เคารพธงชาติทุกวัน กับเพลงชาติที่ไม่เคยเปลี่ยนมา 80 กว่าปี… หรือจะมีบางอย่างที่รัฐอยากบอก และไม่อยากบอกเราผ่าน “เพลง” ? 🤔
ย้อนไปวันที่ 8 กันยายน ปี 2482 ไม่นานนักหลังจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออก ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เพื่อกำหนดให้คนไทย มีหน้าที่ เคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี* ก่อนที่จะประกาศรับรอง “เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482” อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นเพลงชาติเดียวที่เราร้องกันอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ
การที่คนไทยอยู่กับการเคารพธงชาติมาอย่างยาวนาน (ระดับที่ปู่ย่าตายายของใครหลาย ๆ คน อาจได้ยินเพลงชาติเพลงเดิมมาตั้งแต่เด็ก ๆ) จึงพูดได้ว่า เนื้อเพลงชาติไทยที่เล่าถึง “ความเสียสละของบรรพบุรุษ” ต่อด้วย “การปลุกใจให้คนไทยสละชีพเพื่อชาติ” ก่อนจะปิดท้ายด้วย “การอวยชัยให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง” ได้กลายเป็นความเคยชินของคนไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
แต่กว่าจะได้เป็นเพลงชาติฉบับปัจจุบัน เนื้อเพลงชาติไทยเคยถูกรัฐบาลสั่งเปลี่ยนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่การให้ปรับเกลาคำในบางท่อน การรวมเนื้อเพลงจากผู้แต่ง 2 คนเข้าด้วยกัน ไปจนถึงการโละทิ้งแล้วแต่งเนื้อใหม่ทั้งหมด ดังนั้น “เรื่องราว” ที่ถูกบอกเล่าในเนื้อเพลงชาติแต่ละฉบับจึงแตกต่างกันออกไป …บางเรื่องราวสามารถยืดหยัดในเนื้อเพลงชาติได้อย่างยาวนาน ในขณะที่บางเรื่องราวกลับถูกทำให้หายไป
ชวนมาสำรวจร่องรอยของอดีตในเนื้อเพลงชาติฉบับต่าง ๆ ไปพร้อมกันในบทความนี้
ย้อนความทรงจำ 4 เรื่องราวที่ เคย อยู่ในเนื้อเพลงชาติไทย
“ธรรมนูญ”
ครั้งแรก และครั้งเดียว ที่ “ธรรมนูญ” หรือ รัฐธรรมนูญ ปรากฏในเนื้อเพลงชาติไทย คือใน “เพลงชาติมหาชัย พ.ศ. 2475” ในท่อนที่ร้องว่า:
“เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วาง ธรรมนูญ สถาปนาพาราใหม่“
เพลงชาติมหาชัยนี้ เป็นการนำคำร้องที่แต่งโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มาร้องในทำนอง “เพลงมหาชัย” ซึ่งเป็นเพลงเกียรติยศของราชวงศ์
ถึงแม้เพลงชาติมหาชัยจะไม่ได้มีสถานะเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ แต่คณะราษฎรได้สั่งให้บรรเลงเพลงชาติมหาชัยทั่วประเทศตั้งแต่วันปฏิวัติสยามเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวต่อระบอบการปกครองใหม่ ในระหว่างที่รอเพลงชาติฉบับทางการแต่งเสร็จสมบูรณ์
นับรวมแล้ว เพลงชาติฉบับนี้มีอายุเพียง 7 วัน และเมื่อคณะราษฎรประกาศรับรอง “เพลงชาติสยาม พ.ศ. 2475” ที่ โละ เนื้อเพลงชาติมหาชัยออกและแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด “ธรรมนูญ” ก็ไม่ถูกกล่าวถึงในเนื้อเพลงชาติอีก
“เอกราษฎร์”
สำหรับ เพลงชาติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งขึ้นต้นด้วยท่อนคุ้นหูอย่าง “ประเทศสยาม นามประเทือง ว่าเมืองทอง…” แต่งคำร้องขึ้นโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และนับเป็นเพลงชาติทำนองสากลฉบับแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นฉบับแรกที่กล่าวถึง “เอกราษฎร์” ภายในเนื้อเพลงอีกด้วย ในท่อนที่ร้องว่า:
“ร่วมรักษา เอกราษฎร์ ชนชาติไทย“
“เอกราษฎร์ คือกระดูก ที่เราบูชา“
คำว่า “เอกราษฎร์” ไม่ใช่การสะกดผิดของผู้ประพันธ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการประสมคำว่า “เอกราช” เข้ากับ “ราษฎร” ซึ่งเป็นการเล่นคำที่มักปรากฎอยู่ในงานเขียนสมัยหลังปฏิวัติ โดยนักวิชาการมองว่า เป็นความตั้งใจของคณะราษฎรเพื่อสื่อความถึงการที่เอกราชของสยามยุคประชาธิปไตยจะไม่จำกัดอยู่แค่ “การไม่ตกเป็นเมืองขึ้น” แต่จะกินความถึง “การที่ราษฎรต้องได้ผลประโยชน์จากความเป็นเอกราชนั้นด้วย” โดยอาจสังเกตได้จากการบัญญัติ “หลักเอกราช” ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง” นั่นเอง
ต่อมารัฐบาลได้สั่งระงับการใช้เพลงชาติฉบับนี้ เนื่องจากมีคำว่า “ยึดอำนาจ” ในเนื้อเพลง (“ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้ เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย”) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่การจัดประกวดแต่งเนื้อเพลงชาติขึ้น จนได้เพลงชาติฉบับใหม่ที่ รวม เอาเนื้อเพลง 2 ฉบับที่ชนะเลิศเข้าด้วยกัน นั่นคือ เนื้อเพลงฉบับแก้ไขของขุนวิจิตรมาตรา และเนื้อเพลงของนายฉันท์ ขำวิไล จากนั้นก็ประกาศรับรองเป็น “เพลงชาติฉบับราชการ พ.ศ. 2477”
การเปลี่ยนเนื้อเพลงชาติครั้งนี้ได้แก้ไขท่อนเจ้าปัญหา “ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี” เป็น “รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี” ในขณะที่ “เอกราษฎร์” ในท่อน “ร่วมรักษา เอกราษฎร์ ชนชาติไทย” ถูกตัดออกและแก้ไขเป็น “รวมรักษา สามัคคี ทวีไทย” ส่วนท่อน “เอกราษฎร์ คือกระดูก ที่เราบูชา” แก้ไขเป็น “เอกราษฎร์ คือเจดีย์ ที่เราบูชา”
“มิตรไมตรี” และ “หญิงชาย”
ใน เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477 หนึ่งในเนื้อเพลงของนายฉันท์ ขำวิไล ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ต่อจากบทร้องฉบับแก้ไขของขุนวิจิตรมาตรา ที่ร้องว่า:
“มี ไมตรี ดียิ่ง ทั้งหญิงทั้งชาย“
นับเป็นครั้งแรกที่เนื้อเพลงชาติบรรยายลักษณะนิสัยคนไทยว่า “มีมิตรไมตรี” ซึ่งอยู่นอกเหนือจากมิติความกล้าหาญและเสียสละเพื่อชาติ แบบที่มักบรรยายไว้ในเนื้อเพลงชาติฉบับอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงคนไทยทั้ง “หญิงและชาย” แตกต่างจากฉบับอื่น ๆ ที่กล่าวถึงคนไทยในองค์รวมเป็นหลัก
เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477 บรรเลงต่อเนื่องยาวนาน 5 ปี จนกระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” บวกกับเห็นว่าเพลงชาติฉบับนี้ “ยาวเกินไป” จึงจัดประกวดการแต่งเนื้อเพลงชาติขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2482 โดยเนื้อเพลงที่ชนะเลิศแต่งขึ้นโดย พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบก
หลังรัฐบาลประกาศรับรองเนื้อเพลงใหม่นั้นเป็น “เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482” ก็เป็นอัน โละ เอา “เอกราษฎร์” “มิตรไมตรี” และ “หญิงชาย” ให้หายไปจากเนื้อเพลงชาติไป และนับแต่นั้น ประเทศไทยก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงชาติอีก
เมื่อเพลงชาติมอบ พื้นที่ แก่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมและการปลุกใจมากขึ้น
ในขณะที่เรื่องราวของ “ธรรมนูญ” “เอกราษฎร์” “มิตรไมตรี” และ “หญิงชาย” ทยอยหล่นหายไปจากเพลงชาติ จะสังเกตได้ว่า “ความเสียสละของบรรพบรุษ” และ/หรือ “การปลุกใจให้คนไทยเสียสละเพื่อชาติ” คือเรื่องราวที่ ยืนหยัดพื้นที่ ในเนื้อเพลงชาติไทยได้ในทุกฉบับ อีกทั้งยัง ขยายพื้นที่ ขึ้นในทุกครั้งที่มีเรื่องราวหนึ่ง ๆ หายไปจากเนื้อเพลง จนกระทั่ง กินพื้นที่เกือบทั้งหมด ของเนื้อเพลงชาติในฉบับ พ.ศ. 2482 หรือเพลงชาติฉบับปัจจุบัน …สิ่งนี้มีอะไรให้น่าคิดต่อ?
หากเราย้อนกลับมามองที่จุดตั้งต้นร่วมกันของเพลงชาติทุกฉบับ คือ “รัฐบาลเป็นผู้กำหนดใจความสำคัญของเนื้อเพลงชาติ” ไม่ว่าจะจากการตัดสินเพลงชาติที่ชนะการประกวด การเติมเนื้อเพลงเพิ่ม ตลอดจนการตัดข้อความบางส่วนออกไป เพื่อให้ตัวเพลงสามารถขมวด “ความเป็นชาติไทย” ได้ใน พื้นที่ ที่จำกัด
ดังนั้น สัดส่วนการให้ พื้นที่ กับเรื่องราวต่าง ๆ ในเพลงชาติแต่ละฉบับ จึงอาจบอกเราได้ว่า รัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ให้ อะไร เป็น ใจความสำคัญ ของ “ชาติไทย” วาดภาพอุดมคติของประเทศไว้เป็นอย่างไร คาดหวังให้ประชาชนเป็นแบบไหน…
และการที่ในยุคสมัยหนึ่ง ใจความสำคัญนั้นอาจเป็นการให้ประชาชนระลึกถึงรัฐธรรมนูญ หรือเป็นทั้งการเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับคาดหวังให้ประชาชนทุกคน รักและหวงแหนชาติไปพร้อม ๆ กับความมีมิตรไมตรี ก่อนจะถูกตัดตอนให้เหลือเพียง การสละชีพเพื่อชาติ และคงใจความดังกล่าวมายาวนานกว่า 80 ปี ก็ชวนให้น่าตั้งคำถามต่อว่า รัฐกำลัง ซ่อน บางเรื่องราวให้ หาย ไปกับเพลง แล้วชู “ความเป็นชาติไทย” แค่ในมิติเดียวอยู่หรือเปล่า?
*หมายเหตุ ประกาศฯ รัฐนิยม คือการแนะแนวทางการปฏิบัติของคนไทย เพื่อสร้างเป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคมที่ ศิวิไลซ์ ตามแนวคิดของจอมพล ป. โดยไม่มีโทษทางอาญาในกรณีฝ่าฝืน มีเพียงการระบุไว้ให้ “พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจง” แก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเท่านั้น
ถึงอย่างนั้นการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เคยถูกยกสถานะเป็น “กฎหมาย” อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง คือ ระบุไว้ในมาตรา 6 ของ พ.ร.บ วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ซึ่งกำหนดโทษของการไม่เคารพธงชาติคือ ปรับ 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 บังคับใช้มานาน 68 ปี ก่อนจะถูกยกเลิกลงในปี 2553 ดังนั้น ปัจจุบันการเคารพเพลงชาติจึงกลับมามีสถานะเป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคมไทยดังเดิม