Content by

ผลโหวตเท่านั้นที่ knock everything แต่ระบบเลือกตั้ง ทำให้พรรคต้องโบยบิน ?

ทำความเข้าใจระบบเลือกตั้ง 66 เลือกตั้งรอบนี้ มีกฎกติกาใหม่
ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ “พรรคไหนได้ พรรคไหนเสีย”

เราจะได้ยินคำว่า กกต. ทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง เพราะ กกต. เป็นหน่วยงานหลักที่จัดการการเลือกตั้งและอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2540

แต่เคยสงสัยมั้ยว่า กตต. ใช้เกณฑ์อะไร เพื่อที่จะเลือกว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ต้องใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน เพื่อให้สภาได้มาซึ่งจำนวนส.ส./ส.ว.เท่าไหร่ และทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึันจากกระบวนการอะไรบ้าง?

WeVis จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทำความเข้าใจที่มาที่ไปของระบบเลือกตั้ง โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะมาถึง เพราะการเลือกตั้งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญไทย และเป็นวาระสำคัญของประชาชนชาวไทยที่ต้องออกไปใช้สิทธิเลือก “ผู้แทน” มาทำงานในสภาอันทรงเกียรติ การเข้าใจที่มาที่ไปของระบบเลือกตั้งจะทำให้เข้าใจบริบทของการเมืองไทยมากขึ้น รวมไปถึงข้อเสียเปรียบและข้อได้เปรียบที่พรรคการเมืองต่าง ๆ อาจจะได้รับจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

จริง ๆ แล้ว ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีชุดกฎหมายต่าง ๆ มากำหนดวิธีการและกระบวนการ ประกอบไปด้วย รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า “พ.ร.ป เลือกตั้ง” พระราชกฤษฎีกา และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

และในการเลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะถึงนี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตาม พ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งใจความสำคัญคือการแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ มีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (10 กันยายน 2564) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่างออกไปจากเกณฑ์การเลือกตั้งในครั้งที่แล้วที่ถูกครหาว่าพิสดารอย่างสิ้นเชิง 

เลือกตั้งหนนี้มีบัตรสองใบ กาคนที่ใช่และพรรคที่ชอบ แต่ระวังจะสับสน เพราะเบอร์คนที่เรารักกับเบอร์พรรคที่อยากได้อาจไม่เหมือนกัน

ได้เวลาบอกลาบัตรเลือกตั้งใบเดียวและการคำนวณแบบ “สูตรมีชัย” อย่างที่เคยใช้ในการเลือกตั้ง 62 เพราะในปีนี้จะกลับไปใช้ระบบการคิดคำนวณแบบคู่ขนาน หรือที่เรียกว่า MMM (Mixed member majoritarian system) อีกครั้ง ซึ่งมีความ “คล้ายคลึง” กับระบบเลือกตั้งที่เคยใช้ในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540

หัวใจสำคัญของระบบเลือกตั้ง 2566

จำนวน “สัดส่วนสมาชิกสภา” ในส่วนของผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เปลี่ยนไป

  • ส.ส.เขต 400 คน (จากเดิม 350 คน)
  • ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (จากเดิม 150 คน)

ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อเข้าคูหา ประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีสีต่างกัน กกต. จะประกาศ ตัวอย่างบัตรและสีของบัตรแต่ละใบเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง 

  • สำหรับ บัตรใบแรก ประชาชนเลือกผู้สมัคร “ส.ส. เขต” หนึ่งคน ให้เป็นผู้แทนเขตเลือกตั้ง โดยทำเครื่องหมายกากบาทในช่องผู้สมัครที่ต้องการเลือกเท่านั้น เครื่องหมายอื่นจะถือว่าเป็นบัตรเสียโดยทันที
  • และ บัตรใบที่สอง จะมีรายชื่อของพรรคการเมือง ประชาชนเลือก พรรคการเมือง ที่ชื่นชอบเข้าสภา

การกลับมาของบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะอำนวยให้ประชาชนสามารถออกเสียงให้กับ ส.ส. เขตในพื้นที่ตนเองและพรรคการเมืองที่ชื่นชอบแตกต่างกันได้ เสียงของประชาชนจึงถูกสะท้อนและมีความหมายมากขึ้น 

แต่สิ่งที่ควรเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุดกลับไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. เขตในแต่ละเขตอาจจะไม่เหมือนกับหมายเลขพรรคที่สังกัด ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผู้สมัคร ส.ส. เขตจะต้องจับฉลากหมายเลขของตนเองในทุก ๆ เขต โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่ามาจากพรรคการเมืองใด ทำให้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. เขตอาจจะไม่เหมือนกับหมายเลขของพรรคที่ตนสังกัดไปด้วย

ข้อเสียของแนวคิด “บัตรคนละเบอร์” อย่างที่เห็นได้ชัดคือ เป็นการเพิ่มภาระในการจำเลขที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และแก่พรรคการเมืองในระหว่างการหาเสียงเมื่อต้องใช้ “คนละเบอร์” ในการเข้าถึงประชาชน 

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขประเด็นนี้ในชั้นกรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่ได้รับการขานรับ เพราะสมาชิกกรรมาธิการโดยส่วนใหญ่ (ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐและส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้น) ลงคะแนนเสียงให้เป็น “คนละเบอร์” เหมือนเดิม ทำให้การพิจารณากฎหมายล่วงเลยกรอบพิจารณา 180 วัน และในท้ายที่สุดจึงต้องใช้ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องของหมายเลขอย่างที่กล่าวมา

“สูตรหาร 500 สู่สูตรหาร 100”: สูตรคำนวณสมาชิก ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนไป 

  • การสรรหา ส.ส. เขตจากบัตรใบแรกนั้นใช้ “ระบบเสียงข้างมาก” เลยไม่ค่อยมีความซับซ้อนจากการนับคะแนนโหวต พูดง่าย ๆ คือ ผู้สมัคร ส.ส. คนใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา
  • แต่ต้นตอของความซับซ้อนซ่อนเงื่อนไขหลายประการของระบบเลือกตั้งไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างนับไม่ถ้วนนั้นคือเรื่องราวของบัตรใบที่สองจาก “ระบบแบบสัดส่วน” 

บัตรใบที่ 2 มีไว้ให้เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยสูตรคำนวณที่จะนำมาใช้นั้นจะคิดที่นั่งบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนานกับจำนวน ส.ส. เขต หรือที่เรียกว่าระบบ MMM ในอีกชื่อหนึ่งคือระบบ “หารร้อย” ตามจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อที่มี 100 คน ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยเคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 

  • สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

คะแนนรวมทุกพรรคการเมือง/ 100 (จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ) =  คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน 

คะแนนที่พรรคนั้นได้/คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน  =   จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคได้รับการจัดสรร 

  • รายละเอียดเงื่อนไข
    • จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคได้ ให้นับเฉพาะ “จำนวนเต็ม” (ไม่นับเศษทศนิยม)
    • ถ้าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน ให้พรรคที่มีเศษทศนิยมจำนวนมากที่สุดได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน ตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันครบ 100 คน

ไม่มี “ส.ส.พึงมี” เหมือนที่เคยมีในการเลือกตั้ง 62

คำว่า “ส.ส.พึงมี” มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 ความหมายคือ ให้พิจารณาดูว่าแต่ละพรรคการเมืองควรมี ส.ส.ในสภากี่คน โดยคำนวณจากจำนวนคะแนนโหวตทั้งประเทศที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ ได้ไป อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ถ้ามีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 10% โหวตสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง พรรคนั้นก็ควรมีที่นั่ง ส.ส. ในสภาเท่ากับ 10% 

ถ้ายกกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว นั่นเป็นเพราะว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนโหวตรวม 7,423,361 เสียง คิดเป็น 22.25% จากผลเลือกตั้งทั้งหมด เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยจะมีจำนวน ส.ส. พึงมีในสภา 22.25% จากจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็นประมาณ 111 คน

ตัวเลข 111 คนคือจำนวน ส.ส. ที่พรรคเพื่อไทย “พึงมี” ในสภา โดยตามกติกาแล้ว หากพรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส. เขตน้อยกว่า ส.ส. พึงมี พรรคการเมืองจะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจนครบเท่าจำนวน ส.ส. พึงมี หากแต่กรณีของพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่าชนะเลือกตั้ง ส.ส. เขตไปแล้ว 137 ที่นั่ง ซึ่งมีมากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี (111 ที่นั่ง) จึงทำให้ไม่ได้รับจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องของ “ส.ส.พึงมี” อีกต่อไป หากลองใช้ผลเลือกตั้งแบบสูตรหารร้อยมาคำนวณผลโหวตเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยได้จากการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ผลต่างของที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคเพื่อไทยจะได้เพิ่มขึ้นมาคือ 22 ที่นั่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ จะมีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้นจากระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ มากกว่าระบบเลือกตั้งในครั้งก่อน เพราะไม่มีการจำกัดที่นั่ง จากสัดส่วนตัวเลข ส.ส.พึงมี

ในขณะที่พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งมักจะหวังที่นั่งบัญชีรายชื่อจากระบบ ส.ส.พึงมี ที่จำกัดที่นั่งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ก็จะมีจำนวน ส.ส. น้อยลง เพราะไม่มีกฎเกณฑ์เรื่อง ส.ส. พึงมีแล้ว หากลองใช้ผลเลือกตั้งแบบสูตรหารร้อยมาคำนวณโดยใช้ผลเลือกตั้งในปี 62 ของพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคชาติพัฒนาที่เป็นพรรคการเมืองท้องถิ่น ซึ่งได้คะแนนไป 244,770 เสียง ผลปรากฎว่า จะเสียที่นั่งบัญชีรายชื่อทั้งหมดจากเดิมที่มีอยู่ 2 ที่นั่งในระบบเลือกตั้งแบบใหม่

____________________

หากเทียบเคียงการเลือกตั้ง 62 กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 66 นี้ หัวใจสำคัญของระบบเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ถึงจะกล่าวได้ว่า เป็นการกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งที่ให้คุณค่าแก่การตัดสินใจของประชาชนให้เลือกได้ทั้งคนทั้งพรรคมากกว่าการบังคับกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวอย่างครั้งที่ผ่านมา แต่ถ้าลองพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว ระบบเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์อยู่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดาพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไปตามขนาดและรูปแบบองค์กร 

ระบบเลือกตั้งจึงเป็นเหมือนเกมที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการคัดเลือกกลุ่มพรรคการเมืองเข้ารัฐสภา และในทุก ๆ ระบบเลือกตั้งที่ไทยเคยใช้มา ย่อมมีข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบต่อทุก ๆ พรรคการเมืองแตกต่างกันอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

แม้ระบบเลือกตั้งไทยจะถูกเปลี่ยนบ่อยและเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่การเลือกตั้งในปี 2566 นี้ WeVis อยากเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคน ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดย “เลือกคนที่รัก และเลือกพรรคที่ชอบ” โดยอย่าลืมสังเกตเบอร์บนบัตรอย่างถี่ถ้วนก่อนกา ร่วมกันใช้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ขับเคลื่อนสังคมไทยผ่านวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

อ้างอิงข้อมูลจาก