Content by

สตรีเพศ สิทธิทางการเมืองที่(ไม่ได้)มาพร้อมการปฏิวัติ

ย้อนดูประวัติศาสตร์สิทธิทางการเมืองของสตรีใน 5 ประเทศ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของสตรีในพื้นที่ทางการเมืองในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา

วนมาอีกครั้งกับการครบรอบเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ในปีนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นปีที่ 92 แล้ว

หากเปรียบเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นฉากหนึ่งในละคร ตัวละครหลักสำคัญอย่างคณะราษฎรก็คงจะเป็น “พระเอก” ในละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเปิดตำรา หนังสือ บทความ ฉบับไหนๆ เราล้วนแต่เห็นการปรากฏภาพของกลุ่มคณะราษฎร ในฐานะกลุ่มนักเรียนนอก นายทหาร ข้าราชการชั้นสูง ที่ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้ชาย”

แต่ที่น่าสนใจก็คือภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามตั้งแต่ปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยจำกัด “เพศ” ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลย ทั้งการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำให้ราชอาณาจักรสยามจึงเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ถัดจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในระดับประเทศ (แม้แท้จริงแล้วผู้หญิงไทยได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2440) ซึ่งถือได้ว่าในอดีตรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเรามีความทันสมัยในเรื่องของ “สิทธิ” ผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ไปมาก

แต่แม้ว่าในอดีตบ้านเราจะมีกฎหมายที่ให้สิทธิผู้หญิงได้เลือกตั้งก่อนประเทศที่เป็นเหมือนตัวแทนประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส หากมองดูในวันนี้กลับพบว่าสัดส่วนผู้หญิงในภาคการเมืองในประเทศไทยนั้นยังมีอยู่น้อยเหลือเกินในปัจจุบัน น้อยจนน่าแปลกใจว่าทั้งที่ผู้หญิงในประเทศไทยได้สิทธิและมีส่วนร่วมทางการเมืองมานาน แต่บทบาทนั้นกลับแน่นิ่งอยู่ในฐานะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ค่อยขยับขยายมาสู่ระดับตัวแทนประชาชนหรือผู้นำทางการเมือง

“ผู้หญิง” ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมากแค่ไหน ประชาธิปไตยมาพร้อมความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง?

.

เมื่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไม่ได้มาพร้อมกับสิทธิทางการเมืองที่ “เท่าเทียม”

5 ประเทศที่เราเลือกหยิบมาดูพลวัตการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ไทย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ในบทความนี้เลือกสนใจ “ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของประชาธิปไตยทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก และเมื่อเกิดรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งแรก … “ผู้หญิง” ได้รับสิทธิเลือกตั้งกันตอนไหน? 

อันดับประเทศวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเหตุการณ์ปีที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกปีที่ผู้หญิงได้รับสิทธิเลือกตั้ง
1สหรัฐอเมริกา4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776สงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)ค.ศ. 1788-1789ค.ศ.​1920
2ฝรั่งเศส14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)ค.ศ. 1791ค.ศ. 1944
3ญี่ปุ่น3 มกราคม ค.ศ. 1868การปฏิวัติเมจิ (Meiji Revolution)ค.ศ. 1890ค.ศ. 1947
4ไทย24 มิถุนายน ค.ศ. 1932การปฏิวัติสยาม 2475 (Siamese Revolution of 1932)ค.ศ. 1933ค.ศ.​ 1932
5เกาหลีใต้15 สิงหาคม ค.ศ. 1948การประกาศตั้งสาธารณรัฐเกาหลีค.ศ. 1948ค.ศ. 1948

แม้ว่าอเมริกาและฝรั่งเศสจะได้รับประชาธิปไตยก่อนใครเพื่อน แต่ถึงอย่างนั้นความครอบคลุมของสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะ “การเลือกตั้ง” ยังถูกจำกัดอยู่เพียงแค่คนไม่กี่กลุ่ม และแน่นอนว่าคนกลุ่มแรก ๆ ที่มีสิทธิได้เลือกตั้งก่อนใครนั้นคือ “ผู้ชาย” นอกจากนี้ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็เป็นรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน

อเมริกาพ้นจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1776 และมีการเลือกตั้งครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1788 – 1789 แต่เชื่อหรือไม่ว่า “ผู้หญิงในอเมริกา” ได้รับสิทธิเลือกตั้งหลังผ่านช่วงเวลานั้นไปอีกกว่า 144 ปี คือปี ค.ศ. 1920 การต่อสู้เพื่อสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีประสบความสำเร็จครั้งแรกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 19 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการยกเว้นสิทธิในการเลือกตั้งแก่ผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และผู้ที่ไม่สามารถจ่ายภาษีเลือกตั้งได้ จนกระทั่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 ในปี ค.ศ. 1965 ให้สิทธิทุกคนและทุกเพศได้เลือกตั้งอย่างเท่าเทียมผ่านกฎหมาย Voting Rights Act ปี ค.ศ. 1965

เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ใช้เวลามากถึง 155 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1789 กว่าที่ผู้หญิงจะได้รับ “สิทธิในการเลือกตั้ง” นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1791 จนถึงปี ค.ศ. 1848 สิทธิในการเลือกตั้งถูกจำกัดในวงแคบมาก มีเพียง “ผู้ชาย” ที่ “รวย” ซึ่งเป็นคนเพียง 25% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง ต่อมามีการขยับขยายสิทธิในปี ค.ศ. 1848 ให้ครอบคลุม “ผู้ชาย” ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป กว่าผู้หญิงในฝรั่งเศสจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งนั้นก็ต้องรอจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคือวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1944 ที่มีการประกาศให้สิทธิผู้หญิงในการเลือกตั้ง และผู้หญิงฝรั่งเศสได้ใช้เสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี ค.ศ. 1945 เป็นครั้งแรก

และนอกจากนี้ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ที่แม้จะเริ่มมีกลิ่นอายของพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงช่วงปฏิวัติเมจิ ในปี ค.ศ. 1868 และมีการเลือกตั้งสส.ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1890 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น สิทธิในการเลือกตั้งก็ได้ถูกจำกัดไว้กับ “ผู้ชาย” ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป พร้อมกับเกณฑ์ด้านทรัพย์สิน เช่นเดียวกันกับฝรั่งเศสและอเมริกา ทำให้ผู้หญิงในญี่ปุ่นไม่ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยได้รับสิทธิจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ของญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1947

ภาพรวมบทบาทการมีส่วนร่วมทางนิติบัญญัติของผู้หญิงในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่สามารถฟันธงทิศทางปัจจุบันได้เสมอไป หากเราลองดูสถิติ “สัดส่วนที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภา” ใน 23 ปี (ค.ศ. 2000 – 2023) ที่ผ่านมาของทั้ง 5 ประเทศดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประเทศต้นแบบการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยก่อนใครอย่างฝรั่งเศสและอเมริกา มีสัดส่วน “ผู้หญิง” ถือครองที่นั่งในรัฐสภาสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ 23 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้หญิงทางฝั่งเอเชียยังไม่เติบโตมากเท่าไหร่นัก

และหากเจาะดูข้อมูลจาก UN Women ในช่วงปี ค.ศ. 2023 เราจะสามารถเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของสัดส่วนที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภาในปี ค.ศ. 2023 ระหว่างประเทศฝั่งตะวันตกและประเทศในแถบเอเชียบ้านเรา 

ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าประเทศอย่างฝรั่งเศสและอเมริกาจะกีดกันผู้หญิงออกจากการเมืองในช่วงแรกภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เลือดของการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ได้ส่งผลมายังปัจจุบันที่ก่อให้เกิดภาพของความเท่าเทียมทางเพศในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในฝรั่งเศสภายหลังการเลือกตั้ง ค.ศ. 2017 จาก 26% สู่ 39%

กลับกัน ยังเป็นเรื่องน่าเสียดายของประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่แม้ว่าผู้หญิงไทยจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งมาอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันผู้หญิงยังคงมีบทบาทจำกัดในทางการเมือง หรือเมื่อขึ้นมาแล้วก็กลับโดนโจมตีเสียหายในหลายๆ ครั้ง

น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงปีที่พ้นผ่าน พัฒนาการของสังคมพาวัฒนธรรมของเราไปทางไหน อะไรคือต้นตอของความไม่เท่าเทียมนี้?

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในทางการเมืองภายในประเทศอย่างการ “รัฐประหาร” ไม่เป็นเพียงจุดแช่แข็งทางการเติบโตของประชาธิปไตย แต่ยังเป็นจุดแช่แข็งของการเติบโตของการตระหนักรู้ในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศนั้นๆ เห็นได้จากสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาของประเทศไทยในช่วง ค.ศ. 2014 – 2018 ที่ตกจาก 16% เหลือเพียงแค่ 6% ซึ่งคือช่วงรัฐประหารรัฐบาลอดีตนายกยิ่งลักษณ์ในปี พ.ศ. 2557 ก่อนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 ที่ถือเป็นจุดต่ำสุดในกราฟข้างต้น

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่ประชาธิปไตยกำลังเฟื่องฟู ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศควรจะเติบโตไปพร้อมกัน ทุกคนมีสิทธิและศักยภาพ ไม่ควรมีใครถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกกีดกันเพียงเพราะความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ฐานะ หรือความเชื่อ

อ้างอิง

Bowie, Katherine (undefined NaN). “Women’s Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge”. Comparative Studies in Society and History. 52 (4): 708–741

https://www.matichonweekly.com/culture/article_667414

https://www.matichon.co.th/politics/news_1460550

https://www.silpa-mag.com/history/article_106670

https://www.matichon.co.th/politics/news_1460550

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย_%3A_ญี่ปุ่น

https://www.unwomen.org/sites/default/files/2023-03/Women-in-politics-2023-en.pdf

สามารถ Download ข้อมูล Proportion of seats held by women in national parliaments (%) ได้ที่

https://data.worldbank.org/indicator/SG.GEN.PARL.ZS?end=2023&locations=TH-US-FR-KR-JP&start=2000&view=chart