน และเพิ่มการออกเสียงให้ประชาชนสามารถเลือก ส.ส. เขตได้มากกว่า 1 คนต่อเขต เพื่อกระจายคะแนนไปยังผู้สมัครหลายคน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่โดยการแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็น 8 กลุ่ม เรียกว่า “ระบบสัดส่วน” โดยแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมี ส.ส. จากระบบสัดส่วนได้ 10 คน จากวัถตุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อที่มีความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ดี ระบบเลือกตั้งในรอบนี้ได้รับข้อวิจารณ์ว่ามีปัญหาภายในตัวอยู่มาก ประกอบไปด้วย ประการแรก ปัญหาความไม่เท่าเทียมของจำนวนตัวแทนที่ออกเสียงในสภา กล่าวคือ จากการเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขตที่มีจำนวน ส.ส. ให้เลือกในแต่ละเขตที่ “ไม่เท่ากัน” ทำให้ประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงไม่เท่ากัน เช่น ประชาชนที่อยู่ในเขตที่ต้องเลือก ส.ส. 3 คน มีสิทธิเลือกผู้แทนได้ 3 คน ในขณะที่ประชาชนที่อยู่ในเขตที่ต้องเลือก ส.ส. คนเดียวนั้น มีสิทธิเลือกผู้แทนได้เพียงแค่คนเดียว และประการที่สอง ระบบสัดส่วนที่แบ่งตามกลุ่มจังหวัดไม่ได้สะท้อนความเป็นภูมิภาค อีกทั้งยังครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่กว้างเกินไป ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ ส.ส. แสดงความรับผิดชอบต่อคนในพื้นที่ได้จริง
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550/2
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกพิจารณาแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาในปี 2554 จากความล้มเหลวในระบบสัดส่วน จึงกลับมาใช้ระบบบัญชีรายชื่อลักษณะเดิมกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มีการปรับสัดส่วนจำนวน ส.ส. โดยเพิ่มจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 125 คน และลดจำนวน ส.ส. เขตลงเหลือ 375 คน ทำให้พรรคการเมืองได้รับความสำคัญมากขึ้นในระบบเลือกตั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ดีระบบเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้กำหนดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำในการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางมีโอกาสได้ที่นั่งในสภามากกว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560/1
การรัฐประหารโดยคสช. ในปี 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถูกยกเลิก ระบบเลือกตั้งจึงถูกออกแบบใหม่อีกครั้ง
การเลือกตั้งในปี 2562 มีความพยามอุดข้อเสียของแนวคิดระบบ winner takes all ที่สร้างปรากฏการณ์ “คะแนนเสียงตกน้ำ” กล่าวคือ ส.ส. เขตที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้ที่นั่งในสภา แม้ผลคะแนนดังกล่าวจะมีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียงในเขตนั้น การนำคะแนนของ ส.ส. ระบบแบ่งเขตมาใช้คำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ผ่านการให้เลือกโดยใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้งคนทั้งพรรค ทำให้คะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งถูกใช้คํานวณเป็นคะแนนของพรรคได้อีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ดี แนวคิดการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือก ส.ส. ในระบบแบ่งเขตให้แตกต่างไปจากการเลือกพรรคการเมืองได้ ระบบนี้จึงเสมือนเป็นการบังคับเลือกพรรคการเมืองภายในตัว ส.ส. ท้องถิ่นที่มีคะแนนเสียงเหนียวแน่นจึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับพรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งประเภทนี้
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560/2
จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวจนถึงสูตรการคำนวณระบบบัญชีรายชื่อเจ้าปัญหา นำไปสู่ความพยายามในการแก้กฏหมายเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ในท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตาม พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปสู่ “ระบบบัตร 2 ใบ สูตรหารร้อย แต่คนละเบอร์”
จุดเด่น–จุดด้อยของการเลือกตั้ง 5 ระบบ
ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตย เมื่อระบบเลือกตั้งหนึ่ง ๆ เผยข้อได้เปรียบหรือข้อเสียเปรียบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ความพยายามในการพัฒนาแก้ไขระบบเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ผ่านการใช้กลไกรัฐสภาเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เพราะในหลาย ๆ ครั้ง มักเกิดคำถามว่าระบบเลือกตั้งถูกพัฒนาให้ดีขึ้นจริง ๆ หรือเป็นเพียงแค่หนึ่งในเครื่องมือสกัดอำนาจฝ่ายตรงข้ามของชนชั้นนำ
ในทุก ๆ ระบบเลือกตั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ล้วนส่งผลกระทบพรรคการเมืองขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่จะมีหนทางไหนบ้างที่จะสามารถออกแบบสูตรกติกาที่มั่นคงและให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม รวมไปถึงการมีระบบเลือกตั้งที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนไทยมากที่สุด
แม้ระบบเลือกตั้งไทยจะถูกเปลี่ยนบ่อยและเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่การเลือกตั้ง’66 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดย “เลือกคนที่รัก และเลือกพรรคที่ชอบ” ร่วมกันใช้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ขับเคลื่อนสังคมไทยผ่านวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยพร้อมกัน ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒)
- https://ilaw.or.th/node/5229
- https://thaipublica.org/2018/01/thailand-election-2560-12/
- https://ilaw.or.th/node/5572
- https://ilaw.or.th/node/5973
- https://ilaw.or.th/node/6294
- https://ilaw.or.th/node/5971
- https://ilaw.or.th/node/6377
- https://ilaw.or.th/node/5886
- https://workpointtoday.com