Content by

‘เดินตามสหาย’ แกะรอยแผนที่เขตงานคอมมิวนิสต์ไทย

เคยสงสัยไหม เมื่อสหาย ‘หนีเข้าป่า’ แล้วป่าที่ว่า อยู่ที่ไหนบ้าง? 🤔🌳

เมื่อเดือนตุลาคมมาถึง 2 เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสำคัญที่ไม่มีใครสามารถลืมได้นั้น คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย และยังเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่มีการนองเลือดมากที่สุด 

ความอุกอาจในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนของฝ่ายขวาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นการประกาศชัดว่า ‘ฝ่ายขวา’ จะไม่มีการพูดคุยแบบสันติวิธีหรือประนีประนอมกับนักศึกษาอีกต่อไป ผ่านการแปะป้ายขั้วตรงข้ามว่าเป็นพวก ‘คอมมิวนิสต์’ เหตุการณ์นี้ได้เป็นชนวนสำคัญทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งและมีบทบาทมากขึ้นอีกครั้ง 

การรุกรานจากฝ่ายขวาและการกดขี่ข่มเหง นอกจากจะก่อให้เกิดความคับแค้นใจแล้ว ยังทำให้เราสูญเสีย ‘ดอกไม้’ ที่กำลังจะเบ่งบาน นั่นคือ นักศึกษาและปัญญาชนมากมายนับพันชีวิตต้องหนีเข้าป่าเพื่อไปเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้อยากเข้าป่าจากความฝักใฝ่ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตามแบบ พคท. ก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมถูกจดจำไว้เป็นหนึ่งใน ‘บาดแผล’ ของสังคมไทย ที่คนไทยเคยทำกับไทยด้วยกัน จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด ที่มีคนบาดเจ็บ ล้มตาย และต้องทิ้ง ‘บ้าน’ ในเมืองไปสู่ ‘ป่า’ ที่พวกเขาไม่รู้จักอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

หนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเดือนตุลาคม คงหนีไม่พ้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ย้อนกลับไปในปี 2494 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ประกาศให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนด้วยวิธีรุนแรงหรือการทำสงครามยืดเยื้อ ผ่านนโยบายที่หลายคนคงคุ้นหู คือ ‘นโยบายป่าล้อมเมือง’ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของพรรคคอมมิวนิสต์

แล้วถ้าจะเข้าป่า ป่าที่ว่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง? มีทั่วประเทศเลยมั้ยนะ? WeVis ชวนทุกคนมาแกะรอยแผนที่ค่ายหรือเขตงานพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไปพร้อม ๆ กันผ่านงานนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ ‘ป่า’ ของสหายทุกคนผู้มีอุดมการณ์แรงกล้ากันมากยิ่งขึ้น

*บางเขตงานย่อยอาจไม่สามารถระบุพิกัดได้แน่ชัดเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มาจากการสืบค้นตามบันทึกที่ปรากฏ
**มีแผนที่รูปแบบ Interactive Map อยู่ด้านล่างบทความ

จากแผนที่เราจะเห็นได้ว่าการกระจายตัวของเขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กระจายตัวไปอยู่ทั่วประเทศรวมไปถึงบริเวณรอบข้างในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เขตงานพิเศษอุดรธานีหรือภูซาง เขตงาน 196 และเขตงานร่วมสำนัก A30

ออกเดินทางเข้าป่าตามสหาย พคท. อยู่ที่ไหนกันบ้าง?

เขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เริ่มมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วง 2485-2490 มีการปฏิบัติงานและต่อสู้มาเรื่อย ๆ ผ่านความคับแค้นใจจากการถูกกระทำจากฝั่งตรงข้าม ได้ทำให้พวกเขาจริงจังกับการขยายขบวนการมากขึ้น เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการประกาศจับผู้กระทำ ‘การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์’ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2501 หรืออย่างเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก 8 สิงหาคม 2508 

เริ่มเดินทางมาที่ภาคแรก คือ ภาคกลาง เขตงานภาคกลางได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ 

  • ราชบุรี 
  • เพชรบุรี 
  • ประจวบคีรีขันธ์ 
  • กาญจนบุรี ที่มีบริเวณเป็นเขตเล็ก ๆ 

ขยับขึ้นไปภาคเหนือ ประกอบไปด้วย 

  • เขต 3 จังหวัด (เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-เลย) ประวัติศาสตร์การต่อสู้ปรากฏผ่านอนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และสมรภูมิภูหินร่องกล้า (เขตงาน 23) จังหวัดพิษณุโลก
  • เขตน่าน สำนัก 708 เป็นฐานที่มั่นที่ใหญ่ที่สุดของพคท. เป็นที่ตั้งศูนย์กลางพรรค (แบ่งเป็นน่านเหนือและน่านใต้) ‘ฐานที่มั่น’ หมายถึงที่ที่รัฐบาลไทยเข้าไปไม่ได้ เป็นอาณาเขตของคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายหลักคือชิงอำนาจรัฐ มีอนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ เป็นที่ให้ได้ระลึกถึง สาเหตุที่ใช้คำว่าฐานที่มั่น เป็นเพราะสถานที่นี้ได้ถูกยึดครองโดยพคท. และมีการแบ่งเขตหน่วยงานต่าง ๆ และใช้การเดินเท้าไปมาหากันเท่านั้น มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปลอดภัยจากการโจมตีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 
  • เขต 7 พะเยา (ภูผาจิและภูผาช้าง) 
  • เขต 8 เชียงราย (ภูชี้ฟ้า)
  • เขตตาก 
  • และเขตใหม่ที่รับผิดชอบพื้นที่ในลำพูน 
  • เขตลำปางและเชียงใหม่ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

โดยในภาคเหนือก็เป็นสถานที่ที่นักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าร่วมอยู่ไม่น้อยทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษารามคำแหง นักศึกษาธรรมศาสตร์ และยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงทางแวดวงสังคมและการเมืองในปัจจุบัน อาทิ สหายสุภาพ หรือ จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อยู่ที่เขต 7 พะเยา รวมไปถึงบุคคลสำคัญในแวดวงสื่อมวลชนอย่างสหายรื่น หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ใบตองแห้ง’ (อธึกกิต แสวงสุข) อยู่ที่เขต 8 เชียงราย 

ลงมาภาคใต้ ได้มีการแบ่งเขตงานเป็น 4 เขตใหญ่ ๆ คือ 

  • เขตนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์การต่อสู้ปรากฏผ่านอนุสรณ์สถานนักรบประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
  • เขต 3 จังหวัด (พัทลุง-ตรัง-สตูล) 
  • เขตสงขลา (รวมไปถึง เบตง จ.ยะลา)
  • เขตสุราษฎร์ธานี (ค่าย 508) ที่แบ่งเขตย่อยอีก 6 เขต ประวัติศาสตร์การต่อสู้ปรากฏผ่านอนุสรณ์สถานบ้านช่องช้าง

ศูนย์บัญชาการใหญ่ของพคท. ในภาคใต้มีชื่อว่า ‘กรุงชิง’ ซึ่งอยู่ใน อ.ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นค่ายที่มั่นฝึกอาวุธและเป็นกองบัญชาการที่มีกำลังในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยเขตงานทางภาคใต้เป็นเขตงานที่นักศึกษาจากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าไปอยู่มากที่สุด เนื่องจากเป็นเขตอิทธิพลใหญ่ โดยเฉพาะเขตสุราษฎร์ธานี ที่เป็นพื้นที่สีแดงไม่มีรอยต่อระหว่างเมืองและป่า (ว่ากันว่าลงรถไฟที่ อ.นาสาร ก็เหมือนเข้าเขตป่าทันที) ยิ่งไปกว่านั้น พคท.ในภาคใต้มีความเป็น ‘อัตตา’ สูงมาก เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายใด 

นอกจากนี้เขตงานในภาคใต้ จังหวัดพัทลุง ยังมีเหตุการณ์ปราบปรามคอมมิวนิสต์จากเจ้าหน้าที่รัฐในกรณี ‘ถังแดง’ ในช่วงปลายปี 2514 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง ‘เข่นฆ่า’ ประชาชนที่ ‘มีแนวโน้ม’ จะเข้าร่วมกับ พคท. หรือให้ความสนับสนุน แล้วจับเผาในถังน้ำมันสีแดง ที่ถือว่าเป็นกรณีที่เหี้ยมโหดต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และนอกจากนี้ยังมี อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกเหตุการณ์ถังแดงและเป็นสัญลักษณ์เพื่อย้ำเตือนการกระทำความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชน

ภาคที่มีเขตงานของพคท. เยอะมากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคอีสาน เนื่องจากมีพื้นที่เยอะ และมีชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ใกล้ชิด ภาคอีสานได้แบ่งเขตออกเป็น 

  • เขตอีสานเหนือ ซึ่งมีเขตงานย่อย 7 เขต ได้แก่ 
    • จังหวัด 111 (นครพนม-มุกดาหาร)
    • จังหวัด 333 (เรียกว่า “ฐานที่มั่นภูพาน” เป็นศูนย์กลางในเขตอีสานเหนือ) (นครพนม-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร)
    • จังหวัด 999 (ใกล้อุทยานแห่งชาติภูพานและพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์) (กาฬสินธุ์-สกลนคร)
    • จังหวัด 555 (สกลนคร-อุดรธานี)
    • จังหวัด 666 (กาฬสินธุ์-ขอนแก่น)
    • จังหวัด 222 (เขตภูสิงห์-ภูวัว หรือเขตบ้านนาทราย)(สกลนคร-หนองคาย)
    • และจังหวัด 444 (มุกดาหาร-อำนาจเจริญ-ยโสธร)
  • เขตอีสานใต้ ครอบคลุมใต้ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ 
    • บุรีรัมย์ 
    • ศรีสะเกษ 
    • สุรินทร์ 
    • อุบลราชธานี 
    • และพื้นที่บางส่วนของปราจีนบุรี มีเขตย่อย 7 เขต ได้แก่ เขต 11, เขต 30, เขต 203, เขต 205, เขต D (อยู่ในพื้นที่ของเขาใหญ่), เขตบูรพา และเขต 404 สหายชื่อดังที่คุ้นหูคงหนีไม่พ้น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ในนามสหายมา 

เขตงานพิเศษอุดรธานีหรือเขตภูซาง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะขยายงานเพิ่มจากเขตอื่น ๆ และยังถือเป็น ‘เส้นทางแดง’ สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเขตงานภาคอีสานและศูนย์กลางทางภาคเหนือ นอกจากนี้ยังง่ายต่อการประสานขอความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม และจีน

เขตงาน 196 ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เป็นเขตงานเดียวของพคท. ที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่หนีการปราบปราม ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ จากการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งแตกต่างจากเขตงานอื่นที่ก่อตั้งโดยสมาชิกจากพคท. แต่ต่อมา เขตงาน 196 ก็ได้รับการสนับสนุนจากพคท. และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพคท. ในภายหลัง

ส่วนเขตงานแนวร่วมสำนัก A30 ตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว สาเหตุที่ใช้ชื่อว่า ‘เขตงานแนวร่วม’ นั่นเป็นเพราะว่าไม่ใช่พื้นที่ของพคท. หรือการรวมกลุ่มของคนที่มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์โดยตรง แต่เป็นผู้ ‘ร่วม’ อุดมการณ์ที่เชื่อว่าการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการดำเนินการที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและถือเป็นพรรคการเมืองของประชาชน แนวร่วมสำนัก A30 เป็นเขตงานที่มีผู้นำนักศึกษาและปัญญาชนที่มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปอยู่มากที่สุด อาทิ ธัญญา ชุนชฎาการ ไขแสง สุขใส ผู้ร่วมขบวนใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ กรณี 14 ตุลาคม 2516 

เขตงานแนวร่วมสำนัก A30 เป็นสถานที่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวจัดไว้ให้พคท. เพื่อรองรับผู้คนที่มาเข้าร่วมต่อสู้ไปกับพรรค ที่มีจำนวนมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 หรือเรียกได้ว่าสงวนไว้เพื่อรองรับแนวร่วมจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เช่นศิลปินเพื่อชีวิตอย่าง หงา คาราวาน, หมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และนอกจากนี้บางบันทึกได้บอกไว้ว่าแนวร่วมสำนัก A30 ได้รับการสนับสนุนจากจีนและลาวโดยตรงทำให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยการเมือง

สภาพการเป็นอยู่ในป่าบนเขา นอนกลางดินกินกลางทราย ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ท้ายที่สุดแล้วการดำเนินงานของ พคท. ก็เริ่มเสื่อมถอยลง เห็นได้ชัดเจนจากปรากฎการณ์ ‘ป่าแตก’ ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2522 เมื่อกลุ่มนักศึกษาและผู้ที่หนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และจิรนันท์ พิศปรีชา ทยอยออกจากป่ากลับมาสู่เมือง และเข้ามอบตัวกับรัฐบาล เพราะพวกเค้าเห็นว่าแนวทางอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แบบที่พคท. ยึดถือนั้น ไม่สามารถเป็นไปได้จริง และความระส่ำระส่ายจากปัญหาภายในของพคท. เอง 

ยิ่งไปกว่านั้นการเข้ามาของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงต้นปี 2523 มาพร้อมกับการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ’66/2523′ ที่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ผ่านนโยบายสันติวิธีของรัฐ โดยมุ่งเน้นการมีจุดหมายปลายทางผ่านการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายผู้เห็นต่างด้วยการพูดคุยและยอมรับผู้หลงผิดกลับเข้าสู่สังคมปกติ ซึ่งมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมให้ผู้เห็นต่างหรือผู้หลงผิดเข้ามอบตัวอย่างไม่มีความผิดในฐานะ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’

ประเด็นนี้น่าจะทำให้หลายคนได้มองเห็นภาพ ‘ป่า’ ของสหายเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันการเคลื่อนไหวของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จะไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต หรือรวมไปถึงแนวร่วมนักศึกษาและปัญญาชน แต่อุดมการณ์การต่อสู้ของพวกเขาเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และได้ถูกบันทึกผ่านอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ให้คนได้เข้ามารู้จัก ระลึกถึงและเชิดชูสหายผู้มีอุดมการณ์เหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน 

📍 เดินตามสหายผ่านมือคุณเอง!
พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถานอยู่ที่ไหน? สหายคนดังเคยอยู่ที่ไหนกันบ้าง?
👉🏻 สำรวจแผนที่เขตงานคอมมิวนิสต์ไทยให้สนุกขึ้นผ่าน Interactive Map ได้ที่ https://tinyurl.com/thaicommap

อ้างอิงข้อมูลจาก
มุทิตา เจริญสุข. (2562). แนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2515-2525. (ภาควิชาประวัติศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร).
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2562). การแปลงฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้เป็น แหล่งท่องเที่ยว : การเมืองเชิงพื้นที่ในทศวรรษ 2520. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม-ธันวาคม, 2562): 85-111
https://thematter.co/social/talk-with-atukkit-sawangsuk/187085
https://siamrath.co.th/c/24550
https://www.facebook.com/946504625394497/posts/1043725482339077/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000079053
https://www.bbc.com/thai/thailand-43603766
https://lek-prapai.org/home/view.php?id=231